วันที่ ๒๓ กันยายน ร.ศ. ๑๑๕
ด้วยจะจดหมายถึงเสนาบดีพรุ่งนี้ก็จะสิ้นกำหนดเสียแล้ว จึงจดหมายตรงถึงเธอ อยากจะถามว่า ได้อ่านหนังสือที่บรรจุ ในศิลาฤกษวัดมหาธาตุฤาไม่ ถ้าอ่านแล้วได้สังเกตฤาไม่ว่าเนื้อความว่าอย่างไร คำที่ว่าเรื่องก่อฤกษที่ลงในราชกิจจาว่า "สังฆิกเสนาสน์ราชวิทยาลัย" นั้นแปลว่ากระไร ใครบอกว่าเป็นกุฏิพระกุฏิเจ้ารู้มาจากไหน ถึงเธอกลับบวชใหม่ ก็ไม่ให้เข้าใจอย่างใหม่ว่า เดิมนั้นคิดว่าจะทำศาลาบอกหนังสือพระ ให้คู่กันกับศาลาบอกหนังสือที่วัดบวรนิเวศน์ที่ให้ชื่อว่า มหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นส่วนธรรมยุติกา ที่นี่จะสร้างขึ้นสำหรับส่วนมหานิกาย จะให้ชื่อว่า มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย แต่เวลานี้จะไม่มีใครเรียกด้วยยาวเกินไป ฤาเกรงใจ ก็ให้เรียกสั้นๆ ราชวิทยาลัย ข้อซึ่งจะเข้าใจว่าสร้างขึ้น เพราะเหตุชายใหญ่ตาย จะให้เป็นเกียรติยศ ฤาจะอุทิศส่วนกุศลให้ ฤาจะเป็นที่รฤกนั้นไม่ถูก ฤาไม่จริงอะไรสักอย่างเดียว ด้วยฉันคิดก่อนที่จะตายและคิดจะทำสำหรับตั้งศพฝังศพตัวเอง ก็ถ้าไปอุทิศให้เป็นเกียรติชายใหญ่เสียแล้ว จะไปตั้งชื่อฉันได้อย่างไร จะมิต้องไปอาศัยตั้งศพที่เมรุชายใหญ่ฤา การที่เธอไม่เข้าใจได้นิดเดียว เพราะหนังสือนี้ ไม่ได้เขียนด้วยใบลาน และไม่ได้เป็นภาษามคธ เพราะฉันแต่งไม่เป็นจริงๆ ขอให้ไปวานกรมสมมตแปลเป็นภาษามคธออก ให้ได้เข้าใจแจ่มแจ้ง
อย่างไรก็ดี แม้ว่ารัชกาลที่ ๕ จะทรงเปลี่ยนนาม "มหาธาตุวิทยาลัย" เป็น "มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย" ใน พ.ศ. ๒๔๓๙ แล้ว แต่ในร่างพระราชบัญญัติมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ร.ศ. ๑๑๑ ใน "ฎีกา ๑ ชื่อว่า พระราชบัญญัติเป็นประเพณี สำหรับมหาธาตุวิทยาลัย" ซึ่งอยู่ในมาตรา ๑ ยังคงใช้ชื่อเดิม ดังนี้
"มาตรา ๑ มหาธาตุวิทยาลัยนี้ให้ตั้งขึ้นโดยราชูปถัมภกบำรุงพระบรมพุทธศาสนา เป็นที่สั่งสอนพระบาลีคัมภีร์พระไตรปิฎก พุทธพจนภาษิต แก่ภิกษุสามเณรฝ่ายคณะมหานิกาย และคฤหัสถ์ ตามแต่ความมีศรัทธาจะศึกษาสืบเสาะข้อวัตรปฏิบัติพุทธภาษิต ให้เป็นคณาจารย์สืบไป"
ในร่าง พระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ได้กล่าวถึง คุณสมบัติของผู้ที่จะเข้าเรียนไว้ในมาตรา ๒๑-๒๓ ดังนี้
"มาตรา ๒๑ นักเรียนผู้จะเข้าเรียนในวิทยาลัยนี้ ต้องมีอายุตั้งแต่ ๑๕ ปีขึ้นไป จนไม่เกินกว่า ๒๕ ปี มีความรู้ได้สอบไล่มูล หรือบาลีไวยากรณ์เป็นประโยคชนบทได้แล้ว จึงเข้าเรียนได้ตามลำดับขั้น หลักสูตรที่ ๑ ไม่ต่ำกว่า ๕ ปี แต่ถ้านักเรียนที่จะเข้าเรียนนั้นได้ศึกษามาแต่ก่อนแล้ว ให้สอบไล่ความรู้ดู ถ้ารู้เพียงหลักสูตรใด ก็ให้เข้าเรียนในหลักสูตรนั้น เรียนต่อไปจนครบหลักสูตรที่ ๕ ถ้าเป็นนักเรียนในกำหนดอัตราจะได้รับความอุดหนุนบำรุงเป็นนักเรียนหลวงในอัตรา จนครบหลักสูตร ถ้าสอบไล่ได้รับตำแหน่งขั้นตามมาตรา ๕ จัดว่าเป็นนักเรียนผู้รู้พระไตรปิฎกพอสมควร"
ผู้ที่เข้าเรียนจะมีสิทธิพิเศษ คือ แม้จะมี "มูลนาย" อยู่ แต่ในระหว่างที่เรียน เจ้ามูลนายจะเอาไปใช้งานไม่ได้ ดังปรากฏในมาตรา ๒๒ ดังนี้
"มาตรา ๒๒ ผู้ที่สมควรเข้าเป็นนักเรียนในวิทยาลัยนั้น เมื่อได้จดทะเบียนแล้ว ในเวลาที่เรียนอยู่ ถ้าแม้นเป็นหมู่ไพร่หลวงไพร่สม ก็ห้ามไม่ให้เจ้าหมู่มูลนายมาติดตามเอาไปใช้การงานในเวลาที่เรียนอยู่เป็นอันขาด เว้นไว้แต่นักเรียนนั้น ครูอาจารย์เห็นว่า มีปัญญาไม่สามารถจะเรียนไปได้ ให้ออกเสีย หรือนักเรียนผู้ที่รับเข้าเรียนลาออกเสียโดยไม่สมัครใจในท่ามกลางศึกษา จึงให้ส่งนักเรียนเหล่านี้ไปตามหมู่ เป็นขาดความปกครองของวิทยาลัยนี้"
แม้รัชกาลที่ ๕ จะมีพระราชดำริที่จะให้ทางคณะสงฆ์จัดการศึกษาในรูปแบบ "มหาวิทยาลัย" ก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถสนองพระราชดำรินี้ให้เป็นรูปธรรมได้ ทั้งนี้ คงเป็นเพราะทางคณะสงฆ์ไม่มีพระเถรานุเถระ ที่มีความรู้ความสามารถที่จะดำเนินการจัดการศึกษาในรูปแบบของมหาวิทยาลัย ดังนั้น เมื่อได้เสด็จประพาสยุโรปใน พ.ศ. ๒๔๔๐ และเสด็จนิวัตสู่ประเทศไทยแล้ว ทรงมอบหมายให้พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ (ม.ร.ว.เปีย มาลากุล) ซึ่งต่อมา ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี ยกร่างโครงการศึกษา ร.ศ. ๑๑๗ (พ.ศ. ๒๔๔๑) นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย โดยแบ่งเป็น ๒ ภาค คือ "ภาค ๑ ว่าด้วยการศึกษาในกรุงเทพฯ" และ "ภาค ๒ ว่าด้วยการศึกษาในหัวเมือง" โดยเฉพาะภาค ๑ แบ่งออกเป็น ๑๐ หมวด ใน "หมวด ๑" กล่าวถึงการจัดโรงเรียนตามลำดับชั้น รวม ๖ ชั้น คือ
๑. โรงเรียนมูลและประถมศึกษาเบื้องแรกและเบื้องต้น
๒. โรงเรียนมัธยมศึกษาไทยเบื้องกลาง
๓. โรงเรียนอังกฤษไทยเบื้องต้น
๔. โรงเรียนอังกฤษไทยเบื้องกลาง
๕. วิทยาลัย หรือสากลวิทยาลัย หรือสถานที่เรียนชั้นสูงสุด
๖. โรงเรียน หรือวิทยาลัยพิเศษ
โรงเรียนลำดับชั้น ๕ คือ "สากลวิทยาลัย" นั้น ผู้เข้าเรียนต้องมีอายุตั้งแต่ ๑๘-๒๒ ปี ส่วนลำดับชั้น ๖ คือ "โรงเรียน หรือวิทยาลัยพิเศษ" ซึ่งจัดเป็นการศึกษาพิเศษนั้นไม่ได้มีการกำหนดอายุไว้ โดยเฉพาะ "สากลวิทยาลัย" รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ รับโครงการฯ ไว้ดังนี้
"สากลวิทยาลัย" ในกรุงเทพฯ
เมื่อโรงเรียนมูลและประถมศึกษาเบื้องแรกและเบื้องต้น รวมทั้งโรงเรียนมัธยมศึกษาไทยเบื้องกลางได้จัดตั้งขึ้นสำเร็จ ตามแบบแผนแล้ว ก็เป็นแนวทางที่จะจัดตั้งสากลวิทยาลัยขึ้นในกรุงเทพฯ เพื่อสนับสนุนการศึกษาขั้นสูงสุด และเป็นการส่งเสริม วิทยฐานะอธิการต่างๆ ด้านศิลปศาสตร์ วิทยาศาสตร์ แพทย์ ฯลฯ แต่สากลวิทยาลัยยังจัดตั้งไม่ได้ จนกว่าโรงเรียนฝึกสอนความรู้ วิชาชั้นต่ำและชั้นกลางจะจัดตั้งมั่นคงแล้ว
ต่อมารัชกาลที่ ๕ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้ โครงการศึกษา ร.ศ. ๑๑๗ (พ.ศ. ๒๔๔๑) หมายเหตุท้ายโครงการนี้ กล่าวถึงมหาธาตุวิทยาลัย ไว้ว่า
"ได้หวังใจไว้ว่า ในปีสุวรรณาภิเษก* ถ้าจะเป็นไปได้ จะได้รวมมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นส่วนสำหรับวินัยและศาสตร์ มหาธาตุวิทยาลัยสำหรับกฎหมาย โรงเรียนแพทยากรเป็นวิทยาลัยสำหรับแพทย์ และตั้งโรงเรียนเป็นวิทยาลัยสำหรับวิทยา และหอสากลวิทยาลัยขึ้นแห่งหนึ่ง โดยรวมวิทยาลัยต่างๆ เหล่านี้เข้าเป็น รัตนโกสินทรสากลวิทยาลัย"
ในรัชกาลที่ ๕ ยังไม่ได้มีการบัญญัติคำว่า University เป็นภาษาไทย พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ (ม.ร.ว.เปีย มาลากุล) จึงใช้คำว่า "สากลวิทยาลัย" ซึ่งนับว่ามีความหมายตรงกว่าคำว่า "มหาวิทยาลัย" ที่รัชกาลที่ ๖ ทรงใช้ในการตั้ง "จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" เพราะคำว่า University มาจากคำว่า Universe ซึ่งได้บัญญัติว่า เอกภพ หรือ จักรวาล ส่วนคำว่า Universal ปกติก็แปลว่า "สากล"
ในร่าง โครงการศึกษา ร.ศ. ๑๑๗ (พ.ศ. ๒๔๔๑) กำหนดให้ มหามกุฏราชวิทยาลัยเป็นวิทยาลัยสำหรับ "วินัยและศาสตร์" คำว่า "วินัย" หมายถึง กฎหมายของพระ ส่วนคำว่า "ศาสตร์" อาจหมายถึง ศิลปศาสตร์ หรือ อักษรศาสตร์ หรือ วิทยาศาสตร์ สำหรับ มหาธาตุวิทยาลัย หรือต่อมาคือ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ให้เป็น "วิทยาลัยกฎหมาย" ซึ่งหมายถึง กฎหมายทางโลกอันได้แก่ นิติศาสตร์ นั่นเอง และเมื่อรวมโรงเรียนแพทยากร โรงเรียนหรือวิทยาลัยต่างๆ เข้าด้วยกัน จัดตั้งขึ้นเป็น "สากลวิทยาลัย" โดยใช้ชื่อรวมว่า "รัตนโกสินทรสากลวิทยาลัย" หรือหากเทียบกับปัจจุบันจะใช้ชื่อว่า มหาวิทยาลัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งทั้งมหามกุฏราชวิทยาลัยและมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยจะกลายเป็นวิทยาเขตของ "รัตนโกสินทรสากลวิทยาลัย"
อย่างไรก็ตาม เมื่อรัชกาลที่ ๕ เสด็จสวรรคตใน พ.ศ. ๒๔๕๓ ก่อนจะถึงปี "สุวรรณาภิเษก" และรัชกาลที่ ๖ ทรงตั้ง "จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" ขึ้น คำว่า "สากลวิทยาลัย" จึงได้ยกเลิกไป และในปีเดียวกันนั้น การก่อสร้าง "สังฆิกเสนาสน์ราชวิทยาลัย" ก็ยังไม่แล้วเสร็จ รัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินการก่อสร้างต่อให้เสร็จสมบูรณ์ และให้เป็นที่ตั้ง หอพระสมุดสำหรับพระนคร ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๙ เป็นต้นมา
* คือปีที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงครองราชย์ครบ ๕๐ ปี คือ พ.ศ. ๒๔๖๑ แต่พระองค์เสด็จสวรรคต เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓ ทรงครองราชย์อยู่เพียง ๔๒ ปี -- จำนงค์ ทองประเสริฐ