การกำเนิด "มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย"
การจัดตั้งมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเพื่อสนองการศึกษาของคณะสงฆ์ไทยฝ่ายมหานิกายได้เป็นผลสำเร็จนั้น บุคคลที่มีบทบาทสำคัญก็คือ พระพิมลธรรม (ช้อย ฐานทตฺตเถร) อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุฯ องค์ที่ ๑๕ โดยท่านเป็นผู้ริเริ่มให้
มีการจัดประชุมพระเถรานุเถระแห่งคณะสงฆ์ไทยฝ่ายมหานิกาย จำนวน ๓๗ รูป ณ ตำหนักสมเด็จพระสังฆราช วัดมหาธาตุฯ ในคืนวันที่ ๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๐ พระพิมลธรรมได้กล่าวประกาศเปิดมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยมีใจความว่า
"ข้าพเจ้าขอประกาศเปิดมหาวิทยาลัยแห่งคณะสงฆ์ไทย ตามประกาศกระแสพระบรมราชโองการ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว องค์เอกอัครศาสนูปถัมภก ด้วยมีพระราชประสงค์จะบำรุงพระศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองเป็นหลักชัยของประเทศชาติ ได้พระราชทานนามไว้ว่า "มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย" อันเป็นพระบรมนามาภิไธยของพระองค์ ทั้งยังได้สละพระราชทรัพย์กับสร้างตัวตึก ของมหาวิทยาลัยขึ้นในบริเวณวัดมหาธาตุนี้หนึ่งหลัง แต่ยังมิทันสำเร็จ พระองค์ก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน การก่อตั้งมหาวิทยาลัย จึงต้องหยุดชะงักไป บัดนี้ข้าพเจ้าขอถือโอกาสอันเป็นอุดมมงคลฤกษ์ ประกาศเปิดมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัย ของคณะสงฆ์ไทย ตามพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมบพิตรพระราชสมภารพระองค์นั้น ณ กาลบัดนี้ ข้าพเจ้า ขออุทิศทุกสิ่งทุกอย่าง แม้กระทั่งชีวิตและเลือดเนื้อของข้าพเจ้า เพื่อก่อตั้งและส่งเสริมความเจริญของมหาวิทยาลัยนี้ จนกว่าจะดำเนินไปสู่ความสำเร็จ สมความมุ่งหมายจนกว่าชีวิตของข้าพเจ้าจะสิ้นไป"
พระพิมลธรรม (ช้อย ฐานทตฺตเถร)
ในการร่างระเบียบและหลักสูตรของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยนั้น ผู้ที่เป็นกำลังสำคัญในฝ่ายคฤหัสถ์ก็คือ นายสุกิจ นิมมานเหมินท์ และหลวงวิจิตรวาทการ สำหรับพระมหาเถระที่ได้รับเลือกเป็นผู้บริหารของมหาวิทยาลัยระดับสูง ได้แก่ พระพิมลธรรม (ช้อย ฐานทตฺตเถร) เป็นองค์ปฐมสภานายก และพระเทพเวที (ฟื้น ชุตินฺธโร ป.ธ.๙) วัดสามพระยา (ต่อมาได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ถึงแก่มรณภาพแล้ว) เป็นอธิการบดี พระวิเชียรโมลี (วิเชียร วิธุโร ป.ธ.๙) เป็นเลขาธิการ หลังจากนั้นได้ส่งประกาศไปยังสำนักเรียนต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เพื่อรับสมัครภิกษุสามเณร ที่เป็นเปรียญนักธรรมเอกเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ในระยะแรก แบ่งเป็น ๓ ชั้น คือ ชั้นต้น สำหรับผู้ที่มีพื้นความรู้ ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ชั้นกลาง สำหรับผู้ที่มีพื้นความรู้ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ชั้นสูง สำหรับผู้ที่มีพื้นความรู้ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ เปิดเรียนเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ ดังนั้น ทางมหาวิทยาลัยจึงถือเอาวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ของทุกปีเป็น "วันบุรพาจารย์" ของมหาวิทยาลัย
ต่อมาในวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๐ พระพิมลธรรม องค์ปฐมสภานายก ถึงแก่มรณภาพ ทางวัดมหาธาตุฯ จึงได้อาราธนา พระธรรมไตรโลกาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร) เจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มาเป็นเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุฯ และเป็นองค์ทุติยสภานายก (ต่อมาได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ ถึงแก่มรณภาพแล้ว)