การก่อตั้ง "มหามกุฏราชวิทยาลัย"
ในคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงก่อตั้ง "มหามกุฏราชวิทยาลัย" ขึ้นที่วัดบวรนิเวศวิหาร โดยรัชกาลที่ ๕ ได้เสด็จฯ มาทรงเปิดเป็นปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖) ซึ่งตรงกับวันเสด็จสวรรคตของรัชกาลที่ ๔ (วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๑)
การที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงก่อตั้งมหามกุฏราชวิทยาลัยปรากฏเหตุผลอยู่ใน รายงานประจำปีของมหามกุฏราชวิทยาลัย ว่า
มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม
"พระเถรานุเถระทั้งหลายมีความประสงค์ในการจัดตั้งวิทยาลัย เป็นที่ฝึกสอนพระปริยัติธรรมแลอักขรสมัยของภิกษุสามเณร แลศิษย์วัดนั้น ด้วยเห็นว่า ธรรมเนียมในประเทศนี้ วัดทั้งหลายเป็นโรงเรียน ที่ศึกษาวิชาความรู้ของราษฎรพลเมือง ตั้งต้นแต่เรียนอักขระ ฝึกกิริยามารยาทตลอดจนถึงเรียนพระปริยัติธรรม บรรดาราษฎรมีบุตรหลานก็นำเข้ามาฝากเป็นศิษย์วัด ให้เรียนวิชาความรู้ จนถึงเติบใหญ่อุปสมบทเป็นภิกษุ บางพวกก็ได้อยู่จนเป็นคณาจารย์ปกครองกันต่อๆ ไป บางพวกก็อยู่สมควรแก่ศรัทธาแล้ว ก็ลาสิกขาสึกไปประกอบการหาเลี้ยงชีพของตน ในทางฆราวาส มีธรรมเนียมเป็นพื้นเมืองมาดังนี้
วิธีการปกครองของวัดนั้น ไม่ได้จัดเป็นชั้นตามสถานที่ ว่าสถานที่นั้นสอนชั้นสูง สถานที่นั้นสอนชั้นต่ำ ดูท่วงทีเหมือนในวัดหนึ่งจะมีทั้งชั้นสูงชั้นต่ำ คือ ราษฎรนำบุตรหลานเข้ามาฝากภิกษุสามเณร ให้เรียนอักขระแลฝึกกิริยามารยาท เป็นต้น การฝึกสอนชั้นนี้จัดว่าเป็นชั้นต่ำ การฝึกสอนภิกษุสามเณร ให้เล่าเรียนมคธภาษาก็ดี ให้เล่าเรียนพระปริยัติธรรมก็ดี การศึกษาชั้นนี้จัดว่า เป็นชั้นสูง แต่การหาดำเนินไป โดยเรียบร้อยดังวิธีที่จัดไม่ เพราะข้อขัดขวางดังต่อไปนี้
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ราษฎรผู้จะนำบุตรหลานมาฝากต่อภิกษุสามเณรในวัดนั้นๆ ก็ฝากในสำนักที่ตนรู้จักคุ้นเคย ภิกษุสามเณรผู้เป็นอาจารย์นั้น บางรูปก็มีความรู้มาก บางรูปก็มีความรู้น้อย ทั้งไม่มีหลักสูตรแห่งการเล่าเรียนว่าถึงไหนจัดเป็นใช้ได้ ความรู้ของศิษย์จึงไม่เสมอกัน ตั้งแต่กรมศึกษาธิการจัดหลักสูตรสำหรับสอนความรู้ขึ้นแล้ว การเล่าเรียนจึงมีกำหนด แต่เพราะความรู้ของภิกษุสามเณรผู้เป็นอาจารย์ไม่เสมอกัน ทั้งความนิยมของเด็กผู้เล่าเรียนก็ดี ของผู้ใหญ่ของเด็กก็ดี เป็นแต่เพียงอ่านได้เขียนได้เท่านั้นก็พอประสงค์ ความรู้ของนักเรียนที่ออกจากวัดจึงยังจัดว่าถึงกำหนดแท้ไม่ได้
ส่วนการเล่าเรียนมคธภาษานั้นแต่เดิมไม่บังคับ แล้วแต่ใครสมัครจะเรียน ในทุกวันนี้ ความนิยมในการเล่าเรียนมคธภาษาน้อยลง ด้วยผู้ที่มาบวชเป็นภิกษุสามเณร จะหาผู้ที่มีศรัทธาแท้เป็นอันยาก ทั้งพื้นเดิมก็เป็นคนขัดสน ต้องการแต่ความรู้ที่จะให้ผล เป็นเครื่องเลี้ยงชีพได้โดยประจักษ์ตา ไม่ต้องการความรู้ที่เป็นอาภรณ์ของบุรุษ หรือความรู้ที่เป็นเครื่องเจริญผล โดยเพิ่มสติปัญญาสามารถ แลวิธีฝึกสอนเด็ก ก็เป็นการเนิ่นช้า หากจะมีผู้อุตสาหะเรียนบ้าง จะหาอาจารย์ผู้บอกให้รู้จริงเห็นจริง ก็ได้ยาก ทั้งผู้เรียนจะหาชำนาญในภาษาของตนมาก่อนก็ได้โดยยาก หลักสูตรก็มากชั้น แลการสอบความรู้ก็ห่าง ต่อล่วงหลายปี จึงสอบครั้งหนึ่ง ด้วยอาศัยเหตุเหล่านี้ จึงมีอาจารย์สอนให้รู้จริงเห็นจริงได้น้อยตัว ผู้สมัครเรียนก็น้อยตัว เรียนไม่ทันรู้ ละทิ้งไปเสีย ก็มี บางทีเรียนรู้พอจะสอบความรู้ได้ อยู่ไม่ถึงกาลสอบก็มี เข้าสอบจนเป็นบาเรียนแล้วก็มี แต่จะหาผู้สอบได้จนจบหลักสูตรได้น้อย ถึงนับตัวถ้วน เพราะหลักสูตรที่ตั้งไว้มากเกิน เมื่อความเล่าเรียนเสื่อมทรามไป ผู้เป็นบาเรียนเพียง ๔ ประโยค ๕ ประโยค ก็กว้างขวางมีผู้นับหน้าถือตาแสวงหาลาภผลเลี้ยงตัว พอตั้งตัวได้แล้ว ก็ไม่คิดที่จะเป็นนักเรียนต่อไป บางรูปก็รับตำแหน่งพระราชาคณะปกครองหมู่คณะเสีย ในระหว่างยังไม่ทันได้แปลจบหลักสูตร อาศัยเหตุนี้ การเรียนมคธภาษา จึงไม่เจริญทันเวลาที่เป็นอยู่บัดนี้
ส่วนการเรียนพระปริยัติธรรมนั้นเป็น ๒ ชั้น คือ ชั้นต่ำ ๑ ชั้นสูง ๑ การให้โอวาทสั่งสอน แลให้ศึกษาในตำรับภาษาไทยจัดเป็นชั้นต่ำ สำหรับภิกษุสามเณรบวชใหม่ ตลอดไปจนถึงผู้ไม่ได้เรียนมคธภาษา การอ่านการทรงภาษาบาลีไตรปิฎกจัดเป็นชั้นสูง สำหรับผู้รู้ภาษามคธ การฝึกสอนชั้นต่ำไม่เจริญได้ เพราะผู้ที่เข้ามาบวช ไม่ชำนาญ ในภาษาของตนทั่วทุกคน ฟังคำสอนก็จำไม่ได้ อ่านหนังสือก็ไม่ค่อยเข้าใจ แลการฝึกสอนชั้นสูงไม่เจริญได้ โดยเหตุที่หลักสูตรสำหรับมคธภาษาเป็นอย่างหนึ่ง พระปริยัติธรรมที่จำเป็นจะต้องรู้เป็นอย่างหนึ่ง ผู้เล่าเรียนเรียนมคธภาษาสอบความรู้ได้ แล้วยังต้องวกมาดูบาลีไตรปิฎกอีก เป็นสองซ้ำอยู่ จะหาผู้สมัครเล่าเรียนแต่ภาษามคธ ก็ได้โดยยากแล้ว จะหาผู้รู้ภาษามคธแล้วศึกษาพระปริยัติธรรมต่อไป ก็ต้องได้โดยยาก เป็นธรรมดา
พระภิกษุและฆราวาส ซึ่งศึกษาที่มหามกุฎราชวิทยาลัย กำลังเดินแถว เพื่อเข้าเรียน
ถ้าคิดจะบำรุงวิทยาความรู้ให้สมควรกับประเพณีที่เป็นมาแต่เดิม แลให้เจริญทันเวลา จำเป็นที่จะต้องคิดจัดการแก้ไข ตามสมควรแก่เวลา
ในการศึกษาของศิษย์วัด จะต้องจัดให้เด็กมีที่เรียนได้ตลอดหลักสูตรของกรมศึกษาธิการทั่วทุกคน แลจะต้องฝึกฝน ให้ประพฤติกิริยามารยาทให้เรียบร้อย
พิธีถวายทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย
การเรียนมคธภาษาจะต้องจัดหลักสูตรให้น้อยชั้นลง แต่ย่อความรู้ให้จุลงในชั้นนั้นๆ ให้เป็นคลองเดียวกัน กับการเรียนพระปริยัติธรรมชั้นสูงด้วย ต้องบังคับบรรดาภิกษุสามเณรที่มีอายุควรแก่การเล่าเรียน ให้เล่าเรียนทั่วทุกรูป คิดแก้ไขวิธีสอนให้เรียนง่ายขึ้นให้รู้ได้จริง ให้จบหลักสูตรได้ก่อนที่นักเรียนจะเป็นคนกว้างขวางจนตั้งตัวได้ จะต้องจัดการสอบความรู้ทุกปี เปลี่ยนแปลงวิธีสอบให้เป็นไปโดยสะดวก มีใช้เขียนแทนแปลด้วยปาก เป็นต้น
การฝึกสอนพระปริยัติธรรมทั้ง ๒ ชั้น เมื่อการฝึกสอนภาษาไทยแลมคธภาษาเจริญแล้ว ก็คงเจริญตามกัน เมื่อสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าทรงพระราชศรัทธา โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งมหามกุฏราชวิทยาลัยขึ้นไว้เป็นที่เล่าเรียน ของพระสงฆ์ในคณะธรรมยุติกนิกาย พระเถรานุเถระทั้งหลายได้ช่องอันดี จึงได้จัดการเปลี่ยนแปลงวิธีการเล่าเรียนในคณะ ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ร.ศ. ๑๑๒ จนบัดนี้"
โรงเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร
เขตพระนคร กรุงเทพฯ
๑) ความมุ่งหมายของการก่อตั้งมหามกุฏราชวิทยาลัย
ใน รายงานประจำปีของมหามกุฏราชวิทยาลัย จะเห็นว่า ความมุ่งหมายในการตั้งขึ้นนั้น ก็เพื่อพัฒนาการศึกษา ของพระภิกษุสามเณร ตลอดจนถึงศิษย์วัด ซึ่งก็คือ เยาวชนของชาติ ให้ได้ผลดีและทันสมัย โดยจัดให้เยาวชนได้มีโอกาส เรียนจนจบหลักสูตรทั่วทุกคน
ในด้านการศึกษาของภิกษุสามเณร จะจัดหลักสูตรแนวใหม่ คือ ให้มีชั้นเรียนน้อยลง ใช้เวลาเรียนน้อยลง และเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น แต่ได้ความรู้จริงเพียงพอแก่การใช้ประโยชน์ กล่าวสั้นๆ ก็คือ ให้สามารถเรียนจบหลักสูตรได้ในเวลาอันสั้น และจะบังคับภิกษุสามเณร ที่อยู่ในวัยเรียนให้เล่าเรียนทุกรูป มีการสอบทุกปี และเปลี่ยนแปลงวิธีการสอบ ให้สะดวกขึ้น
ฉะนั้น การจัดการศึกษาของมหามกุฏราชวิทยาลัยจึงจัดเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนที่เป็นสถานที่เล่าเรียนพระปริยัติธรรมชั้นสูง ของภิกษุสามเณร ส่วนนี้ตั้งอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งเป็นสาขาที่ ๑ ของวิทยาลัย ในระยะแรกตั้งอยู่ที่ตำหนักทรงพรต พร้อมทั้งตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมตามพระอารามที่เป็นสาขาของวิทยาลัย ในระยะแรกมีโรงเรียนสาขาของวิทยาลัย ที่เปิดพร้อมกันและสอนหลักสูตรเดียวกันอยู่ ๕ แห่ง คือ
๑. โรงเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ
๒. โรงเรียนวัดมกุฏกษัตริยาราม กรุงเทพฯ
๓. โรงเรียนวัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพฯ
๔. โรงเรียนวัดพิชยญาติการาม กรุงเทพฯ
๕. โรงเรียนวัดนิเวศธรรมประวัติ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
อีกส่วนหนึ่งก็คือ โรงเรียนสำหรับสอนเด็ก ที่เรียกว่า โรงเรียนภาษาไทย ได้ตั้งขึ้นในโรงเรียนสาขาของวิทยาลัยนั้นๆ ส่วนสำนักงานของวิทยาลัย ระยะแรกตั้งที่พระตำหนักล่าง อันเป็นที่ประทับของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
โรงเรียนวัดมกุฏกษัตริยาราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ
๒) วัตถุประสงค์ของการตั้งมหามกุฏราชวิทยาลัย
ในการจัดตั้งมหามกุฏราชวิทยาลัยขึ้นนั้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ทรงวางวัตถุประสงค์ไว้ ๓ ประการ คือ
๑. เป็นสถานที่ศึกษาพระปริยัติธรรมของพระสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย
๒. เป็นสถานที่ศึกษาวิทยาการอันเป็นของชาติภูมิและต่างประเทศแห่งกุลบุตร
๓. เป็นสถานที่ศึกษาเผยแผ่พระพุทธศาสนา
โดยทรงอธิบายขยายความวัตถุประสงค์ทั้ง ๓ ประการไว้ ดังนี้
๑. การเล่าเรียนของภิกษุสามเณรนั้น ประเพณีเดิมเคยเรียนมูลปกรณ์ก่อน แล้วจึงเรียนอรรถกถาธรรมบท มังคลัตถทีปนี สารัตถสังคห เป็นต้น ถึงกำหนด ๓ ปี มีการสอบปริยัติธรรมครั้งหนึ่ง บางคราวถ้าขัดข้องก็เลื่อนออกไปถึง ๖ ปี ครั้งหนึ่ง หนังสือสำหรับสอบนั้นมี ๒ อย่าง สำหรับฝ่ายไทยอย่าง ๑ สำหรับฝ่ายไทยนั้นจัดเป็น ๙ ชั้น อรรถกถาธรรมบทแบ่งเป็น ๓ ชั้น คือ ชั้นที่ ๑ ชั้นที่ ๒ ชั้นที่ ๓ มังคลัตถทีปนีขั้นต้นชั้นที่ ๔ สารัตถสังคหชั้นที่ ๕ มังคลัตถทีปนีขั้นปลายชั้นที่ ๖ ปฐมสมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัยชั้นที่ ๗ วิสุทธิมรรคชั้นที่ ๘ สารัตถทีปนี ฎีกาพระวินัยชั้นที่ ๙ ภิกษุสามเณรผู้จะสอบความรู้จบประโยคแล้ว รับหนังสือตามประโยคมาดูเสร็จแล้ว เข้าไปแปลในที่ประชุมพระราชาคณะด้วยปาก ตามเวลาที่กำหนดให้ ถ้าแปลได้ตลอดประโยคในเวลาที่กำหนดไว้นั้น จัดเป็นได้ ถ้าครบกำหนดเวลาแล้ว ยังไม่แปลตลอดประโยค จัดเป็นตก ผู้ที่สอบได้ตั้งแต่ชั้นที่ ๓ ขึ้นไปจึงนับว่าเป็นเปรียญ แม้สอบชั้นที่ ๒ ได้แล้ว ถ้าตกชั้นที่ ๓ ก็นับว่าตก ถึงคราวหน้าจะเข้าแปลใหม่ ต้องแปลตั้งชั้นที่ ๑ ขึ้นไปอีก ฝ่ายรามัญนั้นจัดเป็น ๔ ชั้น บาลีมหาวิภังค์ คือ อาทิกัณฑ์ หรือปาจิตตีย์ อย่างใดอย่างหนึ่งตามแต่จะเลือก เป็นชั้นที่ ๒ บาลีมุตตกวินัยวินิจฉัยเป็นชั้นที่ ๓ ปฐมสมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัย เป็นชั้นที่ ๔ แปลเป็นภาษารามัญ แต่ต้องบอกสัมพันธ์ด้วย ถ้าแปลได้ถึงชั้นที่สุด หรือยังไม่ได้รับตำแหน่งยศเป็นพระราชาคณะ แม้ถึงจะมีพรรษายุกาลมากก็ยังนับว่า มีหน้าที่จะต้องแปลชั้นสูงขึ้นไปอีก ต่อเมื่อใดแปลถึงชั้นที่สุดแล้วก็ดี ได้รับตำแหน่งยศเป็นพระราชาคณะในระหว่างนั้นก็ดี จึงนับว่าสิ้นเขตที่แปลหนังสืออีก
โรงเรียนวัดเทพศิรินทราวาส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ
ภิกษุสามเณรผู้เริ่มเรียน กว่าจะเรียนมูลปกรณ์ก็ช้านาน มักเป็นที่ระอาเบื่อหน่ายแล้วละทิ้งเสีย แม้ถึงเรียนตลอดบ้าง ก็ไม่เข้าใจตลอดไปได้ เพราะธรรมดาคนเรียนใหม่ไม่อาจเข้าใจฉบับเรียนที่พิสดารให้ตลอดไปได้ จะกำหนดจำได้ก็แต่เพียงพอ แก่สติปัญญาเหมือนเด็กน้อยที่ผู้ใหญ่ป้อนอาหารคำโตกว่าปากขึ้นไป ก็รับบริโภคได้พอประมาณปากของตนฉะนั้น ท่านผู้ชำนาญในวิธีสอนบางท่านจึงได้คิดแต่วิธีสอนผู้เริ่มเรียนใหม่ เรียกชื่อว่าบทมาลา ย่อบ้าง พิสดารบ้าง ตามความประสงค์ ของท่าน สำหรับสอนแทนมูลปกรณ์ เพื่อจะให้เวลาเรียนเร็วขึ้น ส่วนการเรียนนั้น สถานที่หนึ่งก็มีครูคนหนึ่ง สอนนักเรียนทุกชั้น ไม่ได้ปันเป็นแผนก จึงหาครูที่มีความรู้พอจะสอนได้ตลอดเป็นอันยาก ทั้งเป็นที่ลำบากของครูผู้สอนจะสอนนั้นด้วย ส่วนกำหนดเวลาสอบความรู้ ๓ ปีครั้งหนึ่ง หรือ ๖ ปีครั้งหนึ่ง นั้นเป็นการนาน ผู้ที่เรียนมีความรู้พอจะสอบได้ แต่ยังไม่ถึงสมัยที่จะสอบ หรือผู้ที่สอบตกแล้วมักสิ้นความหวังที่จะรอคอยคราวสอบครั้งหน้า แลนักเรียนคนหนึ่งสอบคราวหนึ่ง ก็ได้ไม่กี่ชั้นนัก จึงไม่ใคร่จะมีเปรียญประโยคสูง จะหาครูที่สอนหนังสือชั้นสูงๆ ได้ ก็ยากเข้าทุกที ถึงจะมีผู้สอบชั้นสูงได้บ้าง ก็คงต้องรับตำแหน่งยศพระราชาคณะเสียในระหว่างยังไม่ทันได้สอบชั้นสูงด้วยเหตุจำเป็น มีจะต้องเป็นเจ้าอาวาส เป็นต้น เมื่อเป็นฉะนี้ก็ไม่ค่อยมีนักเรียนที่สอบได้ถึงชั้นที่สุดตามแบบที่ตั้งไว้ ส่วนการแปลด้วยปากนั้น สอบวันหนึ่งไม่ได้กี่รูป กว่าจะจบการสอบคราวหนึ่งถึง ๓ เดือน เมื่อเป็นเช่นนี้ จะกำหนดการสอบให้เร็วเข้ามาก็ไม่ได้อยู่เอง แลเปรียญที่สอบความรู้ได้ถึงชั้นนั้นๆ แล้ว ก็มีความรู้พออ่านหนังสือเข้าใจได้เท่านั้น ผู้สอบยังทราบไม่ได้ว่า เป็นผู้ทรงธรรมทรงวินัย สมควรจะปกครองหมู่คณะแล้วหรือไม่ อาศัยเหตุผลที่กล่าวมานี้ การเล่าเรียนพระปริยัติธรรม ของภิกษุสามเณร จึงนับว่าเจริญดีแล้วยังไม่ได้
เพื่อจะคิดแก้ไขให้การเล่าเรียนพระปริยัติธรรมของภิกษุสามเณรเจริญดีขึ้น ทันเวลาที่เป็นอยู่บัดนี้ วิทยาลัยจึงได้จัดสอนวิธีสอน และสอบความรู้ดังนี้ ในเบื้องต้น ให้เรียนบาลีไวยากรณ์ ซึ่งเป็นหนังสือชนิดเดียวกับบทมาลา แล้วจึงขึ้นคัมภีร์ต่อไป แบบที่สำหรับสอบความรู้นั้น บาลีไวยากรณ์เป็นชั้นนักเรียนที่ ๓ อรรถกถาธรรมบท ความนิทาน เป็นชั้นนักเรียนที่ ๒ แก้กถาธรรมบทบั้นปลาย เป็นชั้นนักเรียนที่ ๑ แก้กถาธรรมบทขั้นต้น เป็นชั้นเปรียญที่ ๓ พระบาลีพระวินัยมหาวิภังค์แลภิกขุนีวิภังค์ กับบาลีพระสูตรบางเล่ม เป็นชั้นเปรียญที่ ๒ พระบาลีพระวินัยมหาวัคค์และจุลวัคค์ กับบาลีพระอภิธรรมบางเล่ม เป็นชั้นเปรียญที่ ๑ กำหนดการสอบไล่ทุกปี วิธีสอบไล่นั้น ใช้เขียน แต่ยอมให้ผิดได้ไม่เกินกำหนด ถ้าได้ชั้นไหนแล้วก็เป็นอันได้ วิทยาลัยได้รับพระบรมราชานุญาตให้สอบไล่ได้โดยวิธีที่จัดนี้ เป็นส่วนพิเศษ
โรงเรียนวัดพิชยญาติการาม
เขตคลองสาน กรุงเทพฯ
๒. การที่ประชุมชนจะเข้าใจในพระพุทธศาสนาได้ชัดเจนมีอยู่ ๓ ทาง คือ ด้วยได้ฟังธรรมเทศนา ด้วยได้สนทนาธรรม ด้วยได้อ่านหนังสือที่เป็นคำสั่งสอน การเทศนานั้นมีที่วัดตามกำหนดวันพระบ้าง มีที่โรงธรรมในที่นั้นๆ บ้าง มีด้วยกิจนิมนต์ ในมังคลามังคลสมัยบ้าง เทศนาที่จัดตามกำหนดวันพระนั้น จะได้ฟัง ก็แต่คนที่เข้าวัดเท่านั้น ส่วนเทศนาในโรงธรรมนั้น ตั้งขึ้นที่ไหนก็มีแต่คนในจังหวัดนั้น และมักจะเทศนาแต่เรื่องนิทานนิยายอะไรต่างๆ ไม่เป็นทางที่จะให้เข้าใจ ในพระพุทธศาสนาดีขึ้น การเทศนาด้วยกิจนิมนต์ในมังคลามังคลสมัยนั้น ก็มีแบบไว้ สำหรับพิธีนั้นๆ ใครเคยฟังเรื่องใด ก็ฟังเรื่องนั้นซ้ำๆ อยู่นั่น ไม่ค่อยจะได้ฟังเรื่องที่แปลกจากนั้น ส่วนการอ่านหนังสือที่เป็นคำสั่งสอนนั้น เป็นที่เข้าใจ ในพระพุทธศาสนาได้ดีกว่าฟังเทศนา เพราะอ่านเอง มีเวลาที่จะกำหนดตรึกตรองได้ตามเข้าใจ และถ้าจำได้แล้วลืมเสีย กลับดูอีกก็ได้ แต่หนังสือที่สำหรับจะอ่านเช่นนั้นยังไม่แพร่หลายที่ประชุมชนจะแสวงหาไว้อ่านได้ หนังสือที่มีอยู่แล้ว ก็ยังไม่ได้แสดงคำสอนในพระพุทธศาสนาให้สิ้นเชิง เป็นแต่แสดงบางข้อตามความประสงค์ของผู้แต่งหนังสือนั้นๆ ความยินดีในธรรมของคน ก็ต่างกัน บางคนยินดีในธรรมที่ลึกซึ้ง บางคนยินดีในธรรมที่ไม่ลึกซึ้ง ถ้าถูกอัธยาศัย ก็พอใจอ่าน ถ้าไม่ถูกอัธยาศัยก็ไม่พอใจอ่าน หนังสือสำหรับสั่งสอนประชุมชน ควรจะมีหลายอย่างตามอัธยาศัยของคนต่างๆ กัน
ในการที่จะแนะนำให้ประชุมชนเข้าใจในพระพุทธศาสนาได้ชัดเจนดีนั้น เป็นกิจ ที่วิทยาลัยควรจัด ๒ อย่าง คือ มีธรรมเทศนาที่วัดตามกำหนดวันพระอย่างหนึ่ง จัดพิมพ์หนังสือแสดงคำสั่งสอนอย่างหนึ่ง ส่วนการมีเทศนาตามกำหนดวันพระนั้น ได้เคยมีเป็นประเพณีของวัดมาแล้ว ส่วนการพิมพ์หนังสือแสดงคำสอนนั้น วิทยาลัยจะจัดขึ้นตามกำลังที่จะจัดได้
๓. การฝึกสอนเด็กชาวเมืองนั้น วิทยาลัยจะจัดให้มีโรงเรียนสำหรับสอนหนังสือไทย แลฝึกกิริยาเด็กให้เรียบร้อย สอนให้รู้จักดีชั่วตามสมควร
โรงเรียนวัดนิเวศธรรมประวัติ อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
การจัดตั้งมหามกุฏราชวิทยาลัยใน ๒ ปีแรก สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงรับเป็นสภานายก ด้วยพระองค์เอง ตั้งแต่ปีที่ ๓ เป็นต้นไป ทรงให้กรรมการสภาผลัดเปลี่ยนกันเป็นสภานายกวาระละ ๑ ปี บริหารกิจการ ของสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย