เล่มที่ 39
การศึกษาของสงฆ์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การศึกษาและการสอบพระปริยัติธรรม

            ในสมัยอยุธยาตอนปลาย การศึกษาของคณะสงฆ์ไทยเริ่มมีรูปแบบที่ชัดเจนมากขึ้น คือ ภิกษุที่สอบพระสุตตันตปิฎกได้ก็เป็น บาเรียนตรี สอบพระวินัยปิฎกได้ก็เป็น บาเรียนโท และสอบพระอภิธรรมปิฎกได้ก็เป็น บาเรียนเอก ในสมัยนั้นเรียกว่า "บาเรียน" มี ๓ ระดับ ได้แก่ บาเรียนตรี บาเรียนโท และบาเรียนเอก ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงมีการปรับปรุงการสอบภาษาบาลีเป็น ๙ ประโยค สอบได้ประโยค ๓ ก็เป็น บาเรียนตรี สอบได้ประโยค ๔-๕-๖ ก็เป็น บาเรียนโท และสอบได้ประโยค ๗-๘-๙ ก็เป็น บาเรียนเอก โดยเฉพาะสอบได้ ๙ ประโยค ถือว่าเป็น บาเรียนเอกอุ คือ เอกอุดม ส่วนประโยค ๗ เป็นเอกปฐม และประโยค ๘ ก็เป็น เอกมัธยม ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนคำว่า "บาเรียน" เป็น "ปะเรียญ" และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ เปลี่ยนเป็น "เปรียญ" อย่างที่ใช้กันในปัจจุบันนี้

            การสอบไล่พระปริยัติธรรมภาษาบาลีในสมัยต้นรัตนโกสินทร์จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ ใช้วิธีการ "สอบปากเปล่า" ซึ่งการสอบไม่ได้จัดให้มีขึ้นทุกปี โดยรัชกาลที่ ๕ จะเสด็จฯ ไปทรงฟังการสอบด้วยพระองค์เองอยู่เสมอ บางครั้ง การสอบก็สอบติดต่อกันหลายประโยค เช่น เมื่อสอบได้ประโยค ๖ อาจมีพระราชกระแสรับสั่งให้สอบประโยค ๗ ต่อในทันที ดังเช่นกรณีของ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถร) ทรงเข้าสอบพระปริยัติธรรมครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๓ ทรงสอบได้เป็นเปรียญ ๓ ประโยค และใน พ.ศ. ๒๔๓๖ ทรงสอบได้เปรียญ ๔ ประโยค ซึ่งขณะนั้นทรงเป็นสามเณร มีพระชันษา ๑๙ ปี หลังจากที่ทรงอุปสมบทแล้ว ได้มีการเปิดสอบอีกครั้งหนึ่ง ทรงสอบได้เป็นเปรียญ ๕ ประโยค ใน พ.ศ. ๒๔๔๑ และใน พ.ศ. ๒๔๔๓ ได้เปรียญ ๖ ประโยค และทรงตั้งพระทัยว่าจะไม่เข้าสอบต่อ แต่รัชกาลที่ ๕ ทรงสนับสนุนให้แปลต่ออีก ดังนั้น จึงทรงสอบได้เปรียญ ๗ ประโยค ใน พ.ศ. ๒๔๔๓ เปรียญ ๘ ประโยค ใน พ.ศ. ๒๔๔๔ และเปรียญ ๙ ประโยค ใน พ.ศ. ๒๔๔๕ ทรงเป็นพระภิกษุรูปแรกในรัชกาลที่ ๕ ที่สอบได้เป็นเปรียญ ๙ ประโยค ทำให้รัชกาลที่ ๕ ทรงปลาบปลื้มพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง จึงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้รถยนต์หลวงไปรับพระมหาอยู่ เปรียญ ๙ ประโยค จากวัดพระศรีรัตนศาสดารามไปส่งที่วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร นับว่าเป็นการพระราชทานพระเกียรติอย่างสูง ต่อมาภายหลัง เมื่อภิกษุสามเณรรูปใดสอบได้เปรียญ ๙ ประโยค ก็จะโปรดเกล้าฯ ให้รถยนต์หลวงไปส่งจนถึงวัด กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันต่อมา

หลักสูตร "บาเรียน" นี้ ในระยะแรก ตั้งแต่รัชกาลที่ ๒ ถึงรัชกาลที่ ๖ จัดเป็น ๔ ขั้น คือ บาเรียนสามัญ บาเรียนตรี บาเรียนโท บาเรียนเอก โดยกำหนดดังนี้

สอบได้ ๓ ประโยค เรียกว่า บาเรียนสามัญ
สอบได้ ๔ ประโยค เรียกว่า บาเรียนตรี
สอบได้ ๕-๖ ประโยค เรียกว่า บาเรียนโท
สอบได้ ๗-๘-๙ ประโยค เรียกว่า บาเรียนเอก

            ใน พ.ศ. ๒๔๕๐ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงตั้งหลักสูตรการศึกษาสำหรับภิกษุสามเณรขึ้นใหม่ คือ ในการศึกษาพระปริยัติธรรมนั้น นอกจากจะศึกษาบาลีแล้ว จะมีการศึกษาที่เรียกว่า "นักธรรม" ดังที่ใช้ศึกษาเล่าเรียนกันอยู่ ในปัจจุบันนี้ โดยแบ่งเป็น ๓ ชั้น คือ นักธรรมตรี นักธรรมโท นักธรรมเอก นอกจากนี้ทรงพระนิพนธ์ทั้งตำราเรียนบาลี และตำรานักธรรมไว้มากเกือบ ๓๐ เล่ม ต่อมาทรงเปิดโอกาสให้คฤหัสถ์ทั้งชายและหญิงได้ศึกษาหลักสูตรนักธรรม แต่เรียกว่า "ธรรมศึกษา" ได้แก่ ธรรมศึกษาตรี ธรรมศึกษาโท และธรรมศึกษาเอก และใช้มาจนถึงปัจจุบัน

            เมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงกำหนดหลักสูตรนักธรรมขึ้นแล้ว ทรงปรารถนาให้ภิกษุสามเณรศึกษาทั้งนักธรรมและบาลีไปพร้อมๆ กัน โดยผู้ที่จะสอบบาลีเป็น "เปรียญ" จะต้องสอบ "นักธรรม" ให้ได้ก่อน  ดังนี้

            ผู้ที่จะสอบประโยคบาลีเป็น "เปรียญตรี" ต้องสอบ "นักธรรมตรี" ให้ได้ก่อน  
            ผู้ที่จะสอบประโยคบาลีเป็น "เปรียญโท" ต้องสอบ "นักธรรมโท" ให้ได้ก่อน  
            ผู้ที่จะสอบประโยคบาลีเป็น "เปรียญเอก" ต้องสอบ "นักธรรมเอก" ให้ได้ก่อน  

            หากปรากฏว่า ภิกษุสามเณรรูปใดที่สอบบาลีประโยค ๖ ได้แล้ว แต่ยังสอบนักธรรมเอกไม่ได้ ก็จะไม่มีสิทธิสอบบาลีเป็น "เปรียญเอก"


สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภณมหาเถร) สอบเป็นเปรียญ ๙ ประโยคได้ตั้งแต่ยังเป็นสามเณร

            แม้ว่าที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามจะเปิดสอนบาลี แต่ภิกษุสามเณรก็อาจไปเรียนในสำนักเรียนวัดอื่นก็ได้ เช่น ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ วัดสุทัศนเทพวราราม หรือวัดบวรนิเวศวิหาร ในสมัยก่อน จนถึงรัชกาลที่ ๕ การสอบบาลีจัดขึ้นเฉพาะที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามเท่านั้น คณะกรรมการล้วนแต่เป็นพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ รวมทั้งสมเด็จพระสังฆราช การสอบเป็นแบบ "ปากเปล่า" โดยอาจถามว่า "สำนวนวัดสุทัศน์ฯ ว่าอย่างไร สำนวนวัดบวรนิเวศฯ ว่าอย่างไร สำนวนวัดมหาธาตุฯ ว่าอย่างไร" ภิกษุสามเณรจึงต้องไปศึกษาวิชาต่างๆ แทบทุกสำนัก เพราะการจะสอบได้ แต่ละประโยค ผู้เข้าสอบต้องมีความรู้เชี่ยวชาญ แต่บางปีภิกษุสามเณรอาจสอบได้ถึง ๒-๓ ประโยคติดต่อกัน ดังเช่น สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภณมหาเถร) วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม สมัยแรกเมื่อทรงบรรพชาเป็นสามเณร อยู่ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ทรงเข้าสอบบาลีได้ประโยค ๑, ๒ และ ๓ ภายในปีเดียว ขณะมีพระชันษาเพียง ๑๒ ปี และทรงสามารถสอบเป็นเปรียญ ๙ ประโยค ได้ตั้งแต่เป็นสามเณร

            เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๐ รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายการบอกพระปริยัติธรรมจากเก๋งหน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ไปที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เพื่อเป็นที่ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมของสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย พร้อมทั้งโปรดเกล้าฯ ให้เรียกว่า "มหาธาตุวิทยาลัย" นับเป็นครั้งแรกที่มีการใช้คำว่า "วิทยาลัย" ในประเทศไทย แต่ในระยะแรกๆ สถานที่เรียนยังไม่เสร็จสมบูรณ์ โดยมีการเปิดสอนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๓๒  ภายหลัง มีพระราชปรารภที่จะเปลี่ยนนาม "มหาธาตุวิทยาลัย" เป็น "มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย" โดยทรงมีลายพระราชหัตถเลขา ลงวันที่ ๘ กันยายน ร.ศ. ๑๑๑ (พ.ศ. ๒๔๓๕)  ถึงเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ มีข้อความตอนหนึ่งดังนี้

            "มานึกรวนเรใจอย่างหนึ่ง ด้วยเรื่องจัดวัดมหาธาตุนั้น ดูรกรุงรัง ไม่งามเลย ถ้าวังที่ข้างนั้นเป็นอย่างใหม่ขึ้น ก็จะดูไม่ได้ จึงได้ตั้งใจไว้ว่า ถ้าวิทยาลัยนี้ตั้ง อยากจะทำให้งดงาม จะให้ชื่อ จุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หรือมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เพราะถ้าจะลงทุนพระคลังข้างที่เป็นอันมากเช่นนั้น หาควรที่จะให้เจ้าของเดิมท่านไม่ ไหนๆ ก็คงถูกแช่งเหมือนกัน ถือว่า เป็นมหานิกาย การเล่าเรียนเขาก็แข็งแรงมาก คงจะได้ผู้มีความรู้ออกจากวิทยาลัยมีมาก ครั้นจะทำขึ้นในเวลานี้ ไม่ว่าการที่จะจัดนั้นจะเป็นสัมฤทธิผลดีหรือไม่ ประการหนึ่งศาลาและกุฏิเก่าก็ซ่อมใหม่ ยังจะทนไปได้นานกระมัง จะรีบร้อนรื้อลงทำใหม่ ก็ประการที่ได้ลงทุนซ่อมไว้ ส่วนพระราชบัญญัติจะออกเป็นชื่อมหาธาตุวิทยาลัย กลัวชื่อจะติดแน่นเสีย กลับภายหลังไม่ไหว เพราะชื่อใหม่เรียกยากกว่า และกระดากปากที่จะออกพระนาม จะเลยเป็นเงียบสูญไป ครั้นว่าไม่ได้ทำอะไร จะไปให้ชื่อสรวมเอาเปล่าๆ ก็อายใจอยู่ พระยาภาสกรวงษ์จะเห็นความประการใด"

            รัชกาลที่ ๕ ไม่เพียงแต่จะทรงเปลี่ยนนามของมหาธาตุวิทยาลัยเท่านั้น ยังทรงพระราชดำริเปลี่ยนโครงสร้างการศึกษาด้วย นอกจากนี้ ทรงพระราชประสงค์จะให้เป็นสถาบันการศึกษาของคฤหัสถ์ด้วย ทำนองเดียวกับมหาวิทยาลัยในยุโรป เช่น มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่นักบวชในคริสต์ศาสนาเป็นผู้ก่อตั้งขึ้น ดังปรากฏข้อความในร่าง พระราชบัญญัติมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ร.ศ. ๑๑๑ ใน "ฎีกา ๑ ชื่อว่า พระราชบัญญัติเป็นประเพณีสำหรับมหาธาตุวิทยาลัย" ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด ๒๔ มาตรา และมี "ปรารภกถา" ที่น่าสนใจมาก เพราะมีการนำคำว่า "มหาวิทยาลัย" มาใช้เป็นครั้งแรก ดังนี้

            "มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า วัดมหาธาตุเป็นวัดใหญ่สำคัญฝ่ายมหานิกาย ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานกระทรวงพระธรรมการ จัดตั้งเป็นวิทยาลัยขึ้น สั่งสอนพระปริยัติธรรมอยู่แล้ว ทรงพระราชดำริเห็นสมควรจะจัดการบำรุงแก้ไขให้เป็นแบบแผนมหาวิทยาลัย ฝ่ายคณะมหานิกายให้เป็นสถานที่ศึกษาพระบาลีคัมภีร์พระไตรปิฎก ให้พระเถรานุเถระเป็นภารธุระในการปกครองบำรุงรักษา และสั่งสอนพระธรรมวินัย  และพระพุทธพจน์ให้เป็นระเบียบแบบแผนดีขึ้นตามกาลเวลาที่ดำเนินไปในทางเจริญ การศึกษาเล่าเรียนชั้นสูงจะได้รุ่งเรืองขึ้นกว่าที่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้  จึงมีพระราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติเป็นประเพณี  การปกครองมหาธาตุวิทยาลัยไว้เป็นมาตราต่อลงไปดังนี้”