เล่มที่ 39
สบู่ดำ
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ประวัติความเป็นมาของสบู่ดำ

            แนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตรที่สำคัญคือ ทรงเน้นเรื่องการค้นคว้าทดลองและวิจัยหาพันธุ์ใหม่ๆ ของทั้งพืชและสัตว์ ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ต่างๆ เพื่อแนะนำให้เกษตรกร นำไปปฏิบัติ ใช้เทคโนโลยีที่ง่ายและไม่ซับซ้อน โดยมีเป้าประสงค์ให้เกษตรกรสามารถพึ่งตนเองได้ เช่น การปลูกสบู่ดำ เพื่อผลิตไบโอดีเซล ด้วยมีพระราชดำริว่า "สบู่ดำน่าจะมีคุณสมบัติบางอย่างดีกว่าน้ำมันปาล์มในการทำไบโอดีเซล เพราะต้นสบู่ดำเจริญเติบโตได้เร็วกว่าปาล์มน้ำมัน และสามารถเก็บผลผลิตได้หลังจากปลูกไม่เกินหนึ่งปี" ด้วยแนวพระราชดำรินี้ กระทรวงพลังงานจึงได้จัดทำโครงการพัฒนาและสาธิตการทดลองผลิตไบโอดีเซลจากสบู่ดำขึ้น โดยให้เป็นโครงการนำร่อง การทำไบโอดีเซลชุมชน เช่น ที่ตำบลทับมา อำเภอเมืองฯ จังหวัดระยอง อันเป็นการพัฒนาพลังงานทดแทนที่เป็นรูปธรรม


แปลงทดลองสบู่ดำ เพื่อคัดเลือกพันธุ์ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม

            สบู่ดำเป็นพืชพื้นเมืองของอเมริกากลางแถบประเทศเม็กซิโก สันนิษฐานว่า เริ่มมีการนำเข้ามาปลูกตรงกับช่วงกรุงศรีอยุธยา ตอนปลาย ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อ ๓๐๐ กว่าปีที่แล้ว โดยชาวโปรตุเกสที่เข้ามาเชื่อมความสัมพันธ์และค้าขาย ในสมัยนั้น ได้นำเมล็ดมาให้ชาวบ้านปลูกและรับซื้อเมล็ดคืน เพื่อนำไปทำเป็นสบู่และน้ำมันตะเกียง จากนั้น สบู่ดำได้แพร่กระจายพันธุ์ไปในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ สามารถพบเห็นได้ทั่วไปตามชนบท มักพบชาวบ้านปลูกสบู่ดำเป็นแนวรั้ว เพื่อป้องกันวัวควายเข้าไปทำลายพืชผลที่ปลูกไว้ ต่อมาได้มีการทดลองใช้น้ำมันสบู่ดำในการเดินเครื่องยนต์ดีเซลรอบต่ำ ปรากฏว่า สามารถเดินเครื่องได้ดี แต่ยังไม่มีผู้สนใจปลูกสบู่ดำเป็นการค้า เพื่อสกัดเอาน้ำมันในเมล็ดมาทำเป็นไบโอดีเซล เพราะไม่คุ้มค่า เนื่องจากขณะนั้นน้ำมันดีเซลยังมีราคาถูก จนใน พ.ศ. ๒๕๔๐ ราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงขึ้น และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ สบู่ดำจึงเป็นพืชพลังงานทดแทนชนิดหนึ่งที่หน่วยงานในประเทศได้ริเริ่มการวิจัย โดยจัดการการเขตกรรม การปลูกทดสอบ และคัดเลือกพันธุ์ แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากมีพืชที่ให้ผลผลิตสูงกว่า คือ ปาล์มน้ำมัน ซึ่งรัฐบาลสนับสนุน ให้นำมาผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซลอยู่แล้ว เกษตรกรจึงขาดแรงจูงใจในการปลูกสบู่ดำ แต่การที่ประชาชนใช้พลังงานกันมากขึ้น ทำให้ต้องนำน้ำมันปาล์มมาเข้ากระบวนการผลิตไบโอดีเซลเป็นปริมาณมาก ส่งผลให้น้ำมันปาล์มที่ใช้บริโภคขาดแคลน และมีราคาสูงขึ้นใน พ.ศ. ๒๕๕๔ จนต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งที่ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มรายใหญ่ รายหนึ่งของโลก


สายพันธุ์สบู่ดำที่นักวิชาการพัฒนาขึ้นจากการผสมข้ามชนิด ระหว่างสบู่ดำกับเข็มปัตตาเวีย ให้ผลผลิตและน้ำมันมากกว่าพันธุ์ที่มีอยู่ในประเทศไทย

            จากปัญหาดังกล่าว นำมาสู่แนวคิดที่จะหาพืชพลังงานทดแทนที่ไม่ใช่พืชอาหาร ทำให้ภาคเอกชนและหน่วยงานราชการ เริ่มกลับมาให้ความสนใจสบู่ดำอีกครั้ง โดยวางเป้าหมายที่จะพัฒนาพืชชนิดนี้เป็นพลังงานในอนาคต