เล่มที่ 39
สบู่ดำ
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การใช้ประโยชน์จากสบู่ดำด้านอื่นๆ

๑) สิ่งแวดล้อม

            การปลูกสบู่ดำในแบบสวนป่าสามารถเป็นแหล่งผลิตออกซิเจนและดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ให้แก่โลก ชาวบ้านนิยมปลูกรอบสระ หรือบ่อน้ำ เพื่อเป็นแนวกันลมร้อนลดการระเหยของน้ำ และยังช่วยลดการพังทลายของหน้าดิน การปลูกสบู่ดำ ก่อให้เกิดระบบนิเวศที่ดี สังเกตได้จากมีแมลงหลายชนิดและนกเข้ามาอาศัยอยู่ในแปลงปลูก


เครื่องหีบ

๒) การเกษตร

            เปลือกและกากของสบู่ดำมีไนโตรเจนและโพแทสเซียมสูง สามารถนำมาผลิต เป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่มีคุณภาพ และมีรายงานว่า น้ำสกัดจากเปลือกของผลสบู่ดำมีศักยภาพ เป็นสารชีวภาพกำจัดโรคพืช โดยสามารถยับยั้งการเจริญเส้นใยของเชื้อรา Phytopththora palmivora ซึ่งเป็นสาเหตุของโรครากและโคนเน่าของทุเรียน และเชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides สาเหตุของโรคแอนแทรกโนส ในมะม่วง ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในแปลงสบู่ดำยังสามารถเลี้ยงผึ้งหรือชันโรง เพื่อผลิตน้ำผึ้งและช่วยผสมเกสรสบู่ดำ เป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร อีกทางหนึ่งด้วย
๓) ยารักษาโรค

ยางสบู่ดำมีสารที่น่าสนใจ ๔ ชนิด คือ

            (๑) แอนทราควิโนนไกลโคไซด์ (anthraquinone glycosides) เป็นสารที่มีส่วนประกอบทั้งที่เป็นน้ำตาลและไม่ใช่น้ำตาลที่เรียกว่า อะไกลโคน (aglycone) ซึ่งมีฤทธิ์ใช้เป็นยาระบาย ยาฆ่าเชื้อ และสีย้อม


น้ำมันจากเมล็ดสบู่ดำ

            (๒) ไซคลิกเฮปตะเปปไทด์ (cyclic heptapeptide) เป็นสารที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเมลาโนมา (melanoma) และเซลล์มะเร็งตับอ่อน



กากเมล็ดสบู่ดำ

            ๓) แซโพนิน (saponin) เป็นสารทุติยภูมิ เมื่อละลายน้ำจะเกิดเป็นฟองสบู่ สามารถลดแรงตึงผิวได้ จึงมีคุณสมบัติ เป็นผงซักฟอกธรรมชาติ และพบว่า สารชนิดนี้ยังมีความเป็นพิษต่อหนอน หอยทาก เชื้อรา และศัตรูพืชอื่นๆ แต่มีข้อเสียคือ ทำให้เกิดผื่นคันตามผิวหนัง

            (๔) แทนนิน (tannin) เป็นสารที่มีรสฝาด มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนๆ สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ ในหลายประเทศ จึงได้มีผู้นำสบู่ดำมาใช้เป็นพืชสมุนไพร สำหรับรักษาโรค สารสกัดจากใบสบู่ดำใช้เป็นยาฆ่าเชื้อ ยับยั้งการเจริญของแบคทีเรีย Staphylococcus spp.  Bacillus spp. และ Micrococcus spp. ได้ดี ยางสบู่ดำที่มีความเข้มข้นร้อยละ ๑๐๐ และร้อยละ ๕๐ สามารถฆ่าไข่พยาธิไส้เดือน และพยาธิปากขอ สารสกัดจากกิ่ง สบู่ดำมีฤทธิ์ยับยั้งการเปลี่ยนแปลง ของเซลล์เชื้อเอชไอวี (HIV) โดยมีผลข้างเคียงต่ำต่อมนุษย์ นอกจากนี้ สารเคอร์คิวโซนซี (curcusone C) ที่สกัดจากรากสบู่ดำสามารถยับยั้งการเจริญ ของมะเร็งเต้านมได้เป็นอย่างดี ในอนาคตอาจพัฒนาเป็นยาต้านมะเร็ง

รังชันโรงที่เริ่มเก็บน้ำผึ้งได้

๔) ไม้ประดับ

            สบู่ดำสามารถใช้เป็นไม้ประดับที่สวยงามและแปลกใหม่ เช่น สบู่ดำด่าง (variegated jatropha) ซึ่งเกิดไคเมอรา (chimera) โดยมักเป็นการกลายสายพันธุ์ของกิ่งและใบพืช ทำให้มีลักษณะแตกต่างไปจากต้นเดิม อันเป็นผลจากการกลายพันธุ์ ตามธรรมชาติ หรือชักนำให้กลายพันธุ์โดยการฉายรังสี ปัจจุบันสบู่ดำลูกผสมข้ามชนิดระหว่างสบู่ดำกับเข็มปัตตาเวียแคระ ให้ลูกผสมที่มีสีดอกหลากหลาย เหมาะแก่การใช้ปลูกประดับแปลงหรือปลูกเป็นไม้กระถาง มีลักษณะสวยงามแปลกตา เช่น สบู่ดำประดับพันธุ์กำแพงแสน ๑ ถึงกำแพงแสน ๖ ที่พัฒนาและขึ้นทะเบียนพันธุ์โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม

ดอกกำแพงแสน ๖