เล่มที่ 39
สบู่ดำ
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของสบู่ดำ

            สบู่ดำ (jatropha, physic nut, pig nut หรือ purging nut) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Jatropha curcas L. จัดอยู่ในวงศ์ Euphorbiaceae (เช่นเดียวกับละหุ่ง มันสำปะหลัง และยางพารา) เป็นพืชดิพลอยด์ (diploid) มีจำนวนโครโมโซมเท่ากับ ๒๒ สบู่ดำเป็นไม้พุ่มยืนต้นขนาดกลาง ทรงพุ่มสูงประมาณ ๒-๗ เมตร กว้างประมาณ ๑-๕ เมตร มีอายุยืนกว่า ๒๐ ปี ทุกส่วนของสบู่ดำ มียางสีขาวขุ่น เมื่อละลายน้ำจะเกิดเป็นฟองสบู่ อันเป็นที่มาของชื่อสบู่ดำลำต้นของสบู่ดำประกอบด้วยกิ่งย่อย ๓-๑๐ กิ่ง แตกแขนง เป็นทรงพุ่ม เนื้อไม้อ่อน ไม่มีแกน รากเป็นระบบรากแก้ว (tap root system) ใบมีรอยหยัก ๓-๔ หยัก คล้ายใบพุดตาน และใบฝ้าย แต่หนากว่า ก้านใบยาวประมาณ ๑๐-๑๕ เซนติเมตร ตำแหน่งการเกิดใบจะสลับกันบนกิ่ง ในสภาวะแห้งแล้ง อาจพบสบู่ดำทิ้งใบเหลือแต่กิ่ง แต่เมื่อได้รับน้ำก็จะเริ่มแตกตาใบใหม่ออกมาอย่างรวดเร็ว ดอกจะเริ่มออก ตามบริเวณยอด หรือปลายกิ่งเป็นช่อดอกรวม ดอกเพศเมียและดอกเพศผู้อยู่แยกกันภายในช่อดอกเดียวกัน (monoecious) และพบดอกกะเทย (เกสรเพศผู้และเกสรเพศเมียอยู่ในดอกเดียวกัน) ในบางสายพันธุ์ที่นำเข้าจากประเทศเม็กซิโก อัตราส่วนของดอกเพศเมีย ต่อเพศผู้ในช่อดอกประมาณ ๑ : ๑๒ โดยปกติดอกเพศเมียจะบานก่อนเพศผู้ ๒-๓ วัน ยกเว้นบางสายพันธุ์ที่นำเข้า จากประเทศเม็กซิโก ดอกเพศผู้จะบานก่อนเพศเมีย ๑-๓ วัน การผสมเกสรของดอก ส่วนมากจะผสมข้ามต้น แต่ก็มีโอกาสผสม ภายในต้นเดียวกัน (ผสมตัวเอง) ได้บ้าง แมลงที่เป็นพาหะในการผสมเกสรคือ ผึ้ง แมลงภู่ ผีเสื้อ และมด สบู่ดำติดผลเป็นช่อ ในแต่ละช่อมีผลสบู่ดำ ๖-๑๕ ผล ผลของสบู่ดำมีลักษณะกลมหรือกลมรี ซึ่งขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ผลอ่อนมีสีเขียว หลังจากการผสมเกสรแล้วประมาณ ๖๐-๗๕ วัน ผลสบู่ดำจะเริ่มสุกแก่ มีสีเหลือง หลังจากนั้นอีก ๓-๔ วันจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลดำ ในแต่ละผลประกอบด้วย ๓ พู แต่ละพูมี ๑ เมล็ด มีเปลือกหุ้มเมล็ด (seed coat) สีดำ เมล็ดใน (kernel) มีเอนโดสเปิร์ม (endosperm) และเอ็มบริโอ (embryo) สีขาว สบู่ดำ มีปริมาณน้ำมันทั้งเมล็ดประมาณร้อยละ ๒๕-๓๕ และในกาก หลังจากสกัดน้ำมันออกแล้ว มีโปรตีนประมาณร้อยละ ๕๐-๕๕ ส่วนสารพิษที่พบในเมล็ดสบู่ดำประกอบด้วยเลกทิน (lectin) เคอร์ซิน (curcin) ไฟเทต (phytates) ฟอร์บอลเอสเตอร์ (phorbol esters) ตัวยับยั้งโพรทีเอส (protease inhibitors) สารเหล่านี้สามารถสลายได้ด้วยความร้อนระดับที่ใช้หุงต้ม ยกเว้นฟอร์บอลเอสเตอร์ ซึ่งเป็นสารที่ไม่สลายตัว ภายใต้อุณหภูมิหุงต้มปกติ ทั้งยังมีพิษกระตุ้นให้เกิดเนื้องอกในสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมอีกด้วย


ต้นสบู่ดำ