การใช้สบู่ดำเป็นพลังงาน
๑) ไบโอดีเซล
น้ำมันสบู่ดำมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำมันดีเซลมาก และมีจุดเยือกแข็งต่ำประมาณ -๗ องศาเซลเซียส ซึ่งสามารถนำมาใช้ได้ดี กับเครื่องยนต์ในฤดูหนาว น้ำมันสบู่ดำประกอบด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัวร้อยละ ๗๘ โดยมีกรดโอเลอิก (oleic) กับกรดไลโนเลอิก (linoleic) เป็นกรดไขมันหลัก และกรดไขมันอิ่มตัวร้อยละ ๒๒ ประกอบด้วย กรดปาล์มิติก (palmitic) กับกรดสเตียริก (stearic) วิธีการหีบน้ำมันจากเมล็ดสบู่ดำที่นิยมคือ ใช้เครื่องชนิดอัดสกรู โดยเมล็ดแห้งประมาณ ๔ กิโลกรัมจะหีบน้ำมันได้ ๑ ลิตร เมื่อหีบเสร็จแล้วควรพักให้น้ำมันตกตะกอนประมาณ ๑-๒ วัน จากนั้นกรองให้สะอาด น้ำมันที่ได้ สามารถนำมาใส่เครื่องยนต์ดีเซลรอบต่ำได้ทันที เช่น รถไถเดินตาม รถอีแต๋น เครื่องสูบน้ำ หากใช้กับเครื่องยนต์หมุนเร็ว จะต้องผ่านกระบวนการทรานส์เอสเทอริฟิเคชัน (transesterification) ซึ่งเป็นปฏิกิริยาทางเคมีระหว่างน้ำมันกับแอลกอฮอล์ จะได้ผลผลิตที่เป็นเอสเตอร์และกลีเซอรอล แล้วแยกส่วนเอสเตอร์นำไปใช้โดยตรง หรือผสมกับน้ำมันดีเซลในอัตราส่วนต่างๆ
น้ำมันสบู่ดำ
๒) เชื้อเพลิงมวลชีวภาพ
สบู่ดำเป็นไม้โตเร็ว การตัดแต่งกิ่งแต่ละครั้ง จะได้ลำต้นและกิ่งก้านที่ตัดออกเป็นปริมาณมาก สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิง ในการเผาไหม้ได้โดยตรง หรือนำไปเผาผลิตเป็นถ่าน ใช้เป็นเชื้อเพลิงหุงต้มในครัวเรือน แต่ไม้สบู่ดำมีความชื้นค่อนข้างสูง จึงควรตากให้แห้งก่อนจะนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิง การนำไม้มาเผาไหม้โดยตรงยังให้ค่าความร้อนที่ต่ำ เพราะสบู่ดำเป็นไม้เนื้ออ่อน ควรนำเนื้อไม้ไปอัดเป็นแท่งเชื้อเพลิงก่อนนำไปเผา จะทำให้ได้ค่าความร้อนที่สูงขึ้น แต่ก็จะทำให้ต้นทุนสูงขึ้นเช่นกัน ปัจจุบัน นักวิจัยของไทยพยายามปรับปรุงพันธุ์สบู่ดำ เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงมวลชีวภาพโดยตรง โดยจะมุ่งปรับปรุงคุณภาพเนื้อไม้ให้ดีขึ้น เช่น จากเนื้อไม้อ่อนเป็นเนื้อไม้กึ่งแข็ง มีอัตราการเจริญเติบโตที่ดี ทนทานต่อสภาพแห้งแล้งและสภาพดินเค็ม ในอนาคต มีความเป็นไปได้สูงที่จะใช้ไม้สบู่ดำเป็นเชื้อเพลิงในโรงงานผลิตไฟฟ้ามวลชีวภาพ
เมล็ดสบู่ดำและผลิตภัณฑ์จากสบู่ดำ
๓) แก๊สชีวภาพ
กากเมล็ดสบู่ดำที่เหลือจากการหีบน้ำมัน สามารถนำมาหมักร่วมกับเปลือกและใบในสภาพไร้อากาศ จะได้แก๊สมีเทนเป็นส่วนใหญ่ สามารถนำมาใช้หุงต้ม หรือเป็นเชื้อเพลิงปั่นไฟฟ้าใช้ในครัวเรือนได้
กิ่งสบู่ดำแห้งสามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงมวลชีวภาพ