เล่มที่ 39
สบู่ดำ
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
แนวทางการพัฒนาพันธุ์สบู่ดำในอนาคต

            พันธุ์สบู่ดำในปัจจุบันยังให้ผลผลิตต่ำมาก หากจะทำให้สบู่ดำเป็นพืชเศรษฐกิจ ต้องปรับปรุงพันธุ์ให้มีผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น เก็บเกี่ยวง่าย ลดปริมาณสารพิษในเมล็ด เพื่อใช้กากจากการหีบน้ำมันมาเป็นแหล่งโปรตีนในอาหารสัตว์ มีความทนทาน ต่อสภาพแวดล้อม โรค และแมลง แต่สบู่ดำมีความหลากหลายทางพันธุกรรมต่ำ การปรับปรุงพันธุ์ในอนาคต จึงควรประกอบด้วย งานวิจัยหลัก ๒ ด้าน คือ การพัฒนาเชื้อพันธุกรรมก่อนปรับปรุงพันธุ์ เพื่อสร้างและพัฒนาเชื้อพันธุกรรมให้มีความหลากหลาย เพิ่มขึ้น และการปรับปรุงพันธุ์ เพื่อนำเชื้อพันธุกรรมที่ได้มาใช้ประโยชน์ในแผนการปรับปรุงพันธุ์

๑. การพัฒนาเชื้อพันธุกรรมก่อนการปรับปรุงพันธุ์ (Pre-breeding work)

            เป็นส่วนของวิธีการสร้างและปรับปรุงเชื้อพันธุกรรมในพืชที่มีความแปรปรวนทางพันธุกรรมต่ำอย่างสบู่ดำ โดยวิธีการสร้างลูกผสม ข้ามชนิด (interspecific hybrid) เช่น สบู่ดำผสมกับเข็มปัตตาเวียแคระเพื่อให้มีทรงพุ่มเตี้ยลง ผสมกับมะละกอฝรั่ง (Jatropha multifida) เพื่อเพิ่มขนาดผล และวิธีการสร้างลูกผสมข้ามสกุล (intergeneric hybrid) โดยผสมข้ามระหว่างสบู่ดำกับละหุ่ง เพื่อเพิ่มคุณภาพน้ำมัน และทำให้สามารถเก็บเกี่ยวได้ง่ายขึ้น อันเป็นเชื้อพันธุกรรมใหม่ที่ดีสำหรับการพัฒนาพืชชนิดนี้ต่อไป ในอนาคต


ละหุ่ง

๒. การปรับปรุงพันธุ์ (Breeding  work)

            ภายหลังจากการได้เชื้อพันธุกรรมที่ดีแล้ว กระบวนการปรับปรุงพันธุ์ก็สามารถเริ่มจากการเกิดลูกผสม (hybridization) การคัดเลือก (selection) และการทดสอบผลผลิต (yield trial) เพื่อให้ได้พันธุ์ใหม่ที่มีคุณสมบัติตามวัตถุประสงค์ต่อไป


เข็มปัตตาเวีย