สภาพพื้นที่ การปลูก และการจัดการแปลงสบู่ดำในเชิงพาณิชย์
สบู่ดำเป็นพืชที่ค่อนข้างทนแล้งและดินเค็ม สามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินทุกชนิดและทุกสภาพพื้นที่ ยกเว้นที่ลุ่มน้ำขัง เนื่องจาก สบู่ดำไม่ทนทานต่อสภาวะน้ำท่วมขัง ดังนั้น ดินที่เหมาะสมในการปลูกสบู่ดำคือ ดินร่วนปนทราย เพราะสามารถระบายน้ำได้ดี
๑. การขยายพันธุ์และเตรียมต้นพันธุ์
สบู่ดำสามารถขยายพันธุ์ได้ทั้งอาศัยเพศโดยใช้เมล็ด (sexual propagation) และไม่อาศัยเพศ (asexual propagation) ซึ่งนิยมใช้กิ่งปักชำ ส่วนการเตรียมต้นกล้าก่อนนำไปปลูกมี ๒ แบบ คือ ต้นกล้าในถุงเพาะชำ และต้นกล้าแบบรากเปลือย
แปลงสบู่ดำอายุประมาณ ๕ เดือน
๑) การเตรียมต้นพันธุ์สบู่ดำในถุงเพาะชำ
การปลูกสบู่ดำโดยใช้ต้นกล้าในถุงเพาะชำ มีอัตราการรอดในแปลงปลูกสูงและเจริญเติบโตได้รวดเร็ว เนื่องจาก ระบบรากไม่ได้รับความกระทบกระเทือน การเตรียมต้นพันธุ์มีขั้นตอน ดังนี้
ต้นกล้าที่แข็งแรงจากการเพาะเมล็ดพันธุ์
ก. การเตรียมต้นพันธุ์สบู่ดำในถุงเพาะชำโดยการเพาะเมล็ด เริ่มจากนำเมล็ดมาเพาะ เมล็ดจะงอกภายใน ๗-๑๐ วันหลังเพาะ หากเพาะเมล็ดในถาดหลุมเล็ก ควรย้ายต้นกล้า (อายุ ๑๐-๑๕ วันหลังงอก) ลงถุงเพาะชำขนาด ๔×๖ นิ้ว บรรจุวัสดุเพาะชำ ที่มีส่วนผสมของแกลบดำ ขุยมะพร้าว และดินในอัตราส่วน ๑ : ๑ : ๒ จนกระทั่งต้นกล้ามีอายุ ๕๐-๖๐ วัน จึงย้ายลงปลูกในแปลงได้
กิ่งชำของสบู่ดำ
ข. การเตรียมต้นพันธุ์สบู่ดำในถุงเพาะชำโดยการปักชำ (cutting) เป็นวิธีที่ง่าย เริ่มจากการคัดเลือกกิ่งที่ไม่อ่อนหรือแก่จนเกินไป สังเกตจากกิ่งที่มีสีเขียวเทา ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของกิ่งที่เหมาะสมประมาณ ๒-๓ เซนติเมตร ความยาวของกิ่งชำ ๒๐-๒๕ เซนติเมตร มีตา ๓-๕ ตา โคนกิ่งตัดเฉียง ๕๐-๖๐ องศา นำกิ่งจุ่มฮอร์โมนเร่งรากกลุ่มออกซิน (auxin) ส่วนถุงเพาะชำใช้ขนาด ๔×๖ นิ้ว โดยบรรจุวัสดุเพาะชำที่มีส่วนผสมของแกลบดำ ขุยมะพร้าว และทราย ในอัตราส่วน ๑ : ๑ : ๑ จากนั้นปักท่อนพันธุ์ ลงในวัสดุเพาะชำให้ลึกประมาณ ๕ เซนติเมตร แล้วนำไปอนุบาลในโรงเรือนที่มีซาแลนพรางแสงร้อยละ ๗๐-๘๐ กิ่งพันธุ์จะเริ่มออกรากและแตกยอดจากตากิ่งภายใน ๑๕-๒๐ วัน หลังจากปักชำ อนุบาลจนต้นกล้ากิ่งชำแข็งแรง โดยทั่วไป สามารถย้ายกิ่งชำไปปลูกในแปลงได้หลังจากการปักชำ ๕๕-๗๐ วัน
๒) การเตรียมต้นพันธุ์สบู่ดำแบบรากเปลือย
ในกรณีที่ต้องการผลิตต้นกล้าจำนวนมาก การผลิตแบบรากเปลือยหรือเปลือยราก เป็นวิธี ที่สะดวก รวดเร็ว มีต้นทุนต่ำ แต่เมื่อนำไปปลูกในแปลงจะมีอัตรารอดต่ำกว่าต้นกล้า ในถุงเพาะชำ และช่วงแรกจะชะงักการเจริญเติบโต เนื่องจาก ระบบรากได้รับความกระทบกระเทือน อนึ่ง การปลูกด้วยต้นกล้าแบบนี้ จำเป็นต้องมีความชื้นในดินที่เหมาะสม เพื่อเร่งการแตกรากใหม่ จึงควรปลูกในช่วง ฤดูฝน และไม่ควรเก็บต้นกล้าที่เปลือยรากไว้เกิน ๔ วัน การผลิตต้นกล้าแบบนี้ สามารถทำได้ทั้งจากเมล็ดและกิ่งชำ
กิ่งท่อนพันธุ์จุ่มฮาร์โมนเร่งราก
ก. การเตรียมต้นพันธุ์สบู่ดำแบบรากเปลือยจากการเพาะเมล็ด เริ่มจากคัดเลือกเมล็ดที่สมบูรณ์ แล้วนำมาเพาะในแปลงกว้าง ๑-๑.๒ เมตร ความยาวตามแต่กำหนด ความสูง ๒๐-๒๕ เซนติเมตร จากนั้นจึงหว่านหรือหยอดเมล็ดลงในแปลง ซึ่งสามารถทำได้ ๓ วิธี คือ วิธีแรก โดยเจาะหลุมบนแปลงด้วยไม้ปลายแหลมให้ลึกประมาณ ๒-๒.๕ เซนติเมตร แต่ละหลุมห่างกัน ๑๐-๑๕ เซนติเมตร หยอดเมล็ดลงในหลุมแล้วกลบดิน วิธีนี้จะได้ต้นกล้าที่มีขนาดสม่ำเสมอ แต่ใช้เวลาในการหยอดเมล็ดค่อนข้างนาน วิธีที่ ๒ โดยการหว่านเมล็ดสบู่ดำลงบนแปลงเพาะให้กระจายทั่วแปลง แล้วใช้คราดเกลี่ยดินกลบ วิธีนี้ทำได้ง่าย รวดเร็ว แต่ต้นกล้า จะงอกไม่สม่ำเสมอ วิธีที่ ๓ เริ่มจากการขีดแนวตื้นๆ ยาวตลอดแปลง หรือแนวขวางแปลง ตามแต่ความสะดวก ร่องที่ขีด ลึกประมาณ ๔-๕ เซนติเมตร แต่ละแนวขีดห่างกัน ๑๕ เซนติเมตร จากนั้นหว่านหรือหยอดเมล็ดลงบนแนวขีดห่างๆ กลบด้วยดิน ข้างๆ แนวขีดของร่อง หลังจากหยอดเมล็ด เมล็ดจะเริ่มงอกภายใน ๗-๑๐ วัน เมื่อเมล็ดงอกแล้ว ต้องคอยกำจัดวัชพืช ควบคู่กับ การให้ปุ๋ยยูเรีย (๔๖-๐-๐) ในอัตรา ๑๐ กิโลกรัมต่อไร่ เมื่อต้นกล้าอายุ ๙๕-๑๒๐ วัน (สูงประมาณ ๓๐-๔๐ เซนติเมตร ฐานโคนต้นกล้ามีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒-๓ เซนติเมตร) จึงถอนต้นกล้าหรือใช้เสียมงัดขึ้นมา แล้วนำไปล้างราก จุ่มสารป้องกันเชื้อรา เช่น ไทอะเบนดาโซล (thiabendazole) คอปเปอร์ออกซิคลอไรด์ (copper oxychloride) หรือเบนเลต (benlate) เพื่อป้องกันโรครากเน่า จากนั้นสามารถนำไปปลูกในแปลงปลูกได้

วัสดุเพาะชำ
ข. การเตรียมต้นพันธุ์สบู่ดำแบบรากเปลือยจากการปักชำกิ่ง เริ่มจากการเตรียมกิ่งที่เหมาะสมดังกล่าวไว้ข้างต้น นำกิ่งมาปักชำ ลงในแปลงขนาดความกว้าง ๑-๑.๒ เมตร ความยาวตามแต่กำหนด ความสูง ๒๐-๒๕ เซนติเมตร พรางแสงด้วยซาแลนร้อยละ ๗๐-๘๐ ปักกิ่งชำลึก ๕-๘ เซนติเมตร ห่างกัน ๑๕ เซนติเมตร กิ่งชำจะเริ่มออกรากและแตกยอดภายใน ๑๕-๒๐ วัน คอยกำจัดวัชพืชบนแปลง เมื่อกิ่งชำอายุประมาณ ๔๕ วัน ควรให้ปุ๋ยยูเรียอัตรา ๑๐ กิโลกรัมต่อไร่ โดยหว่านบนแปลง แล้วรดน้ำตาม หรือละลายปุ๋ยกับน้ำในอัตรา ๑๕-๒๐ กรัมต่อน้ำ ๑๐ ลิตร แล้วรด เมื่อต้นกล้ากิ่งชำมีอายุได้ ๙๐-๑๐๐ วัน สามารถถอนหรือใช้เสียมงัดขึ้นมา นำไปล้างราก แล้วจุ่มสารป้องกันเชื้อรา เช่น คอปเปอร์ออกซิคลอไรด์ ไทอะเบนดาโซล หรือเบนเลต แล้วนำไปปลูก
ถุงเพาะชำที่บรรรจุวัสดุเพาะ
๒. การเตรียมแปลงปลูก
ความแตกต่างของสภาพพื้นที่และภูมิประเทศ ตลอดจนรูปแบบการจัดการ ทำให้วิธีการเตรียมแปลงปลูกสบู่ดำแตกต่างกันออกไป ซึ่งสามารถแบ่งออกได้ดังนี้

ต้นกล้าแบบรากเปลือย
จากการเพาะเมล็ด
๑) การเตรียมแปลงแบบไม่มีการไถพรวนดิน
เหมาะสำหรับพื้นที่ดอน ซึ่งน้ำไม่ท่วมขัง หรือปลูกแบบสวนป่า ร่วมกับต้นไม้ชนิดอื่นโดยอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก การเตรียมพื้นที่ ทำได้เพียงกำจัดวัชพืชก่อนปลูกต้นกล้าเท่านั้น การเตรียมแปลงแบบนี้ จะประหยัดค่าใช้จ่ายในการไถพรวน แต่ถ้าสภาพดินแน่นเกินไปไม่ควรใช้วิธีนี้ เพราะจะทำให้ระบบรากของสบู่ดำไม่สมบูรณ์
๒) การเตรียมแปลงแบบมีการไถพรวนดินและยกร่อง
วิธีนี้เหมาะกับทุกพื้นที่ การไถพรวนจะทำให้ดินร่วนซุย สามารถสูบน้ำเข้าแปลงหรือระบายน้ำออก เมื่อน้ำท่วมขัง ผ่านร่องระหว่างแปลง ปกติจะไถหน้าดินด้วยผาลสามลึก ๓๐-๕๐ เซนติเมตร และไถซ้ำด้วยผาลเจ็ด เพื่อให้ดินร่วน ง่ายต่อการขึ้นร่อง จากนั้นยกแปลงกว้าง ๑๐๐-๑๕๐ เซนติเมตร สูง ๒๕-๓๐ เซนติเมตร ร่องน้ำกว้าง ๗๐-๑๐๐ เซนติเมตร และขุดหลุมกลางสันร่องให้มีขนาดกว้างxยาวxลึก ประมาณ ๒๕×๒๕×๒๕ เซนติเมตร
การเตรียมดินและยกร่องแปลงปลูกสบู่ดำ
๓. การปลูก
หลังจากเตรียมพื้นที่เสร็จแล้ว สามารถนำต้นกล้าลงปลูก หากใช้ระยะปลูก ๑x๒ เมตร จะได้จำนวนต้น ๘๐๐ ต้นต่อไร่ ระยะปลูก ๒x๒ เมตรจะได้ ๔๐๐ ต้นต่อไร่ ระยะปลูก ๒x๓ เมตรจะได้ ๒๖๖ ต้นต่อไร่ และระยะปลูก ๓x๓ เมตรจะได้ ๑๗๗ ต้นต่อไร่ ทั้งนี้ ก่อนนำต้นกล้าลงปลูก ควรใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักรองก้นหลุมประมาณ ๒๐๐-๓๐๐ กรัมต่อหลุม ควรปลูกในช่วงฤดูฝน เพราะต้นกล้าสามารถฟื้นตัวได้ดี อย่างไรก็ตาม สามารถปลูกได้ทุกฤดูกาลหากมีการจัดการให้น้ำในช่วงต้นกล้าได้
การปลูกสบู่ดำ
๔. การจัดการและบำรุงรักษา
๑) การดูแลรักษาต้นปลูกใหม่ในปีแรก
เมื่อต้นสบู่ดำอายุประมาณ ๒-๓ เดือน ควรเด็ดยอดเพื่อให้มีการแตกตาข้างเพิ่มขึ้น และควรให้ปุ๋ยยูเรียในอัตรา ๒๕-๓๐ กิโลกรัมต่อไร่ เมื่อต้นสบู่ดำอายุ ๔-๕ เดือน ควรให้ปุ๋ยสูตรเสมอ (๑๕-๑๕-๑๕ หรือ ๑๖-๑๖-๑๖) อีกครั้งในอัตรา ๒๐-๒๕ กิโลกรัมต่อไร่ ต้นสบู่ดำจะเริ่มให้ผลผลิตเมื่ออายุประมาณ ๖ เดือน เมื่อต้นอายุประมาณ ๑ ปี ต้องตัดแต่งกิ่งให้สูงจากพื้นดิน ประมาณ ๗๕-๑๐๐ เซนติเมตร ให้มีกิ่งเหลืออยู่ประมาณ ๕-๘ กิ่งต่อต้น
การใส่ปุ๋ยสบู่ดำที่มีอายุ ๔- ๕ เดือน (เริ่มมีดอกอ่อน)
๒) การดูแลรักษาแปลงสบู่ดำหลังจากปีแรก
หลังการตัดแต่งกิ่งในปีแรก ควรให้น้ำและปุ๋ยยูเรีย (๔๖-๐-๐) ประมาณ ๒๐ กิโลกรัมต่อไร่ เพื่อเร่งการแตกตา เมื่อต้นมีอายุ ๖๕-๗๐ วัน หลังการตัดแต่งกิ่ง ควรให้ปุ๋ยสูตรเสมอในอัตรา ๒๐-๒๕ กิโลกรัมต่อไร่ จากนั้นประมาณ ๒ เดือน สบู่ดำจะเริ่มให้ผลผลิตอย่างต่อเนื่องจนครบ ๑ ปี จึงตัดแต่งกิ่งใหม่อีกครั้ง
๕. การเก็บเกี่ยว
สบู่ดำเป็นพืชที่ทยอยให้ผลผลิต ดังนั้น จึงควรเก็บเกี่ยวผลผลิตทุกๆ ๒ สัปดาห์ โดยใช้มือปลิดผลที่เป็นสีเหลืองและสีน้ำตาล ผลผลิตที่ได้ควรนำมาผึ่งแดดให้แห้งประมาณ ๓-๕ วัน แล้วนำไปกะเทาะเปลือกออก เพื่อนำเมล็ดไปหีบน้ำมันต่อไป
การกะเทาะเปลือกผลเพื่อแยกเมล็ด
๖. โรคและแมลงที่สำคัญ
๑) โรคที่พบในสบู่ดำ
ก. โรคใบจุด (leaf spot) พบการระบาดมากในช่วงปลายฤดูฝนและต้นฤดูหนาว มีสาเหตุจากเชื้อรา Atternaria spp. และ Helminthosporium spp. เชื้อมักเข้าทำลายที่ใบ แต่ในต้นกล้าอาจแสดงอาการเป็นจุดแผลเล็กๆ สีน้ำตาลที่ใบ ใบที่โตเต็มที่แล้ว มักพบแผลเป็นวงกลมสีน้ำตาล รอบนอกใบเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและร่วงในที่สุด สามารถสังเกตเห็นเชื้อราชั้นบางๆ บนแผล
โรคใบจุดในสบู่ดำ
ข. โรครากและโคนเน่า (root and stemt rot) มักพบในฤดูฝนที่มีความชื้นในดินสูง มีสาเหตุจากเชื้อรา Pythium spp., Phytophthora spp. และ Fusarium spp. ทำให้รากเน่า ใบร่วง และยืนต้นตาย
สบู่ดำที่เป็นโรครากและโคนเน่า
ค. โรคไวรัสใบด่าง (Jatropha mosaic virus: JMV) พบระบาดทั้งในต้นกล้าและต้นโต โดยต้นกล้ามีอาการใบยอดบิดม้วนงอลง ใบที่เกิดมาใหม่จะด่าง มีขนาดเล็กและย่น ต้นแคระแกร็น กิ่งและข้อสั้น รูปร่างอาจบิดเบี้ยว ส่วนการระบาดในต้นโต มักพบอาการใบด่าง โตช้า ให้ผลผลิตลดลง เชื้อไวรัสใบด่างสามารถถ่ายทอดได้ ทางเมล็ดพันธุ์ และแมลงปากดูด เช่น เพลี้ยต่างๆ พืชอาศัย (alternate host) เป็นพืชในวงศ์ข้างเคียงกับสบู่ดำ เช่น ละหุ่ง มันสำปะหลัง
๒) แมงและแมลงที่พบในสบู่ดำ
ก. ไรขาว เป็นศัตรูที่สร้างความเสียหายให้แก่สบู่ดำอย่างมาก ตัวไรมีขนาดเล็กมาก เกือบมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า สีขาวใส เข้าทำลายโดยดูดกินน้ำเลี้ยงที่ใบบริเวณส่วนยอด ทำให้ใบเล็ก หนา และขรุขระ มีการสังเคราะห์แสงน้อยลง ผลผลิตเสียหาย มากกว่าร้อยละ ๗๐
ข. มวนตองแตก เป็นมวนหลังแข็ง บนหลังมีสีเหลืองอมเขียว จุดดำหรือน้ำตาล มวนชนิดนี้เข้าทำลายโดยเจาะดูดน้ำเลี้ยง ที่ผลอ่อนของสบู่ดำ ทำให้ผลฝ่อและเน่า
มวนตองแตกตัวเต็มวัย
ค. เพลี้ยแป้ง เพลี้ยแป้งเป็นแมลงปากดูดขนาดเล็ก ที่ขับขี้ผึ้งสีขาวคลุมตัวไว้ เคลื่อนที่ได้แต่ช้ามาก ชอบดูดน้ำเลี้ยง จากส่วนที่อ่อนของลำต้น ยอด ใต้ใบ และช่อผลของสบู่ดำ มักพบระบาดมากในระยะต้นกล้า ทำให้ยอดหงิก ไม่เจริญเติบโต
เพลี้ยแป้ง
ง. เพลี้ยหอย เป็นแมลงปากดูด ลำตัวมีสีน้ำตาล มีเกราะหุ้มเป็นไข เข้าทำลาย โดยดูดน้ำเลี้ยงบริเวณกิ่ง ก้าน และใต้ใบของสบู่ดำ แต่สร้างความเสียหายไม่มากนัก
เพลี้ยหอย
จ. เพลี้ยไฟ เป็นแมลงปากดูดขนาดเล็ก ตัวเต็มวัยสีดำ ตัวอ่อนสีเหลืองอ่อน เพลี้ยไฟทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะทำลายสบู่ดำ โดยการดูดกินน้ำเลี้ยงที่ใบ ทำให้เกิดเป็นรอยไหม้สีน้ำตาลเทา พบระบาดมากในฤดูแล้ง
เพลี้ยไฟ ตัวแก่สีดำ ตัวอ่อนสีส้ม