การรักษาบาดแผลและกระดูกแตก
หักบริเวณใบหน้าบาดแผลบริเวณใบหน้ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากเกี่ยวข้องกับอวัยวะพิเศษหลายอย่าง และใบหน้า เป็นบริเวณที่จะต้องคงความสวยงามไว้ ดังนั้น ศัลยแพทย์จะต้องใช้การดูแลเป็นพิเศษกับเนื้อเยื่อบริเวณรอบเบ้าตาและบริเวณแก้ม ซึ่งมีเส้นประสาทสมองคู่ที่ ๗ ต่อมน้ำลายซึ่งมีท่อน้ำลาย บาดแผลในช่องปากและริมฝีปาก บาดแผลที่รูจมูก หลักในการรักษาคือ การเย็บซ่อมแซมเพื่อให้กลับเข้าสู่ตำแหน่งและสภาพปกติให้มากที่สุด โดยมีจุดเป้าหมายสำคัญที่ช่วยให้ศัลยแพทย์ สามารถต่ออวัยวะเหล่านั้น กลับเข้าที่ได้อย่างดี เช่น ขอบคิ้ว ขอบเปลือกตา แนวขนตา แนวริมฝีปากแดง ส่วนการขาดหาย ของเนื้อเยื่ออ่อนที่หลุดไปนั้นก็สามารถแก้ไขได้ โดยใช้หลักการศัลยกรรมตกแต่งที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น
กระดูกใบหน้าหักจากแผลที่ถูกขวานฟัน
ใบหน้ามีกระดูกหลายชิ้นที่ต่อเนื่องลงมาจากกะโหลกศีรษะ ประกอบด้วย กระดูกหน้าผาก กระดูกกระบอกตา กระดูกโหนกแก้ม กระดูกจมูก กระดูกขากรรไกรบน กระดูกขากรรไกรล่าง และมีไซนัสหรือโพรงอากาศอยู่หลายๆ จุด เช่น บริเวณกลางหว่างโหนกคิ้ว บริเวณ ethmoid บริเวณกระดูกขากรรไกรบน หลักในการรักษากระดูกแตกหักเหล่านี้ก็คือ การนำกระดูกที่มีการเคลื่อนเลื่อนที่ออกไป ให้กลับเข้าสู่ตำแหน่งปกติ และยึดตรึงเอาไว้ในตำแหน่งนั้น จนกว่ากระดูกจะมีการสมานหายในที่สุด
ในอดีต การนำกระดูกกลับเข้ามาเรียงตัวมักใช้วิธียึดตรึงด้วยการร้อยลวดและมัด ปัจจุบันมีวัสดุ ที่สามารถช่วยทำให้ยึดตรึงได้แน่นยิ่งขึ้น ทำให้ผู้ป่วยขยับได้เร็วกว่าเดิม โดยการใช้เหล็กดาม (plate) และสกรูตัวขนาดจิ๋ว
ภาพรังสีของกระดูกใบหน้าที่แตกหัก ถูกยึดตรึงด้วยอุปกรณ์เหล็กดามและสกรู ในการรักษากระดูกแตก
ในกรณีของบริเวณขากรรไกรบนและล่าง การจัดเรียงกระดูกจะต้องพิจารณาถึงการสบฟันให้ตรงกับตำแหน่งเดิม ที่ผู้ป่วยมีการสบฟันอยู่แล้ว อาจใช้วิธีการมัดฟันติดกัน หรือถ้าสามารถตรึงได้ด้วยเหล็กดามและสกรูจนแข็งแรงพอ ก็สามารถเอาสิ่งมัดฟันออกได้ทันทีหลังผ่าตัด ซึ่งช่วยไม่ให้ผู้ป่วยทรมาน