เล่มที่ 39
ศัลยกรรมตกแต่ง
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การหาผิวหนังมาปกปิดบาดแผลกว้าง

กรณีบาดแผลกว้างเกินไปจนไม่สามารถเย็บปากแผลเข้าหากันได้ สามารถที่จะทำการผ่าตัดแก้ไขโดยใช้หลักดังนี้

            ๑. ใช้การปลูกถ่ายผิวหนัง (skin graft) การปลูกถ่ายผิวหนังเป็นการย้ายผิวหนังจากบริเวณที่จะนำไปปลูกถ่าย ซึ่งเรียกว่า บริเวณผู้ให้ (donor site) ไปวางลงบริเวณบาดแผลเปิดที่เรียกว่า บริเวณผู้รับ (recipient site) โดยหนังที่ถูกถากไป จะถูกตัดขาดอย่างสิ้นเชิงจากบริเวณผู้ให้ และจะสามารถรอดอยู่ได้ และ "ติด" (take) ในบริเวณผู้รับ เนื่องจาก ได้รับสารอาหารออกซิเจนจากบริเวณที่ผิวหนังปลูกถ่ายที่นำไปวางลงไว้นั้น ดังนั้น บริเวณนั้นต้องไม่ใช่บริเวณซึ่งเป็นกระดูก ที่ไม่มีเยื่อหุ้ม หรือบริเวณที่มีเลือดมาเลี้ยงน้อย เช่น บาดแผลที่ถูกฉายรังสี รวมทั้งบริเวณที่มีเส้นเอ็นหรือเส้นประสาท ที่ไม่มีเยื่อหุ้มโผล่ออกมา ซึ่งกรณีเหล่านี้ต้องพิจารณาใช้แผ่นหนัง (skin flap) แทน

            ผิวหนังที่ปลูกถ่ายมานี้อาจมีขนาดความหนาเท่ากับผิวหนังเอง เรียกว่า full-thickness skin graft หรืออาจถากมาบางๆ เพียงบางส่วนของผิวหนัง เรียกว่า partial-thickness skin graft โดยในกรณีแรกบริเวณผู้ให้นั้นจะต้องเย็บปิดได้ ซึ่งมักใช้บริเวณ ที่ผิวหนังหย่อนพอควร เช่น หลังหู เหนือกระดูกไหปลาร้า ขาหนีบ ส่วนในกรณีหลังมักใช้บริเวณต้นขาอ่อน หรือบริเวณก้น ผิวหนังที่ถูกถากออกไปสามารถที่จะหายเองได้ โดยการงอกของเซลล์ผิวหนังจากต่อมเหงื่อ ต่อมไขมัน และรูขุมขนบริเวณนั้น


แผ่นหนังซึ่งย้ายจากบริเวณไหล่ ไปปิดบริเวณขากรรไกรล่าง โดยบริเวณผู้ให้ก็ถูกปิดแทนด้วยการปลูกถ่ายผิวหนัง

            ๒. แผ่นหนัง (skin flap) เป็นผิวหนังกับไขมันที่อยู่ภายใต้ผิวหนัง ที่ย้ายจากบริเวณหนึ่งไปปกปิดบริเวณข้างเคียง โดยมีเลือดมาหล่อเลี้ยงบริเวณขั้วของแผ่นหนังนี้ ดังนั้น ไม่ต้องอาศัยอาหารและสารน้ำจากบริเวณที่แผ่นหนังนั้นไปปกปิดก็ได้ จึงเหมาะใช้ในบริเวณที่ผิวหนังขาดหายและไม่สามารถปิดได้ด้วยการปลูกถ่ายผิวหนัง นอกจากนี้ยังใช้แผ่นหนังบริเวณใบหน้า มากกว่าการปลูกถ่ายผิวหนัง เนื่องจากหนังที่ย้ายไปจะมีสี และมีความนุ่มนวล ดีกว่าหนังที่ปลูกถ่าย จึงให้ผลที่สวยงามมากกว่า


การใช้เทคนิคสร้างปีกจมูกที่เป็นมะเร็งผิวหนัง โดยย้ายแผ่นหนังจากร่องแก้มไปสร้างปีกจมูก

            แผ่นหนังกับไขมันนี้อาจจะย้ายไปพร้อมกับกล้ามเนื้อ (myocutaneous flap) หรือไปทั้งกระดูก (osteomyocutaneous flap) เพื่อวัตถุประสงค์ในการใช้กระดูกไปทดแทนตำแหน่งที่กระดูกขาดหายไป ส่วนกล้ามเนื้อมักใช้เพียงเพื่อให้ได้แผ่นหนังขนาดใหญ่ เพราะกล้ามเนื้อมักมีหลอดเลือดใหญ่ที่เลี้ยงผิวหนังบริเวณกว้างขวางกว่า

            ๓. กรณีที่แผ่นหนังไม่สามารถย้ายไปบริเวณใกล้เคียงได้ ปัจจุบันมีเทคนิคทางจุลศัลยกรรม ที่สามารถตัดยกแผ่นหนังทั้งหมด ไปต่อในบริเวณที่ห่างไกล โดยใช้จุลศัลยกรรมการต่อหลอดเลือดแดง การต่อหลอดเลือดดำ และบางครั้งใช้การต่อเส้นประสาท ในที่ใหม่ที่ห่างไกล เรียกเทคนิคนี้ว่า microvascular free tissue transfer หรือนิยมเรียกกันสั้นๆ ว่า free flap คำว่า free ในที่นี้หมายถึง การตัดขาดซึ่งหลอดเลือดที่มาเลี้ยงอย่างสิ้นเชิง