การรักษาบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก
บาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกอาจเกิดจากความร้อน สารเคมี กระแสไฟฟ้า รังสี เป็นต้น ซึ่งศัลยแพทย์จะต้องใช้หลัก ในการประเมินความลึก ความกว้าง ตำแหน่งของบาดแผล รวมทั้งชนิดของความร้อน การบาดเจ็บที่อาจพบร่วม และโรคประจำตัวเดิมของผู้ป่วย
ในการประเมินความลึกของบาดแผลจะช่วยบอกแผนการรักษาและการพยากรณ์โรค สามารถแบ่งออกได้ ๓ ระดับ คือ
ผิวหนังที่ถูกแดดเผาระดับ ๑
ความลึกระดับ ๑ (First degree burn)
ได้แก่ ความลึกระดับผิวเผิน ลักษณะผิวหนังแดง และมีอาการปวดแสบปวดร้อน มักพบได้ในกรณีที่ผิวหนัง ถูกแสงแดดเป็นเวลานาน ที่เรียกว่า sun burn วิธีการรักษาผิวหนัง ได้แก่ การให้ยาแก้ปวด การดูแลผิวหนังบริเวณนั้นโดยใช้ขี้ผึ้ง เพื่อป้องกันการติดเชื้อ และลดอาการเจ็บปวด ต่อมาผิวหนังอาจจะลอกออกบางๆ และหายได้เองในที่สุด เนื่องจากมีรูขุมขน ต่อมเหงื่อ และต่อมไขมัน สร้างเยื่อบุขึ้นมาทดแทน
ความลึกระดับ ๒ (Second degree burn)
ได้แก่ ผิวหนังที่ถูกทำลายในระดับปานกลาง ซึ่งลักษณะจะเป็นตุ่มน้ำพุพองออกมา หรือบางครั้งแตกเป็นน้ำเหลืองไหลออกมา ผิวหนังที่อยู่ภายใต้จะมีสีแดงและปวดแสบปวดร้อนมาก แผลชนิดนี้สามารถหายเองได้ถ้ามีการป้องกันการติดเชื้อเป็นอย่างดี โดยเทคนิคต่างๆ ของการทำแผล ไม่ว่าจะเป็นแบบเปิด (open technique) โดยทำแผลเป็นระยะ (semi-open technique) เช่น ทำทุกวัน วันละ ๑-๒ครั้ง หรือวันเว้นวัน ซึ่งเหมาะสำหรับบริเวณใบหน้าหรือหน้าอก และแบบปิด (closed technique) โดยการทำความสะอาดแผลอย่างดีแล้วปิดแผลไว้ระยะหนึ่ง จนกว่าเซลล์ผิวหนังจะงอกมาปกคลุมบาดแผลเรียบร้อยในเวลา ๑-๒ สัปดาห์
บาดแผลน้ำร้อนลวกลึกระดับ ๒
ความลึกระดับ ๒ ที่ลึกมากเป็นพิเศษ (deep second degree burn) ถ้าปล่อยให้หายเอง จะใช้เวลานาน เช่น ระยะ ๓-๔ สัปดาห์ ในกรณีนี้ อาจพิจารณาทำการปลูกถ่ายผิวหนัง เพื่อให้หายเร็วขึ้น
และป้องกันไม่ให้เกิดแผลเป็นปูดเกิน (hypertrophic scar) ภายหลัง
ความลึกระดับ ๓ (Third degree burn)
ผิวหนังจะมีลักษณะซีดขาว แข็ง หมดความรู้สึกบริเวณนั้น อาจเห็นร่างแหของหลอดเลือดเป็นสีน้ำตาลอยู่ภายใต้ผิวหนัง ความลึกระดับนี้ เยื่อบุผิวหนังจะไม่สามารถงอกออกมาได้อีกต่อไป จึงจำเป็นจะต้องทดแทนด้วยวิธีการปลูกถ่ายผิวหนัง เพื่อรักษา หรือการใช้แผ่นหนังปิด เมื่อมีข้อบ่งชี้
บาดแผลไฟฟ้าช็อตและไหม้
ระดับ ๓ - ๔
นอกจากต้องประเมินความลึกของบาดแผลแล้ว ต้องมีการประเมินขอบเขตว่า มีบริเวณเพียงใดของผิวหนัง เพื่อประเมินความรุนแรงของการสูญเสียสารน้ำในร่างกาย รวมทั้งเกลือแร่ โดยมีหลักที่จะต้องทดแทนสารน้ำ และเกลือแร่ ในรายที่ไฟไหม้น้ำร้อนลวก มีบาดแผลบริเวณกว้าง หลังจากบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกหายแล้ว จะต้องพิจารณาให้การดูแลต่อไป คือ การป้องกันการเกิดแผลเป็นปูดเกิน และการหดรั้ง ของบาดแผล ซึ่งหลักการประกอบด้วยการทำให้แผลนุ่มลง การนวด และการบริหารข้อต่อต่างๆ เพื่อป้องกันการหดยึด และในบางครั้ง ต้องใช้การดามบริเวณข้อ ในลักษณะเหยียดไว้ในเวลากลางคืน นอกจากนี้ การป้องกันไม่ให้สีผิวคล้ำดำ จากการถูกแสงแดด ก็จำเป็นต้องทำในระยะ ๓-๖ เดือนแรก โดยการหลีกเลี่ยงแสงแดด และการใช้ครีมกันแดด