เล่มที่ 39
ศัลยกรรมตกแต่ง
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การดูแลบาดแผล

            บาดแผล คือ การฉีกขาดของผิวหนัง ซึ่งเป็นผลจากมีปัจจัยภายนอกมาทำให้ผิวหนังปริออก พบได้หลายกรณี เช่น จากอุบัติเหตุ จากการผ่าตัด


แผ่นหนังที่ถูกขยายด้วยเครื่องยืด เพื่อปิดบาดแผลขนาดใหญ่

            การเตรียมบาดแผลที่เพิ่งจะได้รับอุบัติเหตุเพื่อการเย็บปิด มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้แผลปนเปื้อนเพิ่มเติม และให้การไหลเวียนโลหิตบริเวณนั้นดีที่สุด หลักการในการดูแลบาดแผลกลุ่มนี้คือ การกำจัดสิ่งแปลกปลอมที่ปะปนเข้ามากับแผล ให้หมดไป ลดการติดเชื้อ และเปลี่ยนจากแผลเปิดให้แผลปิดโดยการเย็บ อาจใช้ยาชาระงับความรู้สึกเฉพาะที่ หรือดมยาสลบ ก็แล้วแต่กรณี ในกรณีบาดแผลกว้างจนไม่สามารถเย็บปิดแผลได้ ก็จะทำการผ่าตัดแก้ไข หลังจากการเย็บแผลปิดแล้ว ควรให้ยาปฏิชีวนะ เพื่อลดอัตราการติดเชื้อ และดูแลบาดแผลให้สะอาด จนกว่าแผลจะสนิทหายดี ซึ่งมักจะมีการตัดไหมในระยะ ๕-๗ วันหลังจากนั้น

            แผลเปิดเรื้อรัง วัตถุประสงค์ของการดูแลเพื่อเปลี่ยนให้เป็นแผลปิดได้ ไม่ว่าโดยวิธีทำแผลจนกระทั่งมีเซลล์ผิวหนังงอกมาปกคลุม จนหาย หรือใช้วิธีการปลูกถ่ายผิวหนังหรือย้ายแผ่นหนังข้างเคียงมาปิด ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป ในกรณีแผลค่อนข้างใหม่ เนื้อเยื่อแกรนูเลชัน (granulation) ซึ่งประกอบด้วยเม็ดเลือดขาว เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน และเซลล์อักเสบเรื้อรังยังไม่เกิดขึ้น การทำแผลควรทำด้วยวิธีเปียก (wet dressing) ร่วมกับการตัดเล็มเนื้อตาย และขจัดสิ่งแปลกปลอม ทำให้ลดจำนวนเชื้อโรค เมื่อแผลสะอาดดีจึงพิจารณาปิดแผลต่อไป ในปัจจุบันยังมีวัสดุปิดแผลที่สามารถสร้างความชุ่มชื้นให้แผลอยู่ตลอดเวลา (moist environment) โดยไม่ต้องเปลี่ยนบ่อยๆ เหมือนการทำแผลด้วยวิธีเปียก และสามารถซึมซับเชื้อโรคออกจากแผลได้มากขึ้น