เล่มที่ 39
ศัลยกรรมตกแต่ง
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ศัลยกรรมใบหน้าและกะโหลกศีรษะ

Cranio-Maxillo-Facial Surgery คือ ศัลยกรรมสาขาหนึ่งซึ่งเกี่ยวข้องกับบริเวณกระดูกใบหน้าและกะโหลกศีรษะ

            การผ่าตัดบริเวณใบหน้าและกะโหลกศีรษะมีความเกี่ยวข้องกับผู้เชี่ยวชาญต่างๆ มากมาย เนื่องจากมีขอบเขตบริเวณกว้าง และแต่ละส่วนมีกายวิภาคที่ค่อนข้างมีลักษณะจำเพาะ ตลอดจนมีความสำคัญทั้งรูปทรงของใบหน้าและกะโหลกศีรษะ รวมทั้ง หน้าที่การทำงานต่างๆ จึงจำเป็นต้องอาศัยทีมสหวิทยาการมาร่วมมือกันทำงาน ซึ่งโดยทั่วไปมักประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ดังต่อไปนี้

๑.  ศัลยแพทย์ตกแต่ง
๒.  ประสาทศัลยแพทย์
๓.  กุมารแพทย์
๔.  ทันตแพทย์สำหรับเด็ก
๕.  ทันตแพทย์จัดฟัน
๖.  นักอรรถบำบัด
๗.  จักษุแพทย์
๘.  แพทย์ด้านโสต นาสิก ลาริงซ์
๙.  แพทย์ด้านพันธุกรรมศาสตร์
๑๐.  รังสีแพทย์
๑๑.  วิสัญญีแพทย์
๑๒. จิตแพทย์
๑๓.  พยาบาลผู้เชี่ยวชาญ
๑๔.  นักสังคมสงเคราะห์
๑๕.  ผู้ประสานงานธุรการ

            ความเจริญก้าวหน้าของการยึดตรึงกระดูก เทคนิคการผ่าตัด การทำงานเป็นทีม และความเจริญก้าวหน้า ของเทคนิคการเอกซเรย์พิเศษต่างๆ นั้นนำไปสู่การวางแผนการผ่าตัดที่ซับซ้อนขึ้น มีการตัดกระดูกออกจากกัน และเลื่อนให้เคลื่อนไปในตำแหน่งที่ต้องการ แล้วยึดตรึงด้วยเหล็กดามและสกรูในที่ใหม่ เป็นจุดเริ่มต้นของศัลยกรรมใบหน้า และกะโหลกศีรษะในยุคใหม่ ซึ่งเพิ่งเริ่มมาไม่กี่สิบปี โดย ดร.ปอล เตสิเยร์ (Dr.Paul Tessier) แพทย์ชาวฝรั่งเศส ซึ่งน่าจะถือเป็น บิดาแห่งศัลยกรรมใบหน้าและกะโหลกศีรษะ


การยึดตรึงปลายคางที่ถูกเลื่อยและเลื่อนไปข้างหน้าด้วยวัสดุดาม และสกรูขนาดจิ๋ว

โรคแนวตะเข็บกะโหลกศีรษะปิดเร็ว (Craniosynostosis)

            เป็นความผิดรูปของกะโหลกศีรษะที่เกิดเนื่องจาก มีการเชื่อมติดกันของแนวตะเข็บของกะโหลกศีรษะ (suture) เร็วเกินไป ทำให้เกิดการบิดเบี้ยวของกะโหลกศีรษะในลักษณะต่างๆ เช่น กะโหลกหน้าผากแบนข้างเดียว (plagiocephaly) กะโหลกหน้าผากมีสันตรงกลางนูนคล้ายสามเหลี่ยม (trigonocephaly) กะโหลกยาวแนวหน้า-หลังคล้ายเรือ (scaphocephaly) กะโหลกสั้นกว่าปกติแนวหน้า-หลัง (brachycephaly) ซึ่งเกิดจากการเชื่อมติดเร็วกว่ากำหนดของตะเข็บกะโหลกด้านหน้า (coronal suture) เพียงข้างเดียว ตะเข็บกลางหน้าผาก (metopic suture) ตะเข็บแนวหน้า-หลัง (sagittal suture) และตะเข็บกะโหลกด้านหน้า (coronal suture) ซึ่งเกิดทั้ง ๒ ข้างตามลำดับ เดิมประสาทศัลยแพทย์จะเป็นผู้ให้การรักษา โดยการพยายามตัดบริเวณตะเข็บกะโหลกออก (suturectomy) แล้วใช้เทคนิคต่างๆ เพื่อการหยุดยั้งไม่ให้มาเชื่อมกันเร็ว เกินกว่าที่ต้องการ แต่ในปัจจุบันเทคนิคประสาทศัลยแพทย์ จะทำงานร่วมกับศัลยแพทย์ตกแต่งและผู้เชี่ยวชาญในด้านอื่นๆ เป็นทีมสหวิทยาการ ซึ่งสามารถที่จะตัดกระดูกกะโหลกศีรษะออก แล้วเลื่อนหรือย้ายสลับที่ไปในตำแหน่งต่างๆ และยึดตรึง เพื่อให้ได้รูปทรงที่เหมาะสม พร้อมที่จะเจริญเป็นกะโหลกศีรษะที่มีรูปทรงสัณฐานที่ดี และมีพื้นที่เพียงพอให้กับการเจริญเติบโต ของสมองที่บรรจุอยู่ภายใน เทคนิคการผ่าตัดต่างๆ มีมากมายหลายวิธี ขึ้นอยู่กับความผิดรูปของกะโหลกศีรษะนั้นๆ


ตะเข็บกระดูกกลางหน้าผากปิดเร็ว ทำให้เกิดความผิดปกติของศีรษะเป็นรูปสามเหลี่ยม

            ในการประเมินและวางแผนก่อนการผ่าตัดจำเป็นต้องใช้การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติ เพื่อประมวลภาพและรูปทรง บางครั้งอาจนำไปสร้างแบบจำลองด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติ (rapid prototype) ก่อนจะทำการผ่าตัดจำลองในหุ่น หรือในคอมพิวเตอร์ แล้วจึงทำการผ่าตัดจริงในผู้ป่วยเด็ก


ภาพรังสีตะเข็บกะโหลกศีรษะบริเวณที่คาดผมที่มีการเชื่อมติด

โรคกะโหลกศีรษะตีบ (Craniofacial Dysostosis)

            ในกรณีที่มีความผิดปกติของการเชื่อมต่อแนวตะเข็บกะโหลกศีรษะที่มากขึ้น บางครั้งมีความพิการอื่นๆ ร่วมด้วย การผ่าตัด จะมีการวางแผนขยายกะโหลกศีรษะในระยะแรกเริ่มก่อน เพื่อไม่ให้มีการเพิ่มความดันภายในสมอง จนถึงขั้นเป็นอันตรายต่อเด็ก เช่น ตาถลน ประสาทตาเสื่อม หรือการชักและการทำลายเนื้อสมองโดยกลไกต่างๆ ดังนั้น จึงเริ่มด้วยการผ่าตัดเลื่อนกะโหลกศีรษะส่วนหน้าผากและกระบอกตาส่วนบน (fronto-orbital segment) ไปด้านหน้า เพื่อให้มีเนื้อที่ให้สมองเจริญเติบโตตามมา และตามด้วยการผ่าตัดเลื่อนกระดูกบริเวณส่วนกลางของใบหน้าในภายหลัง

ศัลยแพทย์บางคน แนะนำวิธีการผ่าตัด ให้เลื่อนทั้งกระดูกหน้าผาก และกระบอกตาส่วนบน (fronto-orbital) และกระดูกส่วนกลาง ของใบหน้า พร้อมกันในครั้งเดียว (Monobloc advancement) ทำให้ไม่ต้องผ่าตัด ๒ ครั้ง แต่ก็มีความเสี่ยงเรื่องการติดเชื้อ และการรั่วของน้ำไขสันหลังมากขึ้น


โรคใบหน้าเป็นร่อง
และขากรรไกรบนและล่างยึดติดกัน

            โรคใบหน้าและกะโหลกศีรษะเป็นร่องที่พบน้อย (Rare Craniofacial Clefts)

            โรคใบหน้าและกะโหลกศีรษะเป็นร่อง (Craniofacial cleft) มีหลายลักษณะ และมีความรุนแรงของความผิดปกติมากหรือน้อย แตกต่างกันไป บางชนิด อาจเกิดในแนวเชื่อมของเอ็มบริโอ (embryo) บางชนิดอาจไม่อยู่ในแนวนั้น อาจเกิดเพียงด้านเดียวหรือ ๒ ด้าน และมักมีสาเหตุจากหลากหลายปัจจัยด้วยกัน

            การผ่าตัดทางศัลยกรรมใบหน้าและกะโหลกศีรษะ มีวิธีการดังนี้

            ๑) เทคนิคการเลื่อนกระดูกโดยเครื่องยืดกระดูก (Bone distractor)

            การตัดและการเลื่อนกระดูกไปยึดตรึงในตำแหน่งใหม่ทันทีนั้น มีแรงดึงกลับของกล้ามเนื้อและเอ็นยึด ทำให้มีการถอยกลับ (relapse) ของกระดูกได้ง่าย ดังนั้นจึงได้มีการประดิษฐ์เครื่องยืดกระดูกทีละน้อย เพื่อให้กระดูก เอ็น และกล้ามเนื้อ ที่ยึดมีการคลายตัว และยอมให้ถูกดึงยืดไปช้าๆ ทำให้ผลที่ได้ค่อนข้างมีความเสถียร ซึ่งหลักการเหล่านี้ นำมาใช้ในการศัลยกรรมใบหน้าและกะโหลกศีรษะได้ดี


เทคนิคการเลื่อนกระดูกโดยเครื่องยึด

            ๒)  การผ่าตัดจัดขากรรไกรบนและล่าง (Orthognathic surgery)

            เป็นการผ่าตัดเพื่อแก้ไขปัญหาการสบฟันที่ผิดปกติ ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับการตัดเลื่อย เลื่อนยึดตรึงขากรรไกรบนและ/หรือล่าง ในตำแหน่งที่ต้องการ เพื่อแก้ไขความพิการแต่กำเนิด ความผิดปกติจากอุบัติเหตุ ความผิดปกติจากการมีเนื้องอก หรือการสร้างสมดุลของใบหน้าเพื่อความงาม

            ในการทำงานด้านนี้ ศัลยแพทย์ต้องทำงานร่วมกับทันตแพทย์จัดฟันอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ผลออกมาดี ทั้งในเรื่องของหน้าที่การทำงานและการบดเคี้ยว พร้อมๆ กับความได้สมดุลของรูปหน้า


การตัดเหงือกบนและล่าง

            การผ่าตัดทางศัลยกรรมใบหน้าและกะโหลกศีรษะ นับเป็นวิทยาการใหม่ของศัลยศาสตร์ที่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือ ของผู้เชี่ยวชาญ ในหลากหลายสาขามาทำการวางแผนให้แก่ผู้ป่วยแต่ละราย และต้องมีการติดตามผลในระยะยาว ความเจริญก้าวหน้าในการผ่าตัด เทคนิคการเลื่อนกระดูกอย่างช้าๆ วิศวกรรมเนื้อเยื่อและการรักษาด้วยเซลล์ต้นกำเนิด (Stem cell) อาจเป็นความหวังในด้านการรักษาแบบใหม่ๆ ในอนาคตร่วมกับความก้าวหน้าทางภาพรังสี

โรคสมองยื่นบริเวณหว่างตา (Fronto-ethmoidal encephalomeningocele)

            โรคสมองยื่นบริเวณหว่างตาเป็นโรคที่มีเนื้อและเยื่อหุ้มสมองยื่นผ่านช่องกระดูกบริเวณฐานศีรษะระหว่างกระดูกหน้าผาก (frontal)  และกระดูกฐานกะโหลกศีรษะด้านหน้า (ethmoidal) ซึ่งเป็นความผิดปกติแต่กำเนิดที่พบได้ค่อนข้างบ่อย
ในประเทศทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และบางประเทศในแอฟริกา ในประเทศไทยมีอุบัติการณ์ ๑ ใน ๕,๐๐๐ ราย ของทารกแรกเกิด พยาธิสภาพที่เป็นเอกลักษณ์ของโรคนี้คือ มีก้อนโป่งบริเวณกระดูกหน้าผาก จมูก และระหว่างลูกนัยน์ตา ตั้งแต่คลอด ส่วนใหญ่มักมีผิวหนังปิดเรียบร้อย ยกเว้นในบางรายที่แตกในระหว่างคลอด รูที่ฐานกะโหลกอาจมีขนาดเล็กหรือใหญ่ ต่างกัน และไม่สัมพันธ์กับขนาดของก้อนโป่งที่เห็นภายนอก แต่จะสัมพันธ์กับความดันภายในกะโหลกศีรษะ เด็กที่มีพยาธิสภาพนี้ จะมีระยะระหว่างหัวตาผิดปกติ และพบว่ามีความพิการภายในสมองร่วมด้วยเป็นจำนวนมากถึง ๑ ใน ๓ ราย ผู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับโรคนี้อย่างจริงจัง และทุ่มเทคือ ศาสตราจารย์ นายแพทย์จรัส  สุวรรณเวลา ซึ่งได้รายงานลักษณะสัณฐานของรูโหว่ บริเวณฐานกะโหลกศีรษะด้านหน้า ใน พ.ศ. ๒๕๑๕ โดยจำแนกออกเป็น ๓ ประเภท คือ frontonasal nasoorbital และ nasoethmoidal

ใน พ.ศ. ๒๕๔๑ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ศรีประสิทธิ์  บุญวิสุทธิ์ และคณะ ได้รายงานผลการศึกษารูโหว่ที่ฐานกะโหลกศีรษะ ๑๒๐ ราย ในวารสาร Plastic and Reconstructive Surgery พบว่า โรคสมองยื่นบริเวณหว่างตาสามารถจำแนกประเภทออกได้เป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ

ประเภทที่ ๑ คือ ประเภทมีรูเปิดรูเดียว (single external opening)
ประเภทที่ ๒ คือ ประเภทมีรูเปิดหลายรู (multiple external opening)


การจำแนกชนิดต่างๆ ของโรคสมองยื่นบริเวณหว่างตา

ในแต่ละประเภทยังแบ่งเป็นอีก ๒ ชนิด คือ

ชนิด A ก้อนเบียดอยู่ระหว่างกระดูกเพียง ๒ ชิ้น
ชนิด B ก้อนดันเบียดไปมากกว่ากระดูก ๒ ชิ้น

นอกจากนี้ยังสามารถจำแนกชนิดย่อยออกไปได้อีก ๑๔ ชนิด ตามแผนภาพการจำแนกชนิดต่างๆ ของโรคสมองยื่นบริเวณหว่างตา

            ใน พ.ศ. ๒๕๔๓ ทีมสหวิทยาการของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล อันประกอบด้วย ศัลยแพทย์ตกแต่ง ประสาทศัลยแพทย์ วิสัญญีแพทย์ จักษุแพทย์ รังสีแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ ได้นำเสนอวิธีการผ่าตัดแก้ไขโรคนี้ โดยใช้เทคนิคการซ่อมรูโหว่และการเลื่อนหน่วยรวมหัวตาในขั้นตอนเดียวกัน (Medial Orbital Composite Unit Translocation) ซึ่งการผ่าตัดแบ่งออกเป็น ๕ ขั้นตอน โดยหลังจากวิสัญญีแพทย์ดมยาสลบผู้ป่วยแล้ว จักษุแพทย์จะตรวจระบบท่อน้ำตาและส่องดูตาโดยละเอียด มักพบความผิดปกติ เช่น ท่อน้ำตาตันและลูกนัยน์ตาเล็ก ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะได้รับการบันทึกโดยละเอียด เพื่อนำมาวิเคราะห์ต่อไป หลังจากนั้นจึงเริ่มต้นทำการผ่าตัด ดังนี้


แผนภาพแสดงการวางแผนตัดกระดูกด้านในกระบอกตา และกระดูกตรงกลางที่ต้องตัดออก เพื่อเลื่อนหัวตาเข้าหากัน

ขั้นตอนที่ ๑

            การเปิดหนังศีรษะและเปิดช่องกะโหลกศีรษะด้านหน้า (Bicoronal scalp flap and craniotomy window)

            การเปิดหนังศีรษะจะกระทำในชั้นเหนือเยื่อหุ้มกะโหลกศีรษะ จนกระทั่งถึงระยะ ๑ เซนติเมตรเหนือขอบตา จึงเปลี่ยนเป็นใต้เยื่อหุ้มกะโหลกศีรษะ โดยการเลาะเส้นประสาทและเส้นเลือด supratrochlear และ supraorbital ออกจากขอบบนของรูโหว่ ซึ่งต้องระมัดระวังไม่ให้เยื่อหุ้มกระดูกหลุดร่อนบริเวณหัวตา

            ประสาทศัลยแพทย์จะเปิดช่องด้านหน้าของกะโหลกศีรษะเป็นรูปครึ่งวงกลมเหนือกระบอกตา และเลาะเข้าไปจนถึงบริเวณขั้วสมอง ที่ยื่น ตรวจดูลักษณะสัณฐานของรูโหว่และการยื่นอย่างละเอียด เปรียบเทียบกับเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติที่ถ่ายไว้ก่อน และบันทึกรายละเอียดและภาพไว้


แผนภาพ
แสดงการเปิดด้านในหัวตา

ขั้นตอนที่ ๒

            การตัดกระดูกหัวตาแบบหน่วยรวม (medial orbital composite unit osteotomy)

            การวางแผนตัดกระดูกหัวตาจะทำเป็นรูปตัวที ซึ่งถูกผ่ากลาง ในแนวตั้ง ๒ ข้าง โดยที่ส่วนกลางถูกตัดออกไปแล้ว จะได้ระยะระหว่างกระบอกตาหลังการเลื่อนเข้าหากันเป็นปกติ

            ศัลยแพทย์ตกแต่งจะใช้เลื่อยขนาดเล็กตัดกระดูกตามแนวที่ได้วางไว้ สำหรับการตัดในแนวลึกโดยใช้สิ่วขนาด ๔ มิลลิเมตร จะทำที่กระดูกหัวตาหลังจากต่อเอ็นยึดหัวตาและระบบท่อน้ำตา โดยอยู่ที่ระดับประมาณครึ่งหนึ่งของความลึกของกระบอกตา ทั้งนี้ การตัดกระดูกจะทำทั้ง ๒ ข้างในลักษณะเดียวกัน เมื่อเอากระดูกส่วนกลางออกแล้ว ก็จะสามารถเปิดหน่วยรวมของกระดูกหัวตาทั้ง ๒ ข้าง ในลักษณะเปิดบานหน้าต่าง ซึ่งจะให้ความสะดวกแก่ประสาทศัลยแพทย์ที่จะทำงานต่อไป


แผนภาพแสดงการปิดช่องว่างหลังการเลื่อนด้านในหัวตาเข้าหากัน

ขั้นตอนที่ ๓

            การตัดขั้วส่วนยื่นของสมองและเย็บซ่อมแซมเยื่อหุ้มสมอง (transection of the sac, dural repair and removal of the mass)

            ประสาทศัลยแพทย์สามารถทำการผ่าตัดขั้วสมองจากด้านใน ด้วยความสะดวก การเปิดรูโหว่ที่เยื่อหุ้มสมอง สามารถทำโดยการเย็บปิดโดยตรง แต่ส่วนใหญ่ มักจะมีขนาดใหญ่ จนต้องใช้เยื่อหุ้มกะโหลกศีรษะมาปะ  การเย็บซ่อมต้องกระทำอย่างแน่นหนา ไม่ให้น้ำไขสันหลังรั่วได้ ซึ่งด้วยเทคนิคนี้ ทำให้สามารถซ่อมแซมได้สะดวกและประณีต
ขณะเดียวกัน ศัลยแพทย์ตกแต่งก็สามารถทำงานที่โต๊ะข้างๆ พร้อมกันไปด้วย เพื่อที่จะแซะเอาชิ้นบางๆ ของกระดูกจากด้านใน ของฝากะโหลกที่เปิดช่องด้านหน้า ชิ้นกระดูกนี้ เตรียมไว้สำหรับเสริมความแข็งแรงของการซ่อมรูโหว่ โดยไม่จำเป็นต้องผ่าตัด จากที่อื่นอีก

ขั้นตอนที่ ๔

            การเลื่อนกระดูกหัวตาเข้าหากันในแนวกลาง แล้วยึดตรึงพร้อมกับเสริมความแข็งแรงด้วยกระดูกแผ่นบาง (medial orbital composite unit translocation and fixation and calvarial bone graft reinforcement)

            ก่อนทำการเลื่อนกระดูกหัวตา ศัลยแพทย์ตกแต่งจะต้องตรวจดูว่าหน่วยรวมของหัวตายังติดกันอยู่หรือไม่ โดยการดึงที่กระดูกมายังด้านใน และสังเกตแรงต้านและรอยบุ๋มที่หัวตา ซึ่งจะแสดงว่าเอ็นหัวตายังคงยึดติดกับกระดูกเป็นอย่างดี จึงไม่จำเป็นต้องทำการเย็บขึงเอ็นหัวตาใหม่


แผนภาพแสดงแนวตัดเนื้อเยื่อส่วนยื่น
ที่ฐานกะโหลกศีรษะ

            มื่อเลื่อนหน่วยรวมหัวตาเข้าหากันในแนวกลางแล้ว ก็ใช้วัสดุ ยึดให้กระดูกติดกัน ในกรณีที่รูโหว่เล็ก รูจะถูกปิดโดยทันที หลังการเลื่อน ระยะระหว่างหัวตาที่กว้างจะกลับเป็นปกติ เอ็นหัวตาจะถูกขึงทำให้บริเวณหัวตาดูเป็นธรรมชาติ
กระดูกชิ้นบางที่เตรียมไว้สำหรับเสริมความแข็งแรงด้านในของกะโหลกศีรษะ จะมีขนาดใหญ่กว่ารูโหว่เล็กน้อย น้ำหนักและแรงดัน ของสมอง จะทำให้ชิ้นกระดูกแนบติดและเกิดกระบวนการหายของกระดูกเป็นเนื้อเดียวกัน โดยไม่จำเป็นต้องยึดตรึงชิ้นกระดูก

ขั้นตอนที่ ๕

            การปิดช่องกะโหลกศีรษะด้านหน้าและเย็บปิดหนังศีรษะ (craniotomy window and scalp flap closure)

            แนวกลางของช่องกะโหลกศีรษะจะใช้เป็นแนวกลางของหน่วยรวมหัวตาที่มายึดกัน การปิดกะโหลกศีรษะทำแบบวิธีมาตรฐานทั่วไป โดยมีการเย็บแขวนเยื่อหุ้มสมอง หลังจากนั้นจึงเย็บปิดหนังศีรษะ

ข้อดี

            เทคนิคการผ่าตัดแบบเทคนิคการซ่อมรูโหว่ และการเลื่อนหน่วยรวมหัวตาในขั้นตอนเดียวกัน มีข้อดีดังนี้

๑. ปิดรูโหว่ที่ฐานกะโหลกศีรษะ และแก้หัวตาที่ห่างได้ในการผ่าตัดครั้งเดียว
๒. สามารถแง้มหน่วยรวมหัวตาให้มีพื้นที่ซ่อมแซมได้สะดวก และค้นหารูโหว่โดยละเอียด โดยไม่ผิดพลาดในกรณีที่มีรูโหว่หลายรู
๓. หน่วยรวมของกระดูกและเนื้อเยื่อหัวตาสามารถเลื่อนเข้าหากันตรงกลางได้ เพื่อแก้ภาวะหัวตาห่าง
๔. หน่วยรวมของกระดูกและเนื้อเยื่อหัวตาจะไม่แยกจากกัน จึงดูเป็นธรรมชาติและไม่ต้องมีการเย็บขึงเอ็นหัวตาใหม่ จึงช่วยลดโอกาสหัวตายืดกว้างกลับคืนอีก
๕. การติดกันของกระดูกหัวตาเป็นไปอย่างรวดเร็ว เพราะเป็นกระดูกที่มีเลือดมาเลี้ยงจากเนื้อเยื่อหัวตา
๖. ไม่ต้องทำการผ่าตัดที่กระดูกเชิงกรานหรือซี่โครงเพิ่มอีก เพื่อเอากระดูกมาเสริมจมูก
๗. ช่องเปิดเข้าฐานกะโหลกศีรษะ สามารถใช้ประโยชน์ ๒ ต่อ จากกระดูกบางด้านในชิ้นเล็กๆ จะมาช่วยเสริมความแข็งแรงที่รูโหว่ โดยไม่ต้องผ่าตัดเอากระดูกจากที่อื่น
๘. ไม่ต้องใช้ตะแกรงโลหะ ซึ่งเป็นวัสดุแปลกปลอมมาปิดรูโหว่ เพราะอาจบาดเนื้อสมอง และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายค่าวัสดุโลหะเสริม