ประวัติความเป็นมาและวิวัฒนาการ
บายศรีมีประวัติความเป็นมาอย่างไรไม่มีหลักฐานที่แน่ชัด แต่บายศรีได้รับอิทธิพลมาจากคติพราหมณ์อย่างแน่นอน สันนิษฐานได้จากสิ่งต่างๆ ดังนี้
๑. ใบตอง
คติพราหมณ์เชื่อว่า ใบตองเป็นของบริสุทธิ์ สะอาด ไม่แปดเปื้อนอาหารเหมือนถ้วยชาม จึงนำมาทำเป็นกระทงใส่อาหาร
๒. รูปแบบของบายศรีที่ทำรูปแบบจำลองเขาพระสุเมรุ
คติพราหมณ์เชื่อว่า เขาพระสุเมรุเป็นที่สถิตของพระอิศวร เทพเจ้าของพราหมณ์ เมื่อทำบายศรีรูปแบบจำลองเขาพระสุเมรุ จึงเปรียบเสมือนอัญเชิญพระอิศวรมาเป็นประธานในพิธี
๓. อาหาร
อาหารประกอบในบายศรีหลายชนิดได้รับความเชื่อมาจากคติพราหมณ์ เช่น ไข่ แตงกวา มะพร้าว
๔. พิธีการต่างๆ
เช่น การเวียนเทียน การเจิม จะมีพราหมณ์เป็นผู้ประกอบพิธีทั้งสิ้น
บายศรีในพิธีบวงสรวงสังเวย
ในสมัยอยุธยา มีหลักฐานชัดเจนเกี่ยวกับบายศรี เช่น มีคำว่า "บายศรี" ในวรรณคดีเรื่อง มหาชาติคำหลวง กัณฑ์มหาราช และที่บานประตูตู้ลายรดน้ำ ศิลปะอยุธยา ก็ปรากฏเรื่องราวเกี่ยวกับบายศรีเช่นกัน จึงยืนยันได้ว่า บายศรีมีใช้กันในสมัยอยุธยาแล้ว และสืบเนื่องต่อมาจนถึงปัจจุบัน
ในปัจจุบัน คนไทยมีความเชื่อและนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ รวมทั้งเทพเจ้าในลัทธิต่างๆ กันอย่างกว้างขวาง และมีศรัทธาว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และเทพเจ้าที่ตนนับถือนั้นจะสามารถดลบันดาลให้มีความสุข ความเจริญรุ่งเรือง และประสบความสำเร็จในชีวิตได้ ดังนั้น ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า คนไทยนับถือเทพเจ้าบนสรวงสวรรค์ที่อยู่ในระดับชั้นพรหม และชั้นเทพ ที่มีทั้งเทพฝ่ายชาย และเทพฝ่ายหญิง เทพเจ้าในลัทธิของจีนตามนิกายมหายาน ตลอดจนเทวดาอารักษ์และสมมติเทพ ที่เป็นสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชในอดีตของไทยหลายพระองค์ ผู้ที่นับถือศรัทธาเทพเจ้าองค์ใด ก็สักการะเทพเจ้าองค์นั้น ตามความเชื่อในลัทธิของตน ในบรรดาเทพเจ้าเหล่านั้นจะมีเทพเจ้าชั้นสูงของพราหมณ์รวมอยู่ด้วยหลายองค์ ผู้ที่สืบเชื้อสาย จากพราหมณ์ หรือผู้ที่เชื่อว่า สามารถสื่อสารกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ มักจัดทำบายศรีเป็นเครื่องสักการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ตนนับถือ ประกอบกับบายศรีเป็นสิ่งที่ได้รับอิทธิพลมาจากพราหมณ์โดยตรง ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นการบวงสรวงสังเวย สักการะ หรือไหว้ครูประจำปี เพื่อขอความเป็นสิริสวัสดิมงคลแก่ตน จึงมักนำบายศรีไปเป็นเครื่องบูชา
การทำบายศรีนี้มักทำขึ้นเป็นการเฉพาะ เพื่อบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งมีทั้งระดับชั้นพรหมและชั้นเทพ ที่เรียกกันว่า บายศรีพรหม และบายศรีเทพ บายศรีเหล่านี้ จะมีความงดงามอลังการ และวิจิตรบรรจง ตามความคิดสร้างสรรค์จินตนาการของผู้ประดิษฐ์ และตามความสำคัญของเทพเจ้า โดยมีหลักเกณฑ์ในการทำบายศรีแต่ละต้น ส่วนใหญ่มักนำหลักธรรมในพระพุทธศาสนา มาเป็นแนวคิดประดิษฐ์ตกแต่ง เช่น อริยสัจ ๔ มรรค ๘ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ หรือนำความเชื่อเรื่องระบบจักรวาล หรือไตรภูมิ ที่มีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางแวดล้อมด้วยทิวเขาสำคัญ หรือความเชื่อในเรื่องพรหมโลกตามคติพระพุทธศาสนา สำหรับรูปแบบการทำบายศรีนั้น จะแตกต่างกันไปในแต่ละสำนัก เช่น การถือหลักนับตัวแม่ตัวลูกบายศรีเป็นเกณฑ์ ตัวอย่างเช่น บายศรีพรหมและบายศรีเทพ มีจำนวนตัวแม่ตัวลูกบายศรีเป็นเลขคู่ และเป็นที่รู้กันว่า จะนำบายศรีแบบใดไปสักการะพรหม หรือเทพองค์ใด อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าสำนักใดจะทำบายศรีเป็นรูปแบบใด บายศรีเหล่านั้นก็ล้วนแต่มีความหมายเป็นมงคลทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังมีการตั้งชื่อเฉพาะของบายศรีตามแต่ผู้ทำบายศรีนั้นๆ ตั้งขึ้น เช่น บายศรีอาภาพันธุ์ บายศรีพุทธบูชา บายศรีพัชรโอภาส ฯลฯ