บายศรีกับการทำขวัญ
วิถีชีวิตของคนไทยตั้งแต่เกิดจนตายมักมีพิธีกรรมในการทำขวัญที่ต้องมีการใช้บายศรีเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งเกิดจากแนวความคิด ที่จะให้มีการดำรงชีวิตอย่างมีความสุข ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ และปลอดภัยจากอันตรายทั้งปวง การทำขวัญนำมาใช้ในพิธีกรรมต่างๆ ได้แก่
บายศรีเป็นเครื่องประกอบสำคัญในการทำขวัญ
การทำขวัญทารก เนื่องจากไม่แน่ใจว่าเด็กจะมีชีวิตรอดตลอดไปหรือไม่ จึงปัดเป่าเสนียดจัญไร ไม่ให้มารังควาน เด็กจะได้เติบโตอย่างแข็งแรง สมบูรณ์
การทำขวัญเดือน เชื่อว่าเด็กรอดพ้นจากอันตรายแล้ว จึงทำขวัญแสดงความยินดี
การโกนจุก เพราะเด็กย่างเข้าสู่สภาวะพ้นจากการเป็นเด็ก นับเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ เด็กควรสำนึกในหน้าที่ ความรับผิดชอบ และเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต
การทำขวัญนาค เพื่อให้เกิดสวัสดิมงคล และเตือนใจผู้บวชให้พากเพียรปฏิบัติธรรม ให้สมดังเจตนารมณ์ของพ่อแม่
การทำขวัญนาค
การทำขวัญแต่งงาน เพราะคน ๒ คนจะเปลี่ยนสถานภาพมาเป็นผู้ครองเรือน จึงทำขวัญ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตคู่ ให้มีชีวิตแต่งงานที่สงบสุข และให้กำเนิดผู้สืบสกุลที่ดี
การทำขวัญผู้ป่วย เมื่อหายจากการเจ็บป่วย ก็ทำขวัญเสมือนเป็นการรับขวัญ และเพื่อให้ปลอดภัยจากโรคภัยไข้เจ็บ ไม่ให้เจ็บป่วยอีก
การไปต่างถิ่นหรือกลับมาจากต่างถิ่น เป็นการปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายให้ออกไป หรือสะเดาะเคราะห์ หรือส่งขวัญให้ไปอยู่กับตัว นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องของความยินดี ให้กำลังใจ และเตือนสติให้สำนึกผิดชอบชั่วดีอยู่เสมอ
การทำขวัญต้อนรับแขกผู้มาเยือน เป็นการปัดเป่าสิ่งไม่ดีที่อาจนำเข้ามาในถิ่น และเพื่อนำสิ่งที่ดีเข้าสู่ตัวผู้มาเยือน
การทำขวัญเรือน เพื่อให้อยู่เย็นเป็นสุข
การทำขวัญโค กระบือ การทำขวัญนา การทำขวัญข้าว เพื่อความอุดมสมบูรณ์ของผลผลิต
การทำขวัญพระพุทธรูป เพื่อวิงวอนขอพุทธานุภาพให้ช่วยคุ้มครองป้องกันภัย และดลบันดาลให้ร่มเย็นเป็นสุข
พิธีบวงสรวงต่างๆ
การบวงสรวงสังเวยและการบูชาครู เป็นการแสดงถึงความเคารพ และมอบสิ่งตอบแทนให้แก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อช่วยดลบันดาลให้ประสบความสำเร็จ ในกิจการงาน ไม่มีปัญหาอุปสรรคใดๆ บันดาลลาภยศ และความอุดมสมบูรณ์
การประกอบพิธีกรรมต่างๆ ที่ต้องใช้บายศรีเป็นองค์ประกอบสำคัญเหล่านี้ จะต้องอาศัยผู้รู้ ผู้ชำนาญ พราหมณ์ หรือผู้อาวุโส (ในภาคอีสานและภาคเหนือ) เป็นสื่อกลางที่จะทำให้มนุษย์บรรลุเป้าหมายตามความเชื่อของตน ส่วนความเหมาะสม ที่จะใช้บายศรีชนิดใดนั้น ได้กำหนดไว้เป็นแบบแผนประเพณีที่ได้ปฏิบัติสืบต่อกันมา
บายศรีจึงไม่ได้เป็นแค่เพียงสิ่งประกอบในพิธีกรรมเท่านั้น แต่เป็นสิ่งแสดงถึงภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ที่นำเอาความเชื่อ เรื่องเขาพระสุเมรุในไตรภูมิมาเปรียบเทียบ โดยเชื่อว่า ยอดสูงสุดของบายศรีคือเขาพระสุเมรุ ที่รายล้อมด้วยสัตบริภัณฑ์น้อยใหญ่ ทั้งยังมีการอัญเชิญพรหมเทพทั้งหลายให้มาร่วมในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ เพื่อความศักดิ์สิทธิ์ เป็นสิริมงคล และให้บังเกิดความสำเร็จขึ้น หรือเป็นการสร้างสรรค์ภูมิปัญญาออกมาเป็นศิลปะอันงดงาม