เล่มที่ 38
บายศรี
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ประเภทและลักษณะของบายศรี

บายศรีแบ่งได้เป็น ๒ ประเภท คือ บายศรีของหลวง และบายศรีของราษฎร

๑. บายศรีของหลวง

            คือ บายศรีที่ใช้ในพระราชพิธีอันเกี่ยวเนื่องกับพระมหากษัตริย์พระมเหสี พระราชโอรส พระราชธิดา และพระบรมวงศานุวงศ์ ทั้งพระราชพิธีที่จัดขึ้นเป็นประจำและพระราชพิธีที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดขึ้น หรือในโอกาสพิเศษ และบายศรีที่ใช้ในงานพิธีที่รัฐบาลหรือราชการกำหนด โดยกราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ มาทรงเป็นประธาน หรือโปรดเกล้าฯ ให้พระราชวงศ์เสด็จฯ แทนพระองค์

บายศรีของหลวง มี ๓ แบบ ได้แก่


บายศรีต้น ๕ ชั้น

            ๑. บายศรีต้น ทำด้วยใบตอง มีแป้นไม้เป็นโครง ทำเป็นชั้น ลักษณะอย่างบายศรีต้นของราษฎร มี ๓ ชั้น ๕ ชั้น ๗ ชั้น และ ๙ ชั้น

            ๒. บายศรีแก้ว ทอง เงิน ประกอบด้วยพานแก้ว พานทอง พานเงิน มีทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กวางซ้อนกันขึ้นไปตามลำดับ เป็นชั้นๆ จำนวน ๕ ชั้น โดยบายศรีแก้วอยู่ตรงกลาง บายศรีทองอยู่ทางขวา และบายศรีเงินอยู่ทางซ้ายของผู้รับการสมโภช บายศรีแก้ว ทอง เงิน มี ๒ ขนาด คือ ขนาดใหญ่ เรียกว่า สำรับใหญ่ ใช้ในพระราชพิธีอย่างใหญ่ หรือพระราชพิธีที่มีการสมโภชเวียนเทียนโดยวิธียืนเวียนเทียน และขนาดเล็ก เรียกว่า สำรับเล็ก ใช้ในพระราชพิธีอย่างเล็ก เป็นงานสมโภชเวียนเทียนโดยวิธีนั่งเวียนเทียน


บายศรีแก้ว ทอง เงิน

            ๓. บายศรีตองรองทองขาว ทำด้วยใบตองลักษณะเดียวกันกับบายศรีต้นของราษฎร แต่นำไปตั้งบนพานใหญ่ซึ่งเป็นโลหะทองขาว มี ๕ ชั้น ๗ ชั้น โดยมากมักทำเป็น ๗ ชั้น บายศรีชนิดนี้มักตั้งคู่กับบายศรีแก้ว ทอง เงิน สำรับใหญ่ และใช้ในพระราชพิธีอย่างใหญ่ เช่น พระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างสำคัญ พระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ พระราชพิธีโสกันต์ ซึ่งปัจจุบันได้ยกเลิกไปแล้ว พระราชพิธีอุปสมบทนาคหลวงที่เป็นพระราชวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไป ซึ่งปัจจุบันงดการสมโภช

            บายศรีของหลวงนั้นเดิมมีแต่บายศรีที่ทำด้วยใบตอง ส่วนบายศรีแก้ว ทอง เงิน เพิ่งจะมีขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯ ให้ทำเครื่องราชูปโภคเป็นบายศรีที่ทำด้วยโลหะทองแดงเป็นปากกลีบบัวหุ้มด้วยทองคำสลักลายดอกไม้เรียกว่า บัวแฉก มีพานทองคำอย่างจานเชิง ๕ พานประจำสำหรับบายศรีทอง และพานเงินอย่างจานเชิง ๕ พานสำหรับบายศรีเงิน ทั้งบายศรีทองและบายศรีเงินใส่อาหารคาว-หวานหรือใส่ดอกไม้แล้วแต่งาน ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ (บางแห่งว่ารัชกาลที่ ๒) โปรดเกล้าฯ ให้ทำแก้วขึ้นเป็นเชิงอย่างพานแก้วซ้อนขึ้นไปเรียกว่า บายศรีแก้ว อาจเป็นด้วยเหตุที่ว่า ทรงนับถือ พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) และเชื่อว่า อธิษฐานขอพรสิ่งใดจะได้สมดังใจนึกราวกับแก้วสารพัดนึก จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบายศรีแก้วไว้กลาง บายศรีเงินไว้ทางด้านซ้าย และบายศรีทองไว้ทางด้านขวา เป็นของถาวรตั้งแต่นั้นมา และใช้มาจนถึงปัจจุบัน ส่วนบายศรีสำรับเล็กน่าจะมีในสมัยรัชกาลที่ ๔ หรือรัชกาลที่ ๕ เพื่อใช้สับเปลี่ยนกับบายศรีสำรับใหญ่ ในบางพระราชพิธี

            นอกจากบายศรีแก้ว ทอง เงิน แล้ว ยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้างแว่นเวียนเทียน ซึ่งเป็นแก้วเจียระไน และมีด้ามถือ สำหรับติดเทียน เวียนรอบผู้ทำขวัญในการสมโภชเวียนเทียน เพิ่มขึ้นจากแว่นโลหะอีกด้วย เพื่อใช้ในการเวียนเทียนให้ครบตามพานแก้ว พานทอง และพานเงิน อย่างละ ๓ แว่น

            ทั้งนี้ บายศรีแก้ว ทอง เงิน ซึ่งเป็นบายศรีของหลวงยังปรากฏในวรรณคดีเรื่อง รามเกียรติ์ และ อิเหนา ซึ่งแต่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒ ตามลำดับ จึงเป็นข้อสนับสนุนได้อีกประการหนึ่งว่า บายศรีของหลวงที่เป็นบายศรีแก้ว ทอง เงิน มีอยู่แล้ว ในสมัยรัตนโกสินทร์ บายศรีของหลวงแต่ละประเภทนั้นได้กำหนดกฎเกณฑ์ของการใช้ไว้เป็นแบบแผนแล้ว คือ พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชพิธีฉัตรมงคล พระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรง พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร และพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ ใช้บายศรีแก้ว ทอง เงิน สำรับใหญ่ สำหรับพระราชพิธีสมโภช ๓ วัน พระราชโอรส พระราชธิดา หรือพระเจ้าหลานเธอที่ประสูติ ใช้บายศรีแก้ว ทอง เงิน สำรับเล็ก พระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างสำคัญ ใช้บายศรีแก้ว ทอง เงิน สำรับใหญ่ และบายศรีตองรองทองขาว ส่วนพระราชพิธีบวงสรวง สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช และพระราชพิธีสมโภชศาลหลักเมือง ใช้บายศรีต้น บายศรีของหลวงจะใช้ในโอกาสใดนั้น เป็นที่สังเกตได้ว่า ถ้าเป็นงานพระราชพิธีอย่างใหญ่ ส่วนใหญ่มักมีการเวียนเทียนสมโภช ก็จะตั้งบายศรีแก้ว ทอง เงิน สำรับใหญ่ ทั้งนี้ บางพระราชพิธีอาจมีทั้งบายศรีแก้ว ทอง เงิน สำรับใหญ่ และบายศรีตองรองทองขาวตั้งควบคู่กันด้วย แต่ตั้งแยกไว้ต่างหาก ไม่ได้วางเรียงกัน

๒. บายศรีของราษฎร

คือ  บายศรีที่ใช้ในพิธีกรรมต่างๆ ของราษฎร ซึ่งแตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น แบ่งเป็น ๒ ชนิด คือ

            ๑. บายศรีปากชาม ใช้ใบตองม้วนเป็นกรวยคว่ำไว้กลางชามเบญจรงค์ ชามลายคราม หรือชามที่มีลวดลายสวยงาม ข้างในกรวยใส่ข้าวสุก บนยอดกรวยมีไม้แหลมเสียบไข่ต้มสุกปอกเปลือกที่เรียกว่า ไข่ขวัญ บนยอดไข่ขวัญปักดอกไม้เสียบต่อขึ้นไป ส่วนใหญ่ใช้ดอกมะลิ รอบกรวยประดับด้วยใบตองที่พับทบกันไปมาให้เป็นรูปแหลมเรียว เรียกว่า นมแมว ซ้อนทับเหลื่อมกันเป็น ๓ ชั้น ๕ ชั้น ๗ ชั้น หรือ ๙ ชั้น ชั้นละ ๓ ยอด และนำใบตองมาตัดให้หยักไปหยักมาเหมือนอย่างฟันเลื่อยลดหลั่นกันขึ้นไป ตอนกลางตัดแหว่งเป็นหน้าจั่วกลายๆ รวม ๓ ใบ เรียกว่า แมงดา หรือตัวเต่า โดยวางแมงดาแทรกระหว่างนมแมว ตอนล่างของแมงดามีใบตองเป็นหางหักพับรับตอนล่างของหางนมแมวอีกที บนแมงดาวางกล้วยน้ำไท แตงกวาตัดฝานตามยาว อย่างละ ๓ ชิ้น หรืออาจวางขนมหวาน เช่น ขนมต้มขาว ฝอยทอง นอกจากนี้ยังมีดอกไม้ธูปเทียน ๓ ชุด และด้ายสายสิญจน์เด็ด ขนาดผูกข้อมือพาดไว้ตามนมแมว หรืออาจใส่อ้อยตัดเป็นท่อนเล็กๆ ไว้ในบายศรี


บายศรีปากชาม ปัจจุบันนิยมวางบนพานแทนชาม

            ๒. บายศรีใหญ่ หรือ บายศรีต้น เป็นบายศรีขนาดใหญ่ ทำด้วยใบตองม้วนและพับให้เป็นยอดแหลม จับให้ก้นชนกันเป็นคู่ๆ แล้วจับโค้งเป็นวงอย่างวงกำไล จะเห็นเป็นยอดแหลมๆ ยื่นออกไปทั้งข้างบนและข้างล่าง นำไปตรึงรอบขอบแป้นไม้รูปกลม ตรงกลางแป้นเจาะรูมีไม้ยาวเสียบเป็นแกนกลาง แป้นไม้นี้วางซ้อนกันเป็นชั้นๆ ระยะห่างพอสมควร แต่มีขนาดเรียวขึ้นไปตามลำดับ บนยอดบายศรีใหญ่ตั้งชามหรือโถขนาดเล็กหรือขันประดับด้วยพุ่มดอกไม้ หรืออาจใช้บายศรีปากชามก็ได้ มีไม้ไผ่สีสุกผ่าซีก ๓ ซีก พันด้วยผ้าขาวขนาบข้างผูกด้วยด้ายเป็น ๓ เปลาะ นำยอดตองอ่อน ๓ ยอด ปะทับปิดซีกไม้ เอาผ้าอย่างดีคลุมรอบบายศรีอีกชั้นหนึ่ง ผ้านี้เรียกว่า ผ้าห่อขวัญ บายศรีชนิดนี้อาจเรียกว่า บายศรีชั้น หรือบายศรีตั้ง

            บายศรีปากชามและบายศรีใหญ่ที่กล่าวมานั้น ปัจจุบันอาจทำด้วยวัสดุอื่นๆ เช่น กระดาษ ผ้า หรือวัสดุเทียมเลียนแบบใบตอง แต่ยังคงเป็นรูปแบบของบายศรี ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะใบตองหายากขึ้น และผู้เชี่ยวชาญในการทำบายศรีก็หาได้ยาก อาจมีจำกัด เฉพาะผู้ที่ได้รับการถ่ายทอดหรืออยู่ในแวดวงของโรงเรียนวิชาช่างศิลปะ นอกจากนี้ อาจมีองค์ประกอบอื่นๆ เช่น ต้องการความสะดวกรวดเร็ว หรือขาดความเข้าใจในจุดมุ่งหมายดั้งเดิม ดังนั้น ในปัจจุบัน จึงมักพบเห็นบายศรีสำเร็จรูป ตามร้านจำหน่ายดอกไม้ หรือร้านสังฆภัณฑ์ ซึ่งมุ่งในเชิงพาณิชย์มากกว่าความสวยงามทางศิลปะ