เล่มที่ 38
บายศรี
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
เครื่องประกอบบายศรี

            ในพิธีกรรมการทำขวัญ บวงสรวง สมโภช และไหว้ครู บางประเภท นอกจากมีตัวบายศรีแล้ว ยังมีสำรับอาหาร ดอกไม้ ธูปเทียน และสิ่งอื่นๆ อยู่ในตัวบายศรี เรียกว่า เครื่องประกอบบายศรี และไม่ได้กำหนดไว้ชัดเจนแน่นอน ส่วนใหญ่ประกอบด้วยข้าว ไข่ กล้วย ดอกไม้ ธูปเทียน ถ้ามีการผูกขวัญและเวียนเทียน ก็จะมีด้ายผูกข้อมือ แว่นเวียนเทียน และขันปักแว่นเวียนเทียน นอกจากนี้ ยังมีอาหารคาว-หวานและผลไม้ แยกต่างหากอีกสำรับหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชวินิจฉัย ถึงเหตุผลของการจัดสำรับคาว-หวานเพิ่มเติมว่า เพราะต้องการให้หรูหราเป็นงานใหญ่ และเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงพระวินิจฉัยเรื่องสำรับคาว-หวานที่แยกต่างหากจากบายศรีว่า เป็นเพราะความไม่รู้และไม่มีที่ว่างพอที่จะวางสำรับเหล่านี้ได้

อย่างไรก็ตาม เครื่องประกอบบายศรีเท่าที่พบเห็นทั่วไป ส่วนใหญ่ประกอบด้วย

๑. ขันปักแว่นเวียนเทียน เรียกว่า ขันเหม ใช้ใส่ข้าวสารสำหรับปักแว่น
๒. เทียนชัย
๓. น้ำมันหอม
๔. พานใส่ใบพลู ตลับแป้งเจิม
๕. ด้ายผูกข้อมือ
๖. มะพร้าวอ่อนปอกเปลือกเจาะปาก
๗. เป็ดปั้นด้วยแป้ง (มักใช้ในพิธีของหลวง ปัจจุบันนำมาใช้ในพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่เท่านั้น เรียกว่า เป็ดปากทอง)
๘. หัวหมู
๙. อาหารและขนม
๑๐. ธูปเทียนบูชา
๑๑. สิ่งอื่นๆ ตามแต่จะจัดหามา

เครื่องประกอบบายศรีดังกล่าวนี้ไม่จำเป็นต้องมีทุกสิ่งครบบริบูรณ์ ขึ้นอยู่กับลักษณะของพิธีกรรม และฐานะหรือกำลังทรัพย์ ของเจ้าภาพ บางงานก็เข้มงวดจะขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้ เช่น ในงานทำขวัญทารก ๓ วัน ต้องมีขันน้ำอุ่นสำหรับป้อนเด็กอ่อน


เครื่องประกอบบายศรี

            ในพิธีหลวง เครื่องสังเวยต้องเป็นเครื่องคู่และสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ หัวหมู เป็ด ไก่ กล้วยน้ำไท ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว ทองหยิบ ฝอยทอง

            แม้บายศรีได้รับอิทธิพลมาจากคติพราหมณ์ ก็ตาม แต่มักนำบายศรีและเครื่องประกอบบายศรีไปเปรียบให้เป็นปริศนาธรรม  หรือหลักธรรมในพระพุทธศาสนา เช่น นมแมว ๔ อัน หมายถึง อริยสัจ ๔ เพราะศาสนาพราหมณ์เข้ามาผสมผสาน กับพระพุทธศาสนา จนบางครั้งไม่สามารถจะแยกออกจากกันได้โดยเด็ดขาด ซึ่งเป็นไปตามคำกล่าวที่ว่า "พุทธกับไสยย่อมอาศัยกัน"

            ดังกล่าวแล้วว่า บายศรีเป็นสิ่งที่ได้รับอิทธิพลมาจากคติพราหมณ์ แม้แต่อาหารที่ประกอบในบายศรีบางอย่าง ก็นำมาจากคติพราหมณ์ด้วย เช่น ไข่ มะพร้าว แต่คติพราหมณ์คงไม่ได้ตั้งใจให้เป็นปริศนาธรรม ดังนั้น จึงพอสันนิษฐานได้ว่า อาจเป็นเพราะไม่ค่อยเข้าใจแนวคิดของคติพราหมณ์ จึงพยายามคิดเปรียบเทียบให้เข้ากับหลักพระพุทธศาสนา เพื่อให้สอดคล้อง กับวัฒนธรรมไทย