บายศรีภาคกลาง
บายศรีเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดกันมาช้านานตั้งแต่สมัยโบราณ บายศรีของไทยทำด้วยใบตองเป็นรูปแบบกระทงบรรจุอาหาร โดยมีข้อสันนิษฐานว่า บายศรีมีมาตั้งแต่ในสมัยอยุธยา เนื่องจากมีหลักฐานปรากฏอยู่ในวรรณคดีเรื่อง มหาชาติคำหลวง กัณฑ์มหาราช ซึ่งคงแต่งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๐๒๕ และต่อมามีการนำบายศรีเข้ามาผนวกกับพิธีในพระพุทธศาสนา เช่น พิธีทำขวัญนาค ซึ่งในครั้งนั้นจะมีรูปแบบใดไม่มีหลักฐานแน่ชัด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอธิบายไว้ใน พระราชพิธีสิบสองเดือน ตอนหนึ่งว่า "...บายศรีตองก็เป็นกระทงที่สำหรับบรรจุอาหาร แต่เป็นการออกหน้าประชุมคนพร้อมๆ กัน ก็คิดตกแต่งให้งดงามมากมาย ชะรอยบายศรีแต่เดิมจะใช้โต๊ะกับข้าวโต๊ะหนึ่ง จานเรียงซ้อนๆ กันขึ้นไปจนสูงๆ เหมือนแขกเขาเลี้ยงที่เมืองกลันตัน ภายหลังเห็นว่าไม่เป็นของที่แน่นหนา และยังไม่สู้ใหญ่โตนักสมปรารถนา จึงเอาพานซ้อนกันขึ้นไปสามชั้น ห้าชั้น แล้วเอาของตั้งวางบนปากพาน ที่เป็นคนวาสนาน้อยไม่มีโต๊ะ ไม่มีพาน ก็เย็บกระทงตั้งซ้อนขึ้นไปสามชั้น ห้าชั้น เจ็ดชั้น ก็เจิมปากให้เป็นกระทงเจิม ให้เป็นการงดงาม..."
บายศรีของภาคกลางได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาพราหมณ์ (ฮินดู) และมีหลากหลายรูปแบบ อาจสืบเนื่องมาจาก ภาคกลางเป็นที่ตั้งของราชสำนัก ประกอบกับคนไทยมีฝีมือประณีตช่างประดิดประดอย จึงสามารถเชื่อมโยงบายศรีให้เข้ากับความเชื่อ ของประเพณีและวัฒนธรรมต่างๆ ได้อย่างลงตัว ซึ่งถือได้ว่า เป็นภูมิปัญญาที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์
บายศรีภาคกลางมีภาษาหรือคำที่ใช้เรียกส่วนประกอบต่างๆ คือ
๑. คำเรียก "ตัว" หรือ "นิ้ว" หมายถึง การม้วนใบตองให้เป็นตัวหรือนิ้ว ด้วยการเอาดอกพุดหรือดอกรักพลาสติกใส่ตรงหัวของใบตอง แล้วจับม้วนให้กลมและมียอดแหลม หากต้องการจะใช้ดอกพุด ดอกรัก หรือดอกมะลิสด ควรเสียบดอกไม้สดภายหลัง เพราะถ้าทำบายศรีครั้งละมากๆ ดอกไม้สดจะบานและทำให้ดูไม่สวยงาม
๒. คำเรียก "ปั้น" หรือ "องค์" (สรรพนามที่ใช้เรียก) หมายถึง ตัวหรือนิ้วที่นำมานุ่งผ้ารวมกัน เช่น นำตัวหรือนิ้วมานุ่งผ้าเรียงกัน ๓ นิ้ว ๕ นิ้ว ๗ นิ้ว ๙ นิ้ว ๑๖ นิ้ว ก็เรียกว่าได้ ๑ ปั้น ๑ องค์
๓. คำเรียก "แม่" และ "ลูก" หมายถึง ตัวหรือนิ้วที่นำมานุ่งผ้ารวมเป็นปั้นหรือองค์ เรียกว่า แม่ หรือลูก สังเกตได้ว่า ตัวที่ประกอบเข้าไปตามหลักการไม่ว่าจะเป็น ๓ มุม หรือ ๔ มุม ก็ตาม จุดนี้จะเรียกว่า "แม่" ส่วนตัวที่แทรกระหว่างตัวใหญ่นั้น จะเรียกว่า "ลูก" เช่น แม่ ๕ ลูก ๓ และไม่มีที่แม่จะน้อยกว่า ๕ หรือลูกน้อยกว่า ๓ มีแต่จะต้องสูงขึ้นไปตามลำดับ เช่น แม่ ๗ ลูก ๕ หรือ แม่ ๙ ลูก ๕
ส่วนภาษาหรือสรรพนามของแต่ละภาคที่ใช้เรียกตัวหรือนิ้วที่นำมานุ่งผ้ารวมกัน เช่น นำตัวหรือนิ้วมานุ่งผ้าเรียงกัน ๓ นิ้ว ๕ นิ้ว ๗ นิ้ว ๙ นิ้ว ๑๖ นิ้ว เรียกแตกต่างกันคือ
ภาคกลาง เรียกว่า "ปั้น" หรือ "องค์"
ภาคเหนือ เรียกว่า "กาบ" หรือ "ขา"
ภาคใต้ เรียกว่า "แม่" หรือ "ลูก" เช่น แม่ ๑๖ ลูก ๙
ภาคอีสาน เรียกว่า "แม่" เช่น แม่ ๑๖ แม่ ๙
บายศรีภาคกลางนอกจากจะมีบายศรีปากชาม บายศรีใหญ่หรือบายศรีต้นแล้ว ปัจจุบันมีการทำบายศรีหลายรูปแบบ ซึ่งสามารถจำแนกออกได้ โดยดูจากรูปแบบของบายศรีว่า เป็นบายศรีแบบดั้งเดิมหรือแบบประยุกต์ บายศรีแบบดั้งเดิม จะทำตามแบบดั้งเดิมโบราณ โดยมีการกำหนดรูปแบบที่แน่นอนตายตัว เช่น บายศรีปากชาม บายศรีเทพ บายศรีพรหม บายศรีตอ บายศรีหลัก (บายศรีต้นหรือบายศรีพระเกตุ) บายศรีขันธ์ ๕ ฯลฯ ส่วนบายศรีแบบประยุกต์ จะทำตามจินตนาการของผู้ทำบายศรี โดยมีการประดิษฐ์แบบวิจิตรสวยงามสอดคล้องกับความเชื่อต่างๆ เช่น บายศรีกำเนิดพระแม่กวนอิม บายศรีพระแม่ธรณี บายศรีพรหมเปิดโลก บายศรีพระแม่โพสพ บายศรีธรรมจักร ฯลฯ
ดังนั้น บายศรีภาคกลางพอจำแนกได้ดังนี้
๑. บายศรีปากชาม
๒. บายศรีเทพ
๓. บายศรีพรหม บายศรีพรหมสี่หน้า
๔. บายศรีตอ
๕. บายศรีหลัก (บายศรีต้น หรือบายศรีพระเกตุ)
๖. บายศรีขันธ์ ๕
๑. บายศรีปากชาม
ประกอบด้วย
๑) แม่ ๙ นิ้ว ลูก ๗ นิ้ว หรือ ๕ นิ้ว
๒) แม่ ๗ นิ้ว ลูก ๕ นิ้ว
๓) แม่ ๕ นิ้ว ลูก ๓ นิ้ว
๔) แม่ ๙ นิ้ว ๗ นิ้ว หรือ ๕ นิ้ว ลูกเป็นแมงดา แมงดาคือ ส่วนที่อยู่ระหว่างองค์บายศรี มีลักษณะคล้ายตัวแมงดา แมงดารูปแบบโบราณจะใช้วิธีการตัดใบตองเป็นรูปลักษณะคล้ายตัวแมงดา อาจฉลุลายได้ตามต้องการ ปัจจุบัน ตัวแมงดาได้มีการดัดแปลงให้มีความงดงามมากขึ้น เป็นรูปแบบที่ประณีต โดยการพับใบตองนำมาเย็บติดกับแบบแมงดา หรืออาจนำดอกไม้มาเย็บติดกับแบบแมงดา เพื่อให้ดูสวยงามมากยิ่งขึ้น
๕) กรวยบายศรี สำหรับใส่ข้าว ภายในกรวยให้ใส่ข้าวปากหม้อที่หุงสุก (ข้าวที่หุงเสร็จใหม่ๆ ยังไม่ได้ตัก) รอให้ข้าวเย็น แล้วจึงตักข้าวให้เต็มกรวย และอัดให้แน่น เรียกว่า หัวบิณฑ์ มีความหมายแทนข้าวสวย พร้อมทั้งใส่กล้วยน้ำว้า ซึ่งมีความหมายแทนกล้วยน้ำไทที่หายาก และยังแทนผลไม้ต่างๆ นอกจากนี้ ใส่แตงกวาซึ่งมีความหมายแทนผักสดต่างๆ ชามละ ๑ ลูก โดยตัดหัวตัดท้ายของกล้วยน้ำว้าและแตงกวาออก และผ่าออกเป็น ๓ ส่วนตามความยาวเท่าๆ กัน จากนั้นนำกล้วยน้ำว้า และแตงกวา มาประกบกัน แล้วนำไปใส่สับหว่างระหว่างองค์บายศรี
๖) ดอกไม้ที่ใช้ในการตกแต่งบายศรี ส่วนใหญ่จะใช้ดอกดาวเรืองนำมาตกแต่งให้สวยงาม เพราะดาวเรืองมีความหมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง หรือใช้ดอกไม้มงคล ส่วนยอดกรวยจะประดับด้วยดอกดาวเรืองและดอกบัว ดอกบัวที่ยอดกรวยตามคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์ ห้ามพับเด็ดขาด และต้องใช้ดอกบัวตูม แต่ถ้านำไปใช้ในพิธีกรรม ที่มีการถวายของคาว จะต้องเปลี่ยนจากดอกบัวเป็นไข่ต้ม ซึ่งมีความหมายแทนอาหารคาว
๗) ภาชนะที่ใช้ในการใส่บายศรีปากชาม เดิมจะใส่ชาม ปัจจุบันนิยมวางบนพาน
บายศรีปากชาม ในพิธีกรรมที่มีการถวายของคาว บนยอดกรวยจะต้องเปลี่ยนจากดอกบัวเป็นไข่ต้ม
บายศรีปากชามจะประกอบด้วยแม่ ๓ องค์ ลูก ๓ องค์ ตามลำดับ จะใช้แม่ ๙ นิ้ว ๗ นิ้ว หรือ ๕ นิ้ว ก็แล้วแต่ความเหมาะสม ของงานที่ทำ ว่าใหญ่มากหรือน้อยเพียงใด หรือตามที่เจ้าภาพต้องการ องค์บายศรีอย่างละ ๓ องค์ มีความหมายแทนพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ หรือถ้าถือตามศาสนาพราหมณ์ หมายถึง พระตรีมูรติ ซึ่งได้แก่ พระศิวะ พระนารายณ์ และพระพรหม
ความสำคัญของบายศรีปากชาม
๑. บายศรีปากชามถือเป็นบายศรีพื้นฐานของบายศรีทุกชนิด เปรียบเสมือนการเรียนหนังสือต้องเริ่มเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ก่อน ถึงจะขึ้นชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ และเป็นการเริ่มรู้จักบายศรีว่ามีองค์ประกอบอะไรบ้าง
๒. การนำบายศรีปากชามไปใช้ในพิธีกรรมต่างๆ ต้องนำไปใช้เป็นคู่เสมอ
๓. ในการทำพิธีกรรมต่างๆ จะขาดบายศรีปากชามไม่ได้ หากในพิธีกรรมไม่มีบายศรีชนิดอื่นอย่างน้อยต้องมีบายศรีปากชาม ๑ คู่
๔. บายศรีปากชามใช้ได้ในทุกพิธีกรรม
๒. บายศรีเทพ
ประกอบด้วย
๑) บายศรีแม่ ๑๖ นิ้ว ๔ องค์ ลูก ๙ นิ้ว ๔ องค์ รวม ๘ องค์ต่อ ๑ พาน หรือแม่และลูก ๙ นิ้ว ทั้ง ๘ องค์ต่อ ๑ พาน
๒) กรวยบายศรี กะความสูงให้ดูพองาม ตกแต่งด้วยดอกไม้ให้สวยงาม
บายศรีเทพ
บายศรีเทพประกอบด้วยองค์บายศรี ๑๖ นิ้ว เรียกว่า "แม่" ซึ่งหมายถึง ๑๖ ชั้นฟ้า มี ๔ องค์ และมีลูก ๙ นิ้ว อีก ๔ องค์ รวมเป็น ๘ ทิศ ตามความเชื่อที่ว่า ทิศทั้ง ๘ ทิศ มีเทพปกปักรักษาคุ้มครองอยู่ บายศรีเทพบางแห่งจะเรียกว่า บายศรีพรหมเทพ
บายศรีเทพ
ความสำคัญของบายศรีเทพ
บายศรีเทพนิยมถวายเป็นคู่ หรือจะถวายเดี่ยวก็ได้ แต่ถ้าถวายเดี่ยว ควรตั้งบายศรีไว้ตรงกลาง ใช้ในโอกาสต่างๆ ดังนี้
๑. การบูชาพระ
๒. พิธีการบวงสรวงเทวดาอารักษ์
๓. พิธีการไหว้ครูประจำปี
๔. การบูชาองค์เทพที่อยู่ในชั้นเทวโลกทุกๆ ชั้น
๕. ใช้สำหรับต้อนรับองค์เทพที่อยู่บนสวรรค์ชั้นเทวโลก
๓. บายศรีพรหม บายศรีพรหมสี่หน้า
บายศรีพรหมมีหลายแบบ เช่น บายศรีพรหม บายศรีพรหมสี่หน้า บายศรีพรหมประกาศิต ฯลฯ อาจมีชื่อเรียกแตกต่างกัน ตามแต่ละท้องถิ่น แต่ก็จะมีลักษณะที่เหมือนกันคือ ต้องมีแม่ ๑๖ นิ้ว จำนวน ๔ ทิศ และลูก ๙ นิ้ว จำนวน ๔ ทิศเหมือนกัน ถึงจะเป็นพรหมสี่หน้า ถ้านับด้านใดด้านหนึ่งก็จะมีจำนวน ๑๖ นิ้ว เหมือนกัน
๑. องค์บายศรี
บายศรีพรหม ประกอบด้วย
แม่ ๑๖ นิ้ว จำนวน ๔ ทิศ ลูก ๙ นิ้ว จำนวน ๔ ทิศ และมีบายศรี ๙ นิ้ว หงายรองรับแม่ ๑๖ นิ้ว บายศรี ๕ นิ้วหงายรองรับบายศรี ๙ นิ้ว
บายศรีพรหม
บายศรีพรหมสี่หน้า ประกอบด้วย
แม่ ๓๒ นิ้ว (คือ แม่ ๑๖ นิ้ว ประกบกัน ๒ด้าน ด้านละ ๑๕นิ้วรวมยอด ๑ นิ้ว นับด้านใดด้านหนึ่งจะได้ ๑๖ นิ้ว หรือทำทั้ง ๒ ด้าน ด้านละ ๑๖ นิ้วก็ได้) ลูก ๙ นิ้ว หรือ ๑๘ นิ้ว ก็ได้ (ลูก ๑๘นิ้ว คือ ลูก ๙ นิ้ว ประกบกัน ๒ ด้าน ด้านละ ๘ นิ้ว ยอดตรงกลาง ๑ นิ้ว นับรวมยอดก็จะได้ ๙ นิ้ว หรือทำทั้ง ๒ ด้าน ด้านละ ๙ นิ้ว ก็ได้) มีลักษณะคล้ายพาย
บายศรีพรหมสี่หน้า
๒. กรวยบายศรี
ความสูงของกรวยกะดูพองามให้ได้สัดส่วนกับองค์บายศรี และตกแต่งด้วยดอกไม้ให้สวยงาม บายศรีพรหมมีความหมายเหมือนกับลักษณะพระพักตร์ของพระพรหมซึ่งมี ๔ พระพักตร์ เดิมพระพรหมมีพระวรกายสีแดง และมีพระพักตร์ ๕ พระพักตร์ ต่อมาในภายหลัง พระพรหมกล่าววาจาสบประมาทพระศิวะ ทำให้พระศิวะโกรธ จึงใช้อิทธิฤทธิ์ของดวงพระเนตรที่ ๓ เพ่งไปที่พระพักตร์ที่ ๑ ของพระพรหมจนไหม้เป็นจุณไป พระพรหมจึงเหลือเพียง ๔ พระพักตร์
ความสำคัญของบายศรีพรหม
ใช้ในโอกาสต่างๆ ดังนี้
๑. การบูชาพระ
๒. พิธีการบวงสรวงเทวดาอารักษ์
๓. พิธีการไหว้ครูประจำปี
๔. การบูชาองค์พระพรหมและใช้สำหรับรองรับองค์พระพรหมที่อยู่บนสวรรค์ชั้นพรหมโลก ซึ่งประกอบด้วย รูปพรหม ๑๖ และอรูปพรหม ๔
๔. บายศรีตอ
การประดิษฐ์หรือการประกอบบายศรีตอมีอยู่หลายรูปแบบ และหลายขั้นตอน แล้วแต่จินตนาการของผู้ประดิษฐ์หรือผู้ประกอบ ในหลักการ สิ่งที่ใช้ในการประกอบโดยเฉพาะฐานของบายศรีตอ ตามแบบโบราณส่วนใหญ่ใช้ต้นกล้วยตัดเป็นท่อนๆ (ปัจจุบัน อาจเป็นฐานเหล็กหรือฐานไม้) สูงประมาณ ๑๗ นิ้วครึ่ง หรือประมาณ ๕๐ เซนติเมตร แล้วก็ใช้องค์บายศรี เช่น แม่ ๕ ลูก ๓ หรือแม่ ๙ ลูก ๕
บายศรีตอ
ความสำคัญของบายศรีตอ
การนำบายศรีตอไปใช้ในพิธีกรรมต่างๆ นิยมนำไปใช้เป็นคู่ ใช้ในโอกาสต่างๆ ดังนี้
๑. พิธีการบวงสรวงเทวดาอารักษ์
๒. พิธีการไหว้ครูประจำปี
๓. ใช้สำหรับต้อนรับองค์เทพที่อยู่ในชั้นภาคพื้นดิน พระมหากษัตริย์ หรือผู้ที่สร้างคุณงามความดีต่อประเทศชาติทุกยุคทุกสมัย เช่น สมัยหริภุญชัย สุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์ ได้แก่ เจ้าแม่จามเทวี เจ้าพ่อพระยาแล เจ้าพ่อพิชัยดาบหัก เจ้าแม่สุโขทัย
๕. บายศรีหลัก (บายศรีต้น หรือบายศรีพระเกตุ)
บายศรีหลักหรือเรียกอีกอย่างว่า บายศรีต้น บายศรีพระเกตุ มีหลายประเภท เช่น บายศรีหลักบัวคว่ำบัวหงาย บายศรีหลักหงส์ บายศรีหลักพญานาค อย่างไรก็ตาม แม้มีชื่อเรียกเป็นอย่างอื่น องค์ประกอบที่สำคัญของบายศรีหลัก ได้แก่
๑. ไม้หลักต้นบายศรี (ในสมัยโบราณจะใช้ต้นกล้วย ปัจจุบันใช้เป็นหลักไม้หรือเหล็กเพื่อความสะดวกในการจัดเก็บ) บายศรี ๙ ชั้น ไม้หลักสูงประมาณ ๒ เมตร ส่วนบายศรีหลัก ๓ ชั้น ๕ ชั้น ๗ ชั้น กะความสูงให้พอเหมาะกับความสูงขององค์บายศรี
๒. แป้นรองบายศรีแต่ละชั้น อาจจะใช้โฟมหรือต้นกล้วยตัดเป็นท่อนๆ ก็ได้ ขนาดแล้วแต่ผู้ทำบายศรีกำหนด
๓. จำนวนชั้นของหลักบายศรี จะเป็นเลขคี่เสมอ คือ บายศรีหลัก ๓ ชั้น ๕ ชั้น ๗ ชั้น หรือ ๙ ชั้น
๔. จำนวนองค์บายศรีในแต่ละชั้น แล้วแต่ผู้ทำบายศรีกำหนด ไม่ได้กำหนดไว้แน่นอนตายตัว แต่ที่กำหนดไว้เป็นหลักตายตัวคือ จำนวนชั้นของบายศรี
บายศรีหลัก ๙ ชั้น
ความสำคัญของบายศรีหลัก (บายศรีต้น หรือบายศรีพระเกตุ)
ใช้ในโอกาสต่างๆ ดังนี้
๑. พิธีการบวงสรวงเทวดาอารักษ์
๒. พิธีการไหว้ครูประจำปี
๓. งานพิธีสำคัญ เช่น บายศรีทูลพระขวัญ ในพิธีทูลพระขวัญ บายศรีหลักที่ใช้ในพิธีจะใช้บายศรีเดี่ยว ๑ หลัก ถ้าใช้ในพิธีกรรมอื่นนิยมใช้เป็นคู่ หรือถ้าจะใช้แบบเดี่ยว ต้องตั้งบายศรีหลักไว้ตรงกลาง
บายศรีทูลพระขวัญถวายตามพระอิสริยยศเป็นประเพณี ดังนี้
บายศรี ๙ ชั้น ใช้สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
บายศรี ๗ ชั้น ใช้สำหรับเจ้านายชั้นเจ้าฟ้า และพระราชอาคันตุกะชั้นประธานาธิบดี
บายศรี ๕ ชั้น ใช้สำหรับเจ้านายที่ทรงกรมหรือเสนาบดี
บายศรี ๓ ชั้น ใช้ในพิธีสมรสของชั้นหลานเจ้านาย
บายศรีชั้นเดียว หรือบายศรีใหญ่ที่ใส่ขันพานรองใบเดียว ใช้ในพิธีของราษฎรทั่วไป
๖. บายศรีขันธ์ ๕
ในการประกอบขันธ์ ๕ จะต้องประกอบด้วยกรวยบายศรีใหญ่ ๑ กรวย บายศรี ๕ นิ้ว จำนวน ๕ องค์ กรวยเล็ก ๕ กรวย ธูป ๕ มัด (มัดละ ๕ ดอก) เทียน ๕ คู่ นำหมากพลู ถั่วงา บุหรี่ ธูปเทียน ใส่ในกรวยให้ครบทั้ง ๕ กรวย จากนั้นจึงตกแต่งด้วยดอกไม้มงคล เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตัวผู้รับขันธ์ ๕
บายศรีขันธ์ ๕
ความสำคัญของบายศรีขันธ์ ๕
๑. การรับขันธ์ ๕ เพื่อเป็นการเตือนตนให้ตั้งอยู่บนความไม่ประมาท และหมั่นสร้างคุณงามความดี ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ รักษาศีล
๒. การรับขันธ์ ๕ ไปบูชา เพื่อให้เกิดนิมิตหมายมงคลที่ดีงามในสรรพมงคลต่างๆ เกิดความเจริญรุ่งเรืองสืบต่อไป