เล่มที่ 37
โรคเอสแอลอี
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
อาการแสดงของโรคเอสแอลอี

            ผู้ป่วยโรคเอสแอลอีแต่ละรายจะมีอาการแสดงและความรุนแรงของโรคแตกต่างกัน ส่วนใหญ่จะเริ่มด้วยอาการไม่สบายทั่วๆ ไป เช่น มีไข้ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ที่น่าสังเกตคือ อาการอ่อนเพลียค่อนข้างรุนแรง และมักผมร่วง ส่วนอาการตามระบบอาจแตกต่างกัน โดยมีอาการแสดงของแต่ละระบบดังนี้


ข้ออักเสบ บวม แดง และปวด

ข้อและกล้ามเนื้อ

             ผู้ป่วยเกือบทุกรายจะมีอาการปวดตามข้อ ตามกล้ามเนื้อ บางรายมีข้อบวม และอักเสบด้วย โดยส่วนใหญ่เป็นที่ข้อนิ้วมือ ข้อมือ และข้อเข่า อาการจะเป็นมากตอนเช้าและหลังตื่นนอน โดยรู้สึกข้อแข็งตึง ขยับลำบาก ต้องเคลื่อนไหวสักพัก อาการจึงจะดีขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าข้อจะอักเสบ บวม แดง และปวด แต่มักไม่มีการทำลายผิวข้อ จนทำให้เกิดความพิการ ข้อนิ้วหงิกงอ หรือผิดรูปผิดร่าง เหมือนอาการของโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์ ซึ่งอาการข้ออักเสบนี้ อาจเป็นๆ หายๆ หรือเป็นตลอดเวลา ที่มีการกำเริบก็ได้

ผิวหนัง   

            อาการทางผิวหนังที่พบบ่อยและค่อนข้างจะเป็นลักษณะจำเพาะของโรคก็คือ ผื่นแดงรูปปีกผีเสื้อบริเวณโหนกแก้มและดั้งจมูก ผื่นนี้เป็นที่มาของชื่อโรค กล่าวคือ คำว่า ลูปัส (lupus) เป็นคำในภาษาละติน แปลว่า สุนัขป่า และอีริทีมาโทซัส (erythematosus) มาจากคำในภาษากรีกที่แปลว่า แดง เนื่องจากผื่นมีสีแดงและขึ้นอยู่ในตำแหน่งเดียวกับรอยด่างขาวบนหน้าของสุนัขป่า บางคนอธิบายว่า เพราะลักษณะผื่นเหมือนรอยแผลที่ถูกสุนัขป่ากัด โดยผื่นจะขึ้นเป็นวงแดง บางครั้งดูเหมือนผื่นลมพิษ แต่ไม่เจ็บ และไม่คัน เมื่อผื่นหายแล้วก็ไม่เกิดแผลเป็น ผื่นผิวหนังอักเสบแบบเดียวกันนี้ยังพบกระจายอยู่บนผิวหนังบริเวณอื่นที่อยู่นอกร่มผ้า เช่น ลำคอ หลังส่วนบน ด้านนอกของแขนและหลังมือ

            ผื่นผิวหนังอักเสบที่จำเพาะสำหรับผู้ป่วยโรคเอสแอลอีอีกแบบหนึ่งเป็นผื่นเรื้อรังที่เรียกว่า ดิสคอยด์ลูปัส (discoid lupus) ลักษณะของผื่นเป็น ปื้นหนาสีขาวหรือสีน้ำตาลดำและมีสะเก็ดปกคลุม หนังกำพร้าบริเวณที่มีผื่นขึ้นเกิดการยุบตัวฝ่อลงไป หนังแท้ถูกทำลายกลายเป็นพังผืด และทำให้เกิดแผลเป็น ผื่นชนิดนี้มักพบบริเวณหนังศีรษะ (ทำให้ผมร่วงเป็นหย่อมบริเวณที่มีผื่น) นอกจากนี้ยังพบที่ใบหู คอ แขน และหลังมือ


หลอดเลือดฝ่ามืออักเสบ ผื่นที่ใบหน้า ลำคอ และผมร่วง


ผื่นผิวหนังอักเสบในโรคเอสแอลอีมักมีการกำเริบเมื่อถูกแสงแดด จึงเรียกว่า มีความไวต่อแสงแดด (photosensitivity) หรือแพ้แดด และถือเป็นอาการอีกอย่างหนึ่งที่ใช้ในการวินิจฉัยโรค

นอกจากนี้ ผื่นผิวหนังลักษณะอื่นๆ ก็พบได้ทุกแบบในผู้ป่วยโรคเอสแอลอี เช่น ลมพิษเรื้อรัง ผื่นพุพอง ผื่นสะเก็ดเงิน จมูกเล็บอักเสบ นิ้วและฝ่ามือเป็นจ้ำแดงเจ็บๆ คันๆ หรือเป็นแผลจากหลอดเลือดที่ผิวหนังอักเสบ ปลายนิ้วเขียวเวลาถูกอากาศเย็น หรือมีชื่อเรียก ในภาษาอังกฤษว่า Raynaud’s phenomenon และผมร่วงซึ่งอาจเกิดทั่วศีรษะหรือเป็นหย่อมๆ เมื่อสามารถควบคุมการกำเริบ ของโรคได้ เส้นผมก็จะงอกขึ้นมาใหม่


แผลบริเวณเพดานปาก

เยื่อบุ    

อาการที่พบบ่อย คือ มีแผลบริเวณเพดานปาก ลักษณะเป็นวงแดง ไม่เจ็บ แพทย์ตรวจพบเอง โดยผู้ป่วยมักไม่พูดถึง เนื่องจากไม่ทำให้เกิดอาการ นอกจากนี้ยังพบแผลบริเวณริมฝีปาก เยื่อบุจมูก และเยื่อบุบริเวณอวัยวะเพศได้ด้วย สำหรับเยื่อบุของอวัยวะภายในที่พบการอักเสบได้บ่อย ในผู้ป่วยโรคเอสแอลอีก็คือ เยื่อหุ้มปอดและเยื่อหุ้มหัวใจ ซึ่งทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอก และอาจตรวจพบน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด หรือช่องเยื่อหุ้มหัวใจ

การเปลี่ยนแปลงทางเลือด    

เกิดจากการที่ภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติไปทำลายเม็ดเลือดชนิดต่างๆ ตลอดจนสารในระบบแข็งตัวของเลือด ทำให้เกิดอาการแตกต่างกันไป ตามชนิดของเซลล์หรือสารที่ถูกทำลาย ได้แก่

๑. ติดเชื้อได้ง่าย ถ้าเซลล์เม็ดเลือดขาวถูกทำลาย
๒. เลือดออกง่าย ตรวจพบเป็นจ้ำเลือดเล็กๆ ที่ผิวหนัง บางรายอาจเป็นมากจนถึงขั้นมีเลือดออก ตามไรฟัน ทั้งนี้ เพราะเกล็ดเลือดถูกทำลาย
๓. โลหิตจาง ถ้าเม็ดเลือดแดงถูกทำลาย
๔. เส้นเลือดอุดตัน เพราะมีลิ่มเลือดเกิดขึ้นจากการที่มีแอนติบอดีไปก่อกวนการทำงานของสารในระบบแข็งตัวของเลือด



ขาบวม

ไต การอักเสบของไตทำให้มีการรั่วของโปรตีนไข่ขาว (albumin) ซึ่งทำหน้าที่ดึงสารน้ำต่างๆ ให้คงอยู่ในหลอดเลือด เมื่อเกิดการสูญเสียโปรตีนไข่ขาวมากเกินไป สารน้ำในหลอดเลือดไม่มีตัวดึง ก็จะรั่วออกไปขังตัวอยู่ตามเนื้อเยื่อต่างๆ ตามแรงโน้มถ่วงของโลก เช่น ถ้ายืนหรือเดิน สารน้ำจะไปขังอยู่ที่ขา ทำให้ขาบวมกดบุ๋ม แต่ถ้านอนก็จะบวมที่หน้า บริเวณรอบตา และที่หลัง นอกจากนี้ อาจมีเม็ดเลือดแดงปนออกมากับปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะเป็นสีน้ำล้างเนื้อ และถ้าไตอักเสบมากจนเสื่อมประสิทธิภาพในการทำงาน ผู้ป่วยจะบวมทั้งตัว ความดันโลหิตสูง ปัสสาวะออกน้อย รวมทั้งมีการคั่งของของเสียที่ควรถูกขับออกทางไต จนถึงไตวายในที่สุด

สมอง การอักเสบที่สมองอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะแบบไมเกรน (migraine) ความจำเสื่อม อาจมีเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ทำให้มีอาการซึม ไขสันหลังอักเสบทำให้มีอาการชาและอ่อนแรงบริเวณขาและลำตัว ปลายประสาทอักเสบ ทำให้ชาปวดแสบปวดร้อนบริเวณปลายมือปลายเท้า รวมทั้งเส้นเลือดในสมองอุดตันทำให้เป็นอัมพฤกษ์หรืออัมพาต แต่อาการที่พบบ่อย จนนำมาใช้ในการวินิจฉัยโรคคือ อาการชักและสติฟั่นเฟือน (psychosis) ปอด ผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยอาการเหนื่อยหอบ หายใจไม่อิ่ม ซึ่งอาจเกิดจากปอดอักเสบเพราะภูมิต้านทานทำลายเนื้อเยื่อปอด หรือปอดบวม เพราะการติดเชื้อ เนื่องจากภูมิต้านทานเสื่อมประสิทธิภาพในการต่อสู้กับเชื้อโรคภายนอก นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ป่วยอาจมีเลือดออกในปอด หรือมีลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดที่ปอด ทำให้การทำงานของปอดเสียไปด้วย หัวใจ การอักเสบอาจทำให้ลิ้นหัวใจรั่ว หรือถ้าเกิดที่กล้ามเนื้อหัวใจก็ทำให้หัวใจวายได้ ผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อยง่าย ชีพจรเต้นเร็ว เจ็บหน้าอก หรือบวมถ้าการทำงานของหัวใจล้มเหลว ทางเดินอาหาร ผู้ป่วยอาจมีการอักเสบของเยื่อบุช่องท้องทำให้ปวดท้อง ท้องบวม ถ้าเกิดการอักเสบของเซลล์เนื้อเยื่อของทางเดินอาหาร ก็จะมีอาการปวดท้อง ท้องเสียเรื้อรัง ถ่ายเป็นมูกเลือด ถ้าอาการรุนแรงอาจลำไส้ทะลุ นอกจากนี้อาจมีการอักเสบของตับหรือตับอ่อน ทำให้คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร


ผู้ป่วยหยอดน้ำตาเทียม เพื่อแก้อาการตาแห้ง


ตา   

อาการที่พบบ่อยคือ อาการตาแห้งไม่มีน้ำตาหล่อเลี้ยง ทำให้รู้สึกเหมือนมีเม็ดกรวด เม็ดทรายในลูกตา นอกจากนี้ อาจมีอาการตาแดง ตาเจ็บหรือม่านตาอักเสบ แต่อาการที่รุนแรงที่สุดก็คือ การอักเสบของเส้นเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงจอตา หรือประสาทตา เพราะทำให้ตาบอดได้

อาการแสดงของโรคนี้มีความหลากหลายมาก แม้ว่าจะมีอาการนำคล้ายๆ กัน แต่อาการเฉพาะระบบในผู้ป่วยแต่ละราย จะแตกต่างกัน และแม้แต่ผู้ป่วยรายเดียวกันในเวลาต่างกันก็อาจมีอาการกำเริบที่อวัยวะต่างกันได้ ผู้ป่วยบางรายมีความผิดปกติ ของอวัยวะเพียงระบบเดียว นำมาก่อน ในขณะที่อีกรายมีการอักเสบของอวัยวะพร้อมกันหลายระบบ โดยมีอาการเด่นเพียง ๑-๒ ระบบ เช่น อาจมีไตอักเสบเป็นอาการหลัก ร่วมกับอาการข้ออักเสบหรือผื่นผิวหนังเล็กน้อย ความรุนแรงของโรคในผู้ป่วยแต่ละราย จึงแตกต่างกัน ขึ้นกับว่าอวัยวะที่มีการอักเสบมีความสำคัญเพียงใด เช่น ถ้ามีการอักเสบที่ไต เม็ดเลือด ปอด หัวใจ หรือสมอง ก็ย่อมรุนแรงกว่าอาการอักเสบที่ข้อ ผิวหนัง และเยื่อบุต่างๆ  

การดำเนินโรคของผู้ป่วยแต่ละรายก็แตกต่างกัน ส่วนใหญ่จะมีการกำเริบและสงบสลับกันไป บางรายมีการกำเริบแล้ว อาการยังเรื้อรังไปเรื่อยๆ แต่ส่วนน้อยที่มีการกำเริบเพียงครั้งเดียวแล้วอาการหายไป หรือเหลือเพียงความผิดปกติเล็กๆ น้อยๆ