เล่มที่ 37
โรคเอสแอลอี
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ยาที่ใช้ในการรักษา

สำหรับยาที่ใช้รักษาโรคเอสแอลอี  มีดังนี้

ยาแอสไพริน และยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์

            ยาในกลุ่มนี้มีประสิทธิภาพรวดเร็วในการลดอาการไข้ อาการข้ออักเสบ ปวดกล้ามเนื้อ และอาการเยื่อหุ้มปอด หรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ จัดเป็นยาขั้นต้นสำหรับผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง และให้เป็นระยะเวลาสั้นๆ ผลข้างเคียงที่สำคัญ ของยากลุ่มนี้คือ การระคายกระเพาะอาหาร อาจทำให้มีแผลในกระเพาะได้ จึงต้องรับประทานยาพร้อมอาหาร หรือใช้ยาลดกรดในกระเพาะควบคู่ไปด้วย นอกจากนี้ การใช้ยากลุ่มนี้นานๆ อาจทำให้ไตเสื่อม รวมทั้งอาจมีความเสี่ยง ต่อการเกิดโรคหัวใจ และหลอดเลือดเพิ่มขึ้น

ยาต้านมาลาเรีย  

            ยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ ยาคลอโรควิน และยาไฮดรอกซีคลอโรควิน พบว่ามีประสิทธิภาพในการปรับเปลี่ยนภูมิคุ้มกันอย่างอ่อนๆ ซึ่งใช้ได้ผล สำหรับอาการข้ออักเสบ และผื่นผิวหนัง แต่มีข้อเสีย คือ ยาออกฤทธิ์ช้า ใช้เวลาประมาณ ๑-๓ เดือน กว่าจะเห็นผลเต็มที่ แต่เนื่องจากเป็นยาที่ปลอดภัยแม้จะใช้ยาเป็นเวลานาน รวมทั้งยังมีประสิทธิภาพในการควบคุมโรค สูงกว่ายาแอสไพริน และยาต้านการอักเสบ ที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ แพทย์จึงมักให้ยานี้ในการควบคุมโรคในระยะสงบ โดยพบว่า ถ้าให้ยานี้ต่อเนื่อง เป็นเวลาอย่างน้อย ๕ ปี จะช่วยลดการกำเริบและบรรเทาความรุนแรงของการกำเริบได้ นอกจากนี้ ยาต้านมาลาเรียยังช่วยลดการเกิดลิ่มเลือด และเพิ่มไขมันชนิดดีซึ่งจะลดการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดด้วย ผลข้างเคียงที่สำคัญคือ ผิวจะดำคล้ำมากขึ้น และยาอาจไปสะสมที่จอตา ซึ่งถ้าผู้ป่วยได้รับการตรวจตาโดยจักษุแพทย์ในทุกๆ ๖ เดือน ก็จะช่วยป้องกันอันตรายต่อสายตาได้

ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์   

            เป็นยาหลักที่ใช้ในการรักษาโรคเอสแอลอี เพราะมีประสิทธิภาพสูงในการลดการอักเสบและออกฤทธิ์รวดเร็ว อาจใช้ยานี้เป็นยาทา ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการผื่นผิวหนังเพียงเล็กน้อย หรือใช้เป็นยากินขนาดต่ำๆ ในรูปของเพรดนิโซโลน (Prednisolone) น้อยกว่า ๐.๕ มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว ๑ กิโลกรัมต่อวันในกรณีที่ผู้ป่วยมีไข้ ปวดข้อ หรือเยื่อหุ้มปอด หรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ และไม่ตอบสนอง ต่อยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ รวมทั้งอาจให้ร่วมกับยาต้านมาลาเรีย ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการทางผิวหนังมาก และต้องการคุมโรคให้ได้เร็วขึ้น สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปานกลางถึงรุนแรงต้องใช้ยาเพรดนิโซโลนขนาดสูงมากกว่า ๐.๕-๑ มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว ๑ กิโลกรัมต่อวัน และถ้าอาการรุนแรงมากอาจถึงขั้นเสียชีวิตหรือสูญเสียอวัยวะ ก็ต้องให้เป็นยาฉีด ในขนาดสูงมาก เทียบเท่าเพรดนิโซโลนขนาด ๑,๐๐๐ มิลลิกรัมทางหลอดเลือดเป็นเวลา ๓ วันต่อเนื่องกัน


ภาวะกระดูกพรุน ที่เกิดจากผลข้างเคียงของยาคอร์ติโคสเตียรอยด์

            ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์มีประสิทธิภาพสูง ในการลดการอักเสบของอวัยวะต่างๆ อัตราการรอดชีวิต ของผู้ป่วย ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดหลังจากที่มีการนำยานี้มาใช้ จนได้รับการบันทึกให้เป็น ความสำเร็จ ในการรักษาโรค แต่ผลข้างเคียงของยา ก็มากเช่นเดียวกัน จากการที่ต้องให้ยาเป็นระยะเวลานาน เป็นเดือนหรือเป็นปี ขึ้นกับความรุนแรงของโรค ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย ได้แก่ อ้วน น้ำหนักเพิ่ม เพราะยาทำให้เจริญอาหารและระคายเคืองกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่รับประทานยานี้นานๆ จะมีใบหน้ากลมเหมือนพระจันทร์ (moon face) คอ มีลักษณะเป็นหนอก (buffalo hump) มีไขมันสะสมบริเวณลำตัว ทำให้ตัวอ้วนแต่แขนขาลีบ ผิวหนังบาง มีรอยแตกโดยเฉพาะบริเวณหน้าท้อง ความดันโลหิตสูง น้ำตาลและไขมันในเลือดสูง เกิดภาวะกระดูกพรุน และต้อกระจกเร็วขึ้น อย่างไรก็ดี อาการเหล่านี้จะค่อยๆ หายไป เมื่อหยุดยา หรือใช้ยาในขนาดต่ำ คงมีเพียงการเกิดหัวกระดูกตาย โดยเฉพาะบริเวณหัวสะโพก ที่ยังไม่มีวิธีป้องกันหรือแก้ไข นอกจากถ้าเป็นมาก ก็ต้องผ่าตัดเปลี่ยนหัวกระดูก
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคนี้มีความชำนาญในการปรับขนาดยาตามความรุนแรงของโรคอยู่แล้ว เมื่อโรคทุเลา แพทย์จะลดยา ให้เหลือน้อยที่สุด เท่าที่จะคุมโรคอยู่ได้ ในทางตรงกันข้ามถ้าโรคกำเริบ แพทย์ก็ต้องเพิ่มขนาดยา ทั้งนี้ นอกจากอาการแสดงแล้ว แพทย์ยังต้องอาศัยการตรวจเลือด และ/หรือการตรวจพิเศษอื่นๆ เป็นระยะๆ เพื่อติดตามทั้งการดำเนินโรคและผลข้างเคียงของยา และเนื่องจากเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องใช้เวลารักษาต่อเนื่องกันนานเป็นปี ผู้ป่วยจำเป็นต้องมีความอดทนอย่างมาก ผลการรักษา จึงขึ้นอยู่กับผู้ป่วยที่ต้องให้ความร่วมมือในการติดตามผลการรักษาและรับประทานยาตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด ไม่ควรเพิ่ม หรือหยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน อย่างไรก็ดี เนื่องจากยามีทั้งผลดีและผลเสีย จึงต้องยอมรับผลข้างเคียง ที่อาจเกิดขึ้น เพื่อแลกกับชีวิต และควรให้ความไว้วางใจว่า แพทย์ทุกคนย่อมปรารถนาให้คนไข้ของตนปลอดภัยจากโรค

ยากดภูมิคุ้มกัน

            ยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์โดยยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์ ซึ่งถ้าใช้ในขนาดพอเหมาะก็จะมีประสิทธิภาพ ในการยับยั้ง เฉพาะเซลล์ที่กำลังแบ่งตัวมากเกินไป ซึ่งก็คือ เซลล์ของระบบภูมิคุ้มกัน แต่ถ้าให้ยามากเกินไป ยาจะไปยับยั้งเซลล์ในระบบอื่น ซึ่งแบ่งตัวตามปกติด้วย ทำให้ไขกระดูกถูกกด ผมร่วง มีแผลอักเสบที่เยื่อบุช่องปาก คลื่นไส้อาเจียน และติดเชื้อง่าย จะเห็นว่า ถ้าใช้ยาในขนาดพอเหมาะ เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดที่ต่ำอยู่จะมีมากขึ้น เพราะถูกทำลาย โดยภูมิต้านทานน้อยลง แต่ถ้าให้ยาในขนาดที่มากเกินไปก็จะกดไขกระดูกทำให้เม็ดเลือดชนิดต่างๆ น้อยลง การบริหารยากลุ่มนี้ จึงค่อนข้างยาก ต้องอาศัยแพทย์ผู้ชำนาญจริงๆ และเก็บไว้ใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากเท่านั้น เมื่อคุมโรคได้ ก็ต้องรีบหยุดยา หรือลดยาทันที เพราะผลข้างเคียงอาจรุนแรงถึงชีวิตได้ อย่างไรก็ดี เนื่องจากยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์ช้า จึงมักต้องให้ร่วมกับยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ ซึ่งออกฤทธิ์ทันที ยาในกลุ่มนี้ที่ใช้บ่อย ได้แก่ ยาเมโทเทร็กเซต ยาอะซาไทโอพริน และยาไซโคลฟอสฟาไมด์ ซึ่งมีประสิทธิภาพและผลข้างเคียงสูงสุดในกลุ่มนี้ สำหรับผลข้างเคียงร้ายแรง ที่พบเฉพาะจากยาไซโคลฟอสฟาไมด์ ก็คือ ปัสสาวะเป็นเลือดเนื่องจากยาไปสะสมที่กระเพาะปัสสาวะ ทำให้อักเสบ เมื่อได้รับการรักษาด้วยยานี้ จึงต้องดื่มน้ำมากๆ และไม่กลั้นปัสสาวะเพื่อขับยาส่วนเกินออกให้เร็วที่สุด นอกจากนี้ ยายังไปกดการทำงานของรังไข่ ทำให้หมดประจำเดือนก่อนวัยอันควร ซึ่งถ้าผู้ป่วยมีอายุน้อย การทำงานของรังไข่จะกลับเป็นปกติ เมื่อหยุดยา แต่ถ้าผู้ป่วยมีอายุมากกว่า ๓๕ ปี การกดการทำงานของรังไข่มักเกิดอย่างถาวร และทำให้ผู้ป่วยเป็นหมัน  

การรักษายังมีรูปแบบอื่นๆ ที่คิดค้นขึ้นมาเพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากๆ เช่น การฟอกน้ำเหลือง การปลูกถ่ายไขกระดูก การใช้กลุ่มยาที่เป็นสารชีวภาพ (Biologic agents) แต่การรักษารูปแบบนี้มีค่าใช้จ่ายสูงมาก และการรักษายังไม่รับรองผลแน่นอน จึงเก็บยาที่เป็นสารชีวภาพไว้ใช้เมื่อยาสเตียรอยด์และยากดภูมิต้านทานไม่สามารถคุมโรคให้สงบได้

            โรคนี้ยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด ยาที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดเพียงแต่ช่วยควบคุมการกำเริบของโรคให้สงบได้ชั่วคราวเท่านั้น แต่สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากๆ ยาอาจมีประสิทธิภาพไม่สูงพอ หรือต้องใช้ยาในขนาดสูง จนเกิดผลข้างเคียง โดยเฉพาะการติดเชื้อ ทำให้ไม่สามารถรักษาชีวิตของคนไข้ไว้ได้ นอกจากนี้ ผลข้างเคียง จากการที่ต้องใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เป็นเวลานาน ก็ทำให้คุณภาพชีวิตลดลง บางรายพิการหรือไม่สามารถประกอบอาชีพที่ทำอยู่ ต่อไปได้ โดยมีอัตราการลาออกจากงานสูงถึงร้อยละ ๔๐ ภายในเวลา ๓-๔ ปีหลังจากที่ได้รับการวินิจฉัยโรค

            ผู้ป่วยที่อาการรุนแรงมากแม้กระทั่งยาก็ไม่อาจรักษาได้ปัจจุบันมีอยู่จำนวนน้อย และจะน้อยลงไปอีกเพราะมีการคิดค้นยาใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นและมีผลข้างเคียงน้อยลงออกมาเรื่อยๆ นอกจากนี้ แพทย์ไทยมีความเชี่ยวชาญในการรักษาโรคนี้มากขึ้น หากคนไข้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีก็มักควบคุมโรคให้สงบได้ ทำให้ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตได้เหมือนคนปกติ ซึ่งแสดงให้เห็นประสิทธิภาพของการรักษาที่น่าประทับใจมาก อนึ่ง แม้โรคนี้จะรักษาไม่หายขาด แต่ถ้าพิจารณาตามความเป็นจริง โรคที่พบในผู้ใหญ่เกือบทุกโรค เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคกระเพาะ โรคข้ออักเสบ โรคลมชัก โรคอื่นๆ อีกหลายโรคก็รักษาไม่หายขาดเช่นเดียวกัน ญาติมีส่วนอย่างมากในการช่วยเป็นกำลังใจให้ผู้ป่วยอดทนต่อสู้เพื่อเอาชนะโรค และแม้ว่าโรคจะสงบก็ยังวางใจไม่ได้ ผู้ป่วยต้องดูแลตัวเองให้แข็งแรง และระวังตัวไม่ให้โรคกำเริบ เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ยา ที่มีผลข้างเคียงสูง และช่วยลดผลของโรคในระยะยาว ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดตีบตันและหัวใจขาดเลือดมากกว่าคนปกติ ในวัยเดียวกัน เมื่อมีอาการไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ปวดข้อ มีผื่น หรือผมร่วงมากผิดปกติ มักเป็นอาการนำที่บ่งชี้ว่า โรคกำลังจะกำเริบ ก็ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรักษาก่อนที่อาการจะรุนแรง

บุคคลที่มีชื่อเสียงรู้จักกันทั่วโลกและป่วยเป็นโรคเอสแอลอี ได้แก่ นายเฟอร์ดินานด์  มาร์กอส อดีตประธานาธิบดี ของประเทศฟิลิปปินส์ และนายไมเคิล  แจ็กสัน นักร้องดังชาวอเมริกัน