เล่มที่ 37
โรคเอสแอลอี
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
วิธีการรักษา

            โรคเอสแอลอีเป็นโรคเรื้อรังเช่นเดียวกับโรคความดันโลหิตสูง หรือโรคเบาหวาน ซึ่งแม้จะไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด แต่ถ้าสามารถควบคุมโรคไม่ให้กำเริบรุนแรง ผู้ป่วยก็จะมีชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป เป้าหมายในการรักษา จึงเป็นการบรรเทาอาการเจ็บป่วยและป้องกันการอักเสบไม่ให้รุนแรง จนถึงขั้นทำลายอวัยวะ ด้วยการลดภาวะภูมิต้านทานต่อเนื้อเยื่อของตนเอง


ป้องกันแสงแดด ด้วยการทาครีมกันแดด

การรักษาจะแตกต่างกันไปตามความรุนแรงของโรค ผู้ป่วยที่มีอาการน้อย อาจใช้แค่ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เพียงชั่วครั้งชั่วคราว แต่สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอาจต้องใช้ทั้งยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ในขนาดสูงร่วมกับยากดภูมิต้านทาน อย่างไรก็ดีการรักษาพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วยโรคเอสแอลอีทุกรายไม่ว่าจะมีอาการมากหรือน้อย ได้แก่


หลีกเลี่ยงแสงแดดเมื่อออกนอกบ้าน

            ๑.  การป้องกันปัจจัยที่จะกระตุ้นให้โรคกำเริบ ที่สำคัญคือ การหลีกเลี่ยงแสงแดด โดยเฉพาะในช่วง ๑๐.๐๐-๑๖.๐๐ น. ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งที่ไม่จำเป็น ใส่เสื้อแขนยาวและกางเกงขายาว สวมหมวกหรือกางร่มเมื่อออกนอกบ้าน การทาครีมกันแดดที่มีค่าเอสพีเอฟ (SPF) มากกว่า ๑๕ ขึ้นไป ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถป้องกันแสงแดดได้บางส่วน นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงแสงไฟดิสโก้ แสงจากเครื่องถ่ายเอกสาร หรือแม้แต่ความร้อนจากหน้าเตาไฟ หรือห้องอบไอน้ำ


การนั่งสมาธิ นอกจากทำให้จิตใจสงบ
ยังช่วยไม่ให้โรคเอสแอลอีกำเริบมากขึ้น

            ๒. พักผ่อนให้เพียงพอ โดยเฉพาะในช่วงที่โรคกำเริบ ยิ่งต้องการการพักผ่อนมากขึ้นกว่าปกติ นอกจากการนอนหลับ อย่างมีคุณภาพแล้ว ยังต้องทำจิตใจให้เบิกบาน ไม่เครียดกับการงาน หรือการเรียน ถ้าจำเป็นก็ต้องพักงาน หรือพักการเรียนไว้ชั่วคราว จนกว่าโรคจะสงบ ถ้ายิ่งวิตกกังวล โรคก็ยิ่งควบคุมได้ยาก อาจผ่อนคลายความเครียด ด้วยการฟังเพลง ออกกำลังกายเบาๆ หรือนั่งสมาธิ

            ๓. มีวินัยในการรับประทานยา ไม่ควรลดหรือหยุดยาเอง และไม่ควรซื้อยารับประทานเอง เพราะผู้ป่วยโรคเอสแอลอี มีโอกาสแพ้ยามากกว่าคนปกติ


ใช้ผ้าปิดจมูกเมื่ออยู่ในที่ชุมชน เพื่อป้องกันการติดเชื้อ

            ๔. ป้องกันการติดเชื้อ ด้วยการหลีกเลี่ยงที่ชุมชน ไม่คลุกคลี กับผู้ที่กำลังมีอาการของโรคติดเชื้อ และระวังสุขอนามัยส่วนตัว ไม่รับประทานอาหารที่สุกๆ ดิบๆ เพราะผู้ป่วยโรคเอสแอลอี มีภูมิคุ้มกันไม่เพียงพอ ที่จะต่อสู้กับเชื้อโรคภายนอก จึงเกิดการติดเชื้อได้ง่าย และรุนแรงกว่าคนทั่วไป ซึ่งเมื่อเกิดการติดเชื้อโรค ก็มักกำเริบด้วย

            ๕. ควรคุมกำเนิดเมื่อโรคกำเริบ ผู้ป่วยโรคเอสแอลอีแต่งงานและมีบุตรได้ แต่เนื่องจากการตั้งครรภ์ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ซึ่งไปกระตุ้นการกำเริบของโรค อีกทั้งยากดภูมิต้านทานส่วนใหญ่ยังมีผลต่อทารกในครรภ์ ดังนั้น ผู้ป่วยควรคุมกำเนิดในขณะที่โรคกำเริบ จนโรคสงบ และหยุดยากดภูมิต้านทานได้แล้วอย่างน้อย ๖ เดือน จึงวางแผนตั้งครรภ์ โดยไม่ต้องกังวลว่าบุตรที่เกิดมาจะต้องเป็นโรคนี้เหมือนแม่ เพราะแม้ว่าบุตรที่มีแม่เป็นโรคเอสแอลอีจะมีโอกาสเป็นโรคนี้ มากกว่าคนปกติ แต่ก็มีเพียงร้อยละ ๕ เท่านั้นที่เกิดโรค