การวินิจฉัยโรค
โรคเอสแอลอีเป็นโรคที่ซับซ้อนเข้าใจยากอันเนื่องมาจากความหลากหลายของอาการแสดง บางครั้งสามารถให้การวินิจฉัยได้ง่ายดาย แต่ในผู้ป่วยบางรายกว่าจะมีอาการที่ชัดเจนว่าเป็นโรคเอสแอลอี แพทย์อาจวินิจฉัยผิดเป็นปี นอกจากนี้อาการของหลายระบบยังไม่มีลักษณะจำเพาะ โดยผู้ป่วยจะมีอาการแสดง เหมือนอาการที่เกิดจากสาเหตุอื่น เช่น ข้ออักเสบจากโรคเอสแอลอีก็มีอาการเหมือนข้ออักเสบจากโรครูมาทอยด์ระยะแรก การวินิจฉัยโรคจึงต้องอาศัยเกณฑ์ในการวินิจฉัย โดยรวบรวมจากอาการที่ทั้งจำเพาะและพบบ่อยในผู้ป่วยโรคเอสแอลอี ๑๑ อาการ หากผู้ป่วยรายใดมีอาการเหล่านี้ ๔ อาการขึ้นไป จะมีโอกาสเป็นโรคเอสแอลอีมากกว่าร้อยละ ๙๐
อาการของโรคเอสแอลอี ๑๑ อาการ ได้แก่
๑. ผื่นรูปปีกผีเสื้อที่โหนกแก้มและดั้งจมูก
๒. ผื่นแพ้แดด
๓. ผื่นดิสคอยด์ ลักษณะคล้ายจาน
๔. แผลในปาก
๕. ข้ออักเสบที่ไม่มีการทำลายเยื่อหุ้มข้อ
๖. เยื่อหุ้มปอดหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
๗. การทำลายเม็ดเลือด ซึ่งได้แก่ โลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงถูกทำลายโดยภูมิต้านทาน เม็ดเลือดขาวต่ำ หรือเกล็ดเลือดต่ำ ผิดปกติ
๘. ไตอักเสบ ตรวจพบจากการมีเม็ดเลือดแดงหรือโปรตีนไข่ขาวในปัสสาวะมากผิดปกติ
๙. อาการชักหรือสติฟั่นเฟือนเนื่องจากการอักเสบของระบบประสาท
๑๐. การตรวจพบแอนตินิวเคลียร์แอนติบอดี (antinuclear antibody) ในซีรัมของผู้ป่วย
๑๑. การตรวจพบแอนติบอดีที่จำเพาะของโรคเอสแอลอี ได้แก่ แอนติฟอสฟอไลปิดแอนติบอดี (antiphospholipid antibody) ซึ่งเป็นตัวก่อกวนการทำงานของสารในระบบแข็งตัวของเลือด หรือแอนติดีเอ็นเอ (antiDNA) หรือแอนติเอสเอ็ม (antiSm) หรือการตรวจพบผลบวกปลอมของโรคซิฟิลิส
อาการของโรคอาจเกิด ๔ อาการขึ้นไปพร้อมกัน ซึ่งจะช่วยให้วินิจฉัยโรคได้โดยง่าย หรืออาจเกิดทีละอาการต่อเนื่องกันเป็นปี กว่าที่จะชัดเจนว่าเป็นโรคเอสแอลอี แม้ว่าอาการจะเกิดได้ทุกระบบของร่างกาย แต่อาการที่พบบ่อยมีเพียงไม่กี่ระบบ ซึ่งได้แก่ ข้อ ผิวหนัง เยื่อหุ้มปอด และไต โดยมีอาการทั่วไปนำมาก่อน อาการเบื้องต้นที่จะทำให้สงสัยว่าเป็นโรคนี้ ได้แก่
๑. มีไข้เรื้อรังเกิน ๑ เดือน โดยไม่ทราบสาเหตุ
๒. ผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลียและผมร่วงมากผิดปกติ
๓. ผื่นขึ้นที่ใบหน้าหรือตามตัวบริเวณที่ถูกแสงแดด
๔. เจ็บหน้าอกเวลาหายใจเข้าโดยไม่มีสาเหตุ
๕. มีแผลในปากที่ไม่เจ็บ แต่เรื้อรังเกิน ๑ เดือน
๖. อาการข้ออักเสบ
๗. ขาบวม ตาบวม
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าอาการเหล่านี้เกิดในสตรีวัยเจริญพันธุ์ ทำให้สงสัยได้ว่าอาจเป็นโรคเอสแอลอี