เล่มที่ 37
โรคเอสแอลอี
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การเกิดโรคแทรกซ้อน

            เนื่องจากโรคเอสแอลอีเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องรักษาด้วยยาที่มีผลข้างเคียงสูง จึงมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนได้มาก ทั้งจากตัวโรคเอง และจากยาที่ใช้รักษา โดยเกิดได้ทั้งในระยะที่ยังมีการกำเริบของโรค และในระยะที่โรคสงบแล้ว อย่างไรก็ดีไม่ใช่ว่า ผู้ป่วยจะต้องเกิดโรคแทรกซ้อนทุกราย หากได้รับการดูแลดีทั้งจากแพทย์และตัวผู้ป่วยเอง ก็มีโอกาสที่จะหลีกเลี่ยง การเกิดภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ได้ โรคแทรกซ้อนที่สำคัญ มีดังต่อไปนี้

โรคติดเชื้อ     

            ในประเทศไทย ภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อ เป็นสาเหตุการตายที่สำคัญที่สุด ของผู้ป่วยโรคเอสแอลอี ในระยะที่ยังมีการกำเริบของโรค ทั้งนี้เพราะโดยตัวโรคเองที่มีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ก็ทำให้เม็ดเลือดขาวมีจำนวน และการทำงานที่บกพร่องไปอยู่แล้ว ในระยะที่โรคกำเริบ ผู้ป่วยจึงมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย ในขณะเดียวกัน หากใช้ยากดภูมิคุ้มกัน เพื่อควบคุมให้โรคสงบในขนาดที่มากเกินไป ตัวยาส่วนเกินก็จะไปกดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน จนเกิดการติดเชื้อง่ายขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน แพทย์จึงต้องอาศัยความชำนาญในการปรับยาให้มีขนาดที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้ป่วยมีภูมิต้านทานมากพอ ที่จะต่อสู้กับเชื้อโรค แต่ก็ไม่มากจนทำให้เกิดการกำเริบของโรค

ตำแหน่งที่พบการติดเชื้อบ่อย คือ ที่ผิวหนัง ปอด ไขข้อ และทางเดินปัสสาวะ ตามลำดับ โดยการติดเชื้อที่ปอดมักเกิดจากเชื้อวัณโรค

ภาวะกระดูกตายจากการขาดเลือด (Osteonecrosis)

            พบได้ประมาณร้อยละ ๓-๓๐ ตำแหน่งที่พบบ่อยคือ หัวกระดูกสะโพก ซึ่งมักเป็น ๒ ข้าง ผู้ป่วยจะมาพบแพทย์ ด้วยอาการปวดบริเวณขาหนีบ โดยเฉพาะเวลาลงน้ำหนัก ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักเกิดภาวะกระดูกตาย ในขณะที่ได้รับการรักษา ด้วยยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ การวินิจฉัยสามารถทำได้โดยการตรวจคอมพิวเตอร์กระดูก (CT-bone scan) หรือการถ่ายภาพรังสีเอ็มอาร์ไอ ซึ่งจะมีความไวในการตรวจพบเพิ่มขึ้นตามลำดับ การป้องกันทำได้โดยใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ ให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น ถ้าเกิดภาวะกระดูกตายในระยะแรกๆ ที่ยังเป็นไม่มาก ก็อาจรักษาโดยให้ผู้ป่วยเปลี่ยนตำแหน่งลงน้ำหนัก ด้วยการใช้ไม้เท้าช่วย แต่ถ้าเป็นมากต้องพิจารณาการผ่าตัดเปลี่ยนผิวกระดูกหรือเปลี่ยนข้อ


การตรวจวัดความหนาแน่นของมวลกระดูกในผู้ป่วย เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อน จากภาวะกระดูกพรุน


ภาวะกระดูกพรุน (Osteoporosis)

            ภาวะกระดูกพรุนพบได้ร้อยละ ๖๔ ในผู้ป่วยโรคเอสแอลอี และจะไม่แสดงอาการจนกว่าจะมีกระดูกหัก โดยเฉพาะที่กระดูกสันหลังส่วนเอว เชื่อว่าผู้ป่วยโรคเอสแอลอีมีความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักมากกว่าคนปกติที่อายุเท่าๆ กันถึง ๕ เท่า โดยสัมพันธ์กับช่วงอายุตั้งแต่การวินิจฉัยโรคเอสแอลอี ช่วงระยะเวลาที่เป็นโรค ระยะเวลาที่ใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (ซึ่งจะมีผลเพิ่มการทำลายและลดการสร้างมวลกระดูก) การขาดประจำเดือน และการใช้ยาคุมกำเนิด

            การป้องกันเป็นสิ่งที่สำคัญมาก และเป็นแนวทางที่ดีกว่าการรักษาเมื่อเกิดกระดูกหักแล้ว ผู้ป่วยควรได้รับคำแนะนำ ในการปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิตความเป็นอยู่ที่เป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น ถ้าเคยสูบบุหรี่หรือดื่มสุราก็ต้องงดเว้น ผู้ป่วยควรมีการออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควรได้รับแคลเซียมและวิตามินดี ใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ในขนาดที่น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น และควรวัดความหนาแน่นของมวลกระดูกเป็นระยะๆ ทุก ๑-๒ ปีที่ยังได้รับยาคอร์ติโคสเตียรอยด์


การออกกำลังกายและรับประทานอาหารประเภทแคลเซียมและวิตามินดี ช่วยป้องกันภาวะกระดูกพรุน


โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

            พบได้ร้อยละ ๒-๑๖ เป็นสาเหตุสำคัญของการตายในช่วงหลังๆ ของโรคเอสแอลอี โดยช่วงแรกของการเป็นโรค ผู้ป่วยมักเสียชีวิต จากโรคเอสแอลอีที่กำเริบและการติดเชื้อ พยาธิสภาพของการเกิดโรคเนื่องจากการอุดตันของหลอดเลือดเป็นส่วนใหญ่ โดยมีอิมมูนเชิงซ้อนไปทำให้เกิดการสะสมของคอเลสเตอรอลที่ผนังหลอดเลือด รวมทั้งมีการทำงานของเกล็ดเลือดมากเกินไป ในขณะที่การทำงานของระบบละลายลิ่มเลือดเสียไปเนื่องจากมีแอนติบอดีไปก่อกวนการทำงานของสารในระบบแข็งตัวของเลือด

            ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบก่อนวัยอันควรในผู้ป่วยโรคเอสแอลอียังไม่ทราบแน่ชัด แต่จากการศึกษาต่างๆ  สันนิษฐานว่า ภาวะความดันโลหิตสูง การหมดประจำเดือน การสูบบุหรี่ ความอ้วน ความผิดปกติของไขมัน ภาวะไตอักเสบเรื้อรัง อายุของผู้ป่วยเมื่อวินิจฉัยโรคเอสแอลอี ระยะเวลาการเป็นโรค และระยะเวลาในการใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยง ที่ทำให้เกิดโรคดังกล่าวเร็วขึ้นกว่าคนปกติ ผู้ป่วยโรคเอสแอลอีจึงควรได้รับความรู้ และการแนะนำ จากแพทย์ผู้รักษา ให้พยายามลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เท่าที่สามารถทำได้