เล่มที่ 34
ปริศนาคำทายของไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การจัดหมวดหมู่ปริศนาคำทาย

            ปริศนาคำทายสามารถจัดหมวดหมู่ด้วยเกณฑ์ต่างๆ อาทิ การแบ่งโดยใช้พื้นที่ทางภูมิศาสตร์เป็นเกณฑ์ เช่น แบ่งปริศนาของไทยออกเป็น ปริศนาคำทายภาคกลาง ปริศนาคำทายภาคเหนือ ปริศนาคำทายภาคอีสาน และปริศนาคำทายภาคใต้ นอกจากนี้ ยังมีเกณฑ์ที่นิยมใช้ในการจัดหมวดหมู่ปริศนาคำทายอีก ๒ อย่าง คือ เนื้อหา และรูปแบบ

การจัดหมวดหมู่ตามเนื้อหา

            เนื้อหาของปริศนาคำทายสามารถใช้เป็นเกณฑ์ในการจัดประเภทปริศนาคำทายได้ เนื้อหาของปริศนาคำทายก็คือ สิ่งที่ปริศนากล่าวถึง ดังที่ปรากฏอยู่ในคำเฉลย เนื้อหาปริศนาคำทายของไทยมีหลากหลาย อาทิ เนื้อหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมรอบตัว เช่น พืช สัตว์ และปรากฏการณ์ธรรมชาติ เนื้อหาเกี่ยวกับมนุษย์ เช่น ร่างกายมนุษย์ เครื่องมือเครื่องใช้ ดังตัวอย่างต่อไปนี้


เนื้อหาเกี่ยวกับ พืช
  • อะไรเอ่ย  ต้นเท่าขา  ใบวาเดียว (เฉลย : ต้นกล้วย)
  • อะไรเอ่ย  เรือนปั้นหยาสีเขียว  เด็กดำนอนกางมุ้งขาว 
(เฉลย : น้อยหน่า)


เนื้อหาเกี่ยวกับ สัตว์
  • อะไรเอ่ย  สี่ตีนยันพื้นธรณี  สองมือขยี้หน้าผาก  มีลูกมากไม่เหมือนแม่
(เฉลย : แมลงวัน)
  • อะไรเอ่ย  สองขาเดินมา  หลังคามุงจาก    (เฉลย : ไก่)


เนื้อหาเกี่ยวกับ ปรากฏการณ์ธรรมชาติ
  • อะไรเอ่ย  เช้าๆ เข้าถ้ำ  ค่ำออกมาเรียงราย  (เฉลย : ดาว)
  • ไอ้ไหรหา  สูงเทียมเขาเขียว  กินคนเดียว  เมาหมดทั้งเมือง  (เฉลย :  ราหูอมจันทร์)


เนื้อหาเกี่ยวกับ ร่างกายมนุษย์
  • อะไรเอ่ย  กอไผ่เต็มกอ  หาข้อไม่พบ  (เฉลย :  ผม)
  • อะไรเอ่ย  อยู่ในวัง  ท่านไม่สั่งไม่ออกมา   (เฉลย :  น้ำมูก)