นวลักษณ์ของปริศนาคำทายไทยในปัจจุบัน
ปริศนาคำทายเป็นการละเล่นที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาเป็นเวลานาน แม้กระนั้น ปริศนาคำทายไทยในปัจจุบันก็มีลักษณะใหม่ๆ หรือ "นวลักษณ์" หลายประการ ซึ่งทำให้การละเล่นไทยชนิดนี้ยังเป็นที่นิยมของคนไทย นวลักษณ์ของปริศนาคำทายไทยในปัจจุบัน ที่จะกล่าวถึงคือ นวลักษณ์ด้านเนื้อหา นวลักษณ์ด้านรูปแบบ และนวลักษณ์ด้านการนำเสนอปริศนาคำทาย
นวลักษณ์ด้านเนื้อหา
เนื้อหาของปริศนาคำทายในปัจจุบันมีลักษณะใหม่คือ มีการกล่าวถึงเทคโนโลยี หรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ อาทิ
- อะไรเอ่ย คบไม่ได้ (เฉลย : รถไฟฟ้าบีทีเอส เพราะมีสองหัว)
ปริศนาคำทายนี้ มีเนื้อหาเกี่ยวกับรถไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมการคมนาคมขนส่งใหม่สำหรับสังคมไทย รถไฟฟ้าแต่ละขบวนจะมีหัวรถจักร ๒ หัว อยู่ที่บริเวณส่วนหัวและส่วนท้าย ของขบวน หัวรถจักรมีลักษณะเหมือนหัวของจรวด จึงทำให้ขบวนรถไฟฟ้ามีส่วนปลายเป็นหัวจรวด เหมือนกันทั้งสองด้าน ปริศนานี้นำลักษณะเด่นของรถไฟฟ้า คือ การมี "สองหัว" มาเล่นกับสำนวน "นกสองหัว" ซึ่งหมายถึง คนที่เข้าด้วยกับทั้งสองฝ่าย คบไม่ได้
- คนเก็บเงินค่าทางด่วนชื่ออะไร (เฉลย : พอดี เพราะก่อนถึงด่านเก็บเงินจะมีป้ายบอกว่า "กรุณาเตรียมเงินค่าผ่านทางให้พอดี")
ปริศนานี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับทางด่วน บริเวณหน้าด่านเก็บค่าผ่านทางด่วน จะมีป้ายขอความร่วมมือให้ผู้ใช้ทางด่วนเตรียมเงิน สำหรับชำระค่าผ่านทาง ให้พอดีกับอัตราที่จัดเก็บ เพื่อความสะดวกรวดเร็ว ข้อความในป้ายมีว่า "กรุณาเตรียมเงินค่าผ่านทางให้พอดี" ผู้คิดปริศนานี้นำความกำกวม ของข้อความดังกล่าวมาใช้ผูกปริศนาขึ้น โดยปกติข้อความนี้ หมายความว่า "กรุณาเตรียมเงินให้เท่ากับจำนวนที่ระบุไว้" ความกำกวมที่เกิดจากข้อความ "ให้พอดี" ทำให้สามารถตีความอย่างพิสดารได้ว่า "กรุณาเตรียมเงินค่าผ่านทาง เพื่อมอบให้แก่คนที่ชื่อ พอดี" ปริศนาคำทายนี้ นำการตีความแบบแหวกแนวนี้ มาสร้างความงุนงง
นอกจากปริศนาอะไรเอ่ยแล้ว โจ๊กปริศนาก็มีเนื้อหาที่แปลกใหม่ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
คิดระเบิดปรมาณูผู้ยอดยิ่ง
(ไอน์สไตน์)
ฉันรักเธอจริงจริงอิงอังกฤษ
(ไอเลิฟยู - I love you.)
สารกินไปไม่คอพอกมากออกพิษ
(ไอโอดีน)
สารเสพติดดมดูดสูดไม่ดี
(ไอระเหย)
(ประสิทธิ์ ประสิว)
ปริศนานี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และความรู้ด้านภาษาอังกฤษ เป็นการนำความรู้สมัยใหม่มาใช้ในการเล่นทาย เพื่อความสนุกสนาน
นวลักษณ์ด้านรูปแบบ
นวลักษณ์ด้านรูปแบบของปริศนา คำทายในปัจจุบัน ที่จะกล่าวถึงในที่นี้มี ๒ ประการ คือ การเน้นการเล่นกับภาษามากขึ้น และปริศนาคำทายบางส่วน มีลักษณะซับซ้อนมากขึ้น ทั้งนี้ นวลักษณ์ประการหนึ่งของปริศนาคำทาย ในปัจจุบันคือ การ "เล่น" กับภาษามากขึ้น ในขณะที่ ปริศนาที่เป็นการพรรณนาเชิงเปรียบเทียบมีน้อยลง ดังจะเห็นได้จาก ปริศนาที่ยกมาเป็นตัวอย่างทั้งสองข้อ ซึ่งทั้งสองปริศนา เล่นกับความกำกวม ของภาษา กล่าวคือ ปริศนาแรก เล่นกับความกำกวม ของวลี "สองหัว" ที่สามารถตีความตามตัวอักษรและตีความในลักษณะสำนวน สำหรับปริศนาที่ ๒ เล่นกับความกำกวมของวลี "ให้พอดี" ที่สามารถตีความว่า เป็นคำขยายระบุลักษณะของการ "เตรียมเงิน" หรือเป็นส่วนขยายบอกวัตถุประสงค์ ของการ "เตรียมเงิน"
นอกจากการ "เล่น" กับความกำกวมของภาษาแล้ว ปริศนาคำทายในปัจจุบัน ยังนิยมใช้การผวนคำ เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างปริศนาด้วย ดังตัวอย่างต่อไปนี้
- หมูอะไรเอ่ย หมุนคอได้ เฉลย : หมูยอ เพราะสามารถผวน และปรับเปลี่ยนได้จาก "หมูยอ" ผวนได้เป็น "หมอยู" จากนั้น ก็แทนคำว่า "ยู" ซึ่งเสียงเหมือนกับ "you" แปลว่า "คุณ" ทำให้ได้เป็น "หมอคุณ" จากนั้นผวนอีกครั้งหนึ่งจาก "หมอคุณ" จะได้เป็น "หมุนคอ" ดังสรุปได้ตามลำดับต่อไปนี้
หมูยอ -> หมอยู -> หมอyou -> หมอคุณ -> หมุนคอ
รูปแบบใหม่ของปริศนาคำทายในยุคปัจจุบันคือ มีความซับซ้อนมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างข้างต้น ซึ่งต้องมีการผวนคำ และปรับเปลี่ยนรูปคำหลายชั้น จึงจะได้คำเฉลยที่สมบูรณ์ นอกจากนี้ บางครั้งมีการผูกปริศนาคำทายเป็นชุด ดังตัวอย่างนี้
- รถไฟกับรางรถไฟ อะไรยาวกว่ากัน (เฉลย : รางรถไฟ)
- เอาอะไรไปวัด (เฉลย : ปิ่นโต)
ปริศนา ๒ ข้อนี้เป็นชุดเดียวกันต้องถามต่อเนื่องกัน เนื้อความในปริศนาทั้งสองข้อ ดูเหมือนจะต่อเนื่องสัมพันธ์กัน แต่แท้จริงแล้ว มิได้สัมพันธ์กัน ปริศนาในข้อแรกนั้น ถามถึงความยาวระหว่าง "รถไฟ" กับ "รางรถไฟ" โดยให้เปรียบเทียบว่า สิ่งใดยาวกว่ากัน คำเฉลยของปริศนาข้อแรกจึงชัดเจน ง่ายดาย ส่วนปริศนาในข้อที่ ๒ ดูเหมือนจะต่อเนื่องกับปริศนาข้อแรก ที่ถามเรื่องความยาว เพราะเนื้อความถามว่า "เอาอะไรไปวัด" แต่เมื่อได้ฟังเฉลยแล้ว ผู้ฟังจึงทราบว่า แท้จริงแล้ว เนื้อความของปริศนาข้อที่ ๒ นั้น มิได้ต่อเนื่องกับปริศนาข้อแรกแต่อย่างใด กล่าวคือ "เอาอะไรไปวัด" ในปริศนาข้อที่ตามมานั้น ไม่ได้หมายถึง "ใช้อุปกรณ์อะไรในการคำนวณความยาว" แต่หมายถึง "นำสิ่งใดติดตัวไปเวลาไปทำบุญที่สถานที่ทางศาสนาที่เรียกว่า วัด"
นวลักษณ์ด้านการนำเสนอปริศนาคำทาย
นวลักษณ์อีกประการหนึ่งของการเล่นปริศนาคำทายในปัจจุบัน คือ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการสื่อสาร เพื่อเป็นช่องทางในการเผยแพร่ และการเล่นทายปริศนา โดยทั่วไปแล้ว ปริศนาคำทายเป็นการละเล่น ที่มักเล่นทายกันระหว่างเพื่อนฝูง หรือญาติพี่น้อง ในโอกาสที่ได้พบปะกัน อย่างไรก็ดี นอกจากการเล่นปริศนาแบบตัวต่อตัวดังกล่าวแล้ว ยังมีการนำเสนอ และเผยแพร่ปริศนาคำทายผ่านสื่อประเภทต่างๆ ด้วยเช่นกัน อาทิ ในช่วง พ.ศ. ๒๕๓๒ - พ.ศ. ๒๕๔๔ ในรายการเกมโชว์ชื่อ "เวทีทอง" ก็ได้มีการประยุกต์ใช้ปริศนาผะหมี ทั้งแบบร้อยกรอง และรูปภาพ เป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันในรายการ ในสื่อสิ่งพิมพ์ ก็มีการนำปริศนาอะไรเอ่ยไปเผยแพร่ ดังในหนังสือการ์ตูนรายปักษ์ เช่น หนูจ๋า และในหนังสือเกมรายปักษ์ เช่น Puzzle Kids ปริศนาหรรษา และเกมลับสมอง
นวลักษณ์ในด้านการนำเสนอปริศนาคำทายในปัจจุบันอีกประการหนึ่งคือ การนำเสนอและเผยแพร่ปริศนาคำทาย ผ่านระบบการสื่อสาร ผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ หรือที่รู้จักและเรียกกันโดยทั่วไปว่า "อินเทอร์เน็ต" การเล่นทายปริศนาผ่านระบบอินเทอร์เน็ตนั้น สามารถทำได้ในหลายๆ รูปแบบ ได้แก่ จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (e-mail) เว็บไซต์ (website) ห้องสนทนา (chat room) กระดานสนทนา (web discussion board) สิ่งที่ปรากฏให้เห็นบ่อยๆ ผ่านการเผยแพร่ทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์และห้องสนทนาคือ การส่งต่อ หรือการทายปริศนาอะไรเอ่ยในหมู่เพื่อน หรือคนรู้จักกลุ่มย่อย ส่วนการเผยแพร่ และการเล่นทายปริศนาผ่านเว็บไซต์ และกระดานสนทนา มีลักษณะที่เปิดกว้างมากกว่า เพราะผู้ที่จะแวะมาอ่าน หรือร่วมกิจกรรม สามารถเป็นผู้ใดก็ได้ที่สนใจในกิจกรรมนี้
เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับการเผยแพร่ปริศนาคำทายนั้นในปัจจุบันมีหลายเว็บไซต์ ได้แก่ www.sanook.com, www.mthai.com, www.funfanclub.com และบ้านปริศนาผะหมี (www.pamee.com) ส่วนการเล่นปริศนาคำทาย ผ่านทางกระดานสนทนานั้น พบได้ที่ห้อง "โต๊ะห้องสมุด" ของเว็บไซต์ www.pantip.com ซึ่งมีกิจกรรมการเล่นทายปริศนา "ผะหมี"
เว็บไซต์บ้านปริศนาผะหมี
กิจกรรมการเล่นทายปริศนาผะหมีบนกระดานสนทนา (web discussion board) "โต๊ะห้องสมุด" ในเว็บไซต์ www.pantip.com นั้น เกิดจากความคิด ของสมาชิกที่ใช้สมญานามว่า "ตั่วปุ้ย" ซึ่งมีพื้นเพเป็นชาวชลบุรี และรู้จักการเล่นทายปริศนาพื้นบ้านชนิดนี้ เพราะเคยพบเห็นในงานศพ ต่อมา การละเล่นชนิดนี้เริ่มห่างหายไป ตั่วปุ้ยต้องการอนุรักษ์ และฟื้นฟูกิจกรรมดังกล่าว จึงได้ริเริ่ม และนำเสนอการเล่นทายปริศนาผะหมีแก่เพื่อนสมาชิก "โต๊ะห้องสมุด" จากจุดเริ่มต้นดังกล่าว ได้มีผู้ร่วมสานต่อการละเล่นทายปริศนาผะหมีมาโดยตลอด กระดานสนทนาได้ทำหน้าที่เป็นเวที ที่ผู้คิดปริศนาสามารถนำปริศนาของตนมานำเสนอไว้ จากนั้น ผู้ที่สนใจสามารถลองทายได้ โดยพิมพ์คำเฉลย และส่งไปยังกระดานสนทนาดังกล่าว โดยผู้คิดปริศนาและผู้ทาย ไม่จำเป็นต้องอยู่ในสถานที่เดียวกัน และไม่จำเป็นต้องใช้อินเทอร์เน็ตในเวลาเดียวกัน คุณลักษณะดังที่กล่าวมานี้ นับเป็นนวลักษณ์ในการเล่นทายปริศนาคำทาย ที่น่าสนใจ แสดงถึงความชาญฉลาด ในการปรับประยุกต์วิทยาการ ด้านการสื่อสารสมัยใหม่ เพื่อการเผยแพร่ และอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยได้เป็นอย่างดี