เล่มที่ 34
ปริศนาคำทายของไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การผสมผสานทางวัฒนธรรมที่พบในปริศนาคำทายไทย

            แม้ปริศนาคำทายเป็นสิ่งที่มีมานานในวัฒนธรรมไทย แต่เมื่อมีกระแสวัฒนธรรมอื่นเข้ามาในสังคมไทย ผู้คิดปริศนาคำทายไทย ก็ได้นำองค์ประกอบบางอย่างจากวัฒนธรรมอื่นๆ ผนวกเข้ามาในปริศนาคำทายไทย ทำให้เมื่อพิจารณาปริศนาคำทายไทยในปัจจุบัน เราจะพบลักษณะการผสมผสานทางวัฒนธรรมในลักษณะต่างๆ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

  • โคอะไรเอ่ยมีแต่หนัง (เฉลย : โคลัมเบียพิกเจอรส์ Columbia Pictures)
            ปริศนานี้นำชื่อของบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับภาพยนตร์ระดับโลกมาเป็นเนื้อหา ตัวปริศนาแสดงให้เห็นถึงความรับรู้ของคนไทย เกี่ยวกับบริษัทภาพยนตร์ของฮอลลีวูดส์บริษัทนี้ และความสามารถในการ "เล่น" กับความรับรู้ใหม่นี้ โดยนำไปผูกกับความกำกวมทางภาษา ระหว่างคำไทยว่า "โค" (คำสุภาพของ "วัว" ) และหน่วยคำเทียม "โค-" ในชื่อ "โคลัมเบียพิกเจอรส์" (Columbia Pictures)

  • ชีอะไรชอบว่ายน้ำ  (เฉลย : She likes to swim.)
            จากตัวอย่างนี้ ความรู้ภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษาสากลของโลกยุคโลกาภิวัตน์ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของปริศนาคำทายของไทย ความคล้ายคลึงของการออกเสียงคำภาษาอังกฤษว่า she (หล่อน) และคำไทยว่า "ชี" (นักบวชเพศหญิง) ถูกนำมาสร้างเป็นแก่นหลัก ของปริศนา เมื่อพูดถึง "ชี" ในปริบทของข้อความภาษาไทยดังปริศนานี้ ชี ในความหมายว่า นักบวชเพศหญิงจะมีความเด่นชัดกว่า ดังนั้น ปริศนาจึงสามารถลวงผู้ฟังให้หลงคิด โดยใช้ความหมายดังกล่าวเป็นหลักได้ เมื่อรู้ว่า คำเฉลยคือ "She likes to swim." ผู้ฟังจึงได้รู้ว่า ปริศนาคำทายไทยข้อนี้ ได้นำความรู้ภาษาอังกฤษมาใช้ ในรูปแบบการละเล่นพื้นบ้านของไทย

            นอกจากปริศนาอะไรเอ่ยแล้ว ปริศนาผะหมีหรือโจ๊ก ก็มีลักษณะผสมผสานระหว่างรูปแบบปริศนาของไทยกับเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง กับวัฒนธรรมต่างชาติ ดังในตัวอย่างต่อไปนี้

บาสดัง นั่งไม่ติด    (NBA)
เรียนอังกฤษ ฟิตเสียงศัพท์    (AUA)
ลือเลื่อง เฟื่องสายลับ    (CIA)
กับถิ่นมุ่ง เมืองลุงแซม    (USA)
           (ประสิทธิ์    ประสิว)

            ปริศนานี้เป็นปริศนาชนิด "พ้องคำหลัง" กล่าวคือ คำตอบในชุดต่างลงท้ายด้วยอักษร "A" ส่วนเนื้อหานั้นจะเห็นได้ว่า มีการนำภาษาอังกฤษมาใช้ปนอยู่ในปริศนาภาษาไทย นอกจากนี้ เนื้อความในปริศนาก็ยังเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมอเมริกัน ในแง่มุมต่างๆ ได้แก่ กีฬา การศึกษา การเมือง