เล่มที่ 34
ปริศนาคำทายของไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ปริศนาคำทายในวัฒนธรรมไทย

            ในประเทศไทย พบว่าคนไทยน่าจะรู้จักปริศนาคำทายมาเป็นเวลานาน ดังมีหลักฐานปรากฏในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ซึ่งเป็นวรรณคดีสมัยสุโขทัย มีการกล่าวถึงปริศนาคำทายไว้ในเนื้อหา ส่วนที่เกี่ยวกับตำนานนางสงกรานต์ ในตำนานกล่าวถึงการท้าพนัน ระหว่างท้าวกบิลมหาพรหมกับธรรมบาลกุมาร ท้าวกบิลมหาพรหมได้ท้าให้ธรรมบาลกุมารแก้ปริศนา ๓ ข้อ หากธรรมบาลกุมารแก้ปริศนาดังกล่าวได้ ท้าวกบิลมหาพรหมจะยอมให้ตัดศีรษะ แต่หากแก้ไม่ได้ ธรรมบาลกุมารก็จะต้องยอมเป็นฝ่ายให้ท้าวกบิลมหาพรหมตัดศีรษะแทน ปริศนา ๓ ข้อมีว่า "ตอนเช้าราศีอยู่ที่ไหน ตอนกลางวันราศีอยู่ที่ไหน และตอนค่ำราศีอยู่ที่ไหน" ธรรมบาลกุมารซึ่งเข้าใจภาษาของนก บังเอิญได้ยินบทสนทนาระหว่างนกผัวเมียคู่หนึ่ง ทำให้ได้รู้คำตอบว่า "ตอนเช้าราศีอยู่ที่หน้า ตอนกลางวันราศีอยู่ที่อก และตอนค่ำราศีอยู่ที่เท้า" ทั้งนี้ เพราะตอนเช้าคนเราล้างหน้า ราศีก็จะอยู่ที่ใบหน้า ส่วนในตอนกลางวัน เมื่ออากาศร้อน ก็เอาน้ำและแป้งหอมประพรมที่หน้าอก ราศีจึงอยู่ที่หน้าอก และในตอนค่ำ คนก็จะล้างเท้า เพื่อเตรียมตัวเข้านอน ราศีจึงอยู่ที่เท้า

            สมัยอยุธยา พบว่า มีการใช้ปริศนาในการสั่งสอนธรรมะ ในรูปแบบที่เป็นกระทู้ปริศนาธรรม ที่เรียกกันว่า "ประคนธรรม" นอกจากนี้ยังกล่าวถึงการเล่นทายปริศนาในนิทานพื้นบ้าน เช่น เรื่องศรีธนญชัย และในวรรณคดีไทย เช่น เรื่องสมุทรโฆษคำฉันท์

            สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการออกสลากกินแบ่ง ที่เรียกว่า "หวย ก ข" เมื่อมีผู้มาขอให้นายโรงบอกใบ้ว่า สลากจะออกอะไร นายโรงก็บอกใบ้เป็นปริศนาให้ลองทาย ต่อมา ในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หอพระสมุดวชิรญาณ (ต่อมาคือ หอสมุดแห่งชาติ)  ได้ออกหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ชื่อ "วชิรญาณสัปดาห์" ใน พ.ศ. ๒๔๒๙ คณะกรรมการหอพระสมุดฯ ได้ชำระโคลงปริศนาชุดหนึ่งชื่อว่า "โคลงทาย" ซึ่งต่อมาได้นำมาตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ "วชิรญาณสัปดาห์" และเปิดโอกาสให้ประชาชนส่งจดหมายมาร่วมทายปริศนา เพื่อรับของรางวัลด้วย

            นอกจากนี้ยังมีบันทึกว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร โปรดการละเล่นทายปริศนาที่เรียกว่า "ผะหมี" โดยครั้งหนึ่งในงานฤดูหนาวประจำปี ของวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เคยโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงทายปริศนาผะหมีในงานนี้ด้วย

            สมัยต่อมา เมื่อมีการพิมพ์และวิทยุโทรทัศน์เกิดขึ้นในประเทศไทย  ก็พบว่า มีการนำปริศนาคำทายมาเผยแพร่ในสื่อต่างๆ ด้วย เช่น ในรายการเกมโชว์ทางโทรทัศน์ ชื่อว่า "ผะหมี" ซึ่งออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง ๔ บางขุนพรหม (ปัจจุบัน คือ สถานีโทรทัศน์ช่อง ๙ อสมท)  มีการนำปริศนาคำทายชนิดหนึ่งที่เรียกว่า "ผะหมี" มาเล่นทายในรายการ และเปิดโอกาสให้ผู้ชมทางบ้านโทรศัพท์มาร่วมทายด้วย


การเล่นทายภาพปริศนาในรายการเกมโชว์ "เวทีทอง"

            ในปัจจุบัน ปริศนาคำทายโดยเฉพาะปริศนาอะไรเอ่ย ยังเป็นการละเล่นที่รู้จักกันดีในสังคมไทย  นอกจากเป็นการเล่นทายปริศนาในหมู่เพื่อนฝูงคนรู้จักแล้ว ยังมีการนำเสนอ และเผยแพร่ปริศนาคำทายผ่านสื่อต่างๆ ที่น่าสนใจ เช่น นิตยสารเกมสำหรับเด็ก รายการเกมโชว์ทางโทรทัศน์ แผ่นซีดีเกมทายปริศนา สำหรับเล่นด้วยคอมพิวเตอร์ เว็บไซต์ กระดานสนทนาบนอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ ยังมีอาจารย์ภาษาไทยนำปริศนาคำทาย โดยเฉพาะปริศนาร้อยกรองที่เรียกว่า "ผะหมี" หรือ "โจ๊ก" มาประยุกต์ใช้เป็นกิจกรรมประกอบการเรียนวิชาภาษาไทยด้วย   

            ในท้องถิ่นต่างๆ ของประเทศไทยล้วนมีปริศนาคำทายเฉพาะถิ่น ปริศนาคำทายเหล่านี้ มีลักษณะที่บ่งบอกความเป็นท้องถิ่น ได้แก่ ภาษาถิ่นที่ใช้ในตัวปริศนาคำทาย และคำขึ้นต้น ดังตัวอย่างต่อไปนี้



ภาคเหนือ  - น้ำทุ่งน้อย  ห้อยปลายหลัก  ตักก็เต๋มบ่ตักก็เต๋ม 
(เฉลย : มะพร้าว)
ภาคอีสาน  - ห้อยอยู่หลักบ่ตักก็เต็ม  
(เฉลย : มะพร้าว)
ภาคกลาง  - อะไรเอ่ย เขียวเหมือนพระอินทร์ มีวารินอยู่กลาง จะว่าเจ๊กก็ไม่ใช่ จะว่าไทยก็ไม่ผิด  มีหางอยู่นิดๆ  
(เฉลย : มะพร้าว)      
ภาคใต้  - ไอ้ไหรหา  หนังหุ้มขน  ขนหุ้มโดก  โดกหุ้มเนื้อ  เนื้อหุ้มน้ำ  น้ำรุแก้ว
(เฉลย : มะพร้าว)
จะเห็นได้ว่า ปริศนาเหล่านี้มีคำเฉลยตรงกันคือ มะพร้าว ในส่วนของตัวปริศนานั้น กล่าวถึงลักษณะเด่นของมะพร้าวในแง่มุมต่างๆ เช่น ข้างในมีน้ำอยู่เต็ม มีเปลือกสีเขียวหุ้มใยมะพร้าวและกะลา และภายในมีน้ำใส ปริศนาบางภาคเนื้อความมีความคล้ายคลึงกัน ส่วนที่แตกต่างกันของปริศนาในแต่ละภาคคือ ภาษาถิ่นที่ใช้ นอกจากนี้ปริศนาคำทายของภาคใต้มักมีคำขึ้นต้นว่า "ไอ้ไหรหา" ด้วย

            สำหรับคำขึ้นต้นหรือคำลงท้ายนั้น ถือเป็นลักษณะเฉพาะของปริศนาคำทายของแต่ละภาค  ซึ่งปริศนาแต่ละภาค จะมีคำที่ต่างกันไป ดังนี้ คำขึ้นต้น ภาคกลางใช้คำว่า "อะไรเอ่ย" ภาคใต้มักใช้คำว่า "ไอ้ไหรหา" ภาคเหนือมักใช้คำว่า "อะหยังเก๊าะ" หรือ "อะหยังเอ๊าะ" ส่วนปริศนาภาคอีสานมักลงท้ายว่า "แม่นหยัง" หรือ "แม่นอีหยัง" คำเหล่านี้แม้ศัพท์และสำเนียงจะผิดแผกกันไปบ้าง แต่โดยรวมแล้ว ก็สามารถเปรียบเทียบได้กับคำว่า "อะไรเอ่ย" ในปริศนาคำทายของภาคกลาง

            จากที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่า ปริศนาคำทายเป็นการละเล่นที่เป็นที่นิยมในสังคมไทย ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน