เล่มที่ 34
ปริศนาคำทายของไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ประโยชน์ของการเล่นปริศนาคำทาย

การเล่นปริศนาคำทายนั้นมีประโยชน์หลายประการ ดังนี้

            ๑. การเล่นปริศนาคำทายช่วยในการฝึกไหวพริบ เชาวน์ปัญญา ผู้ที่เล่นปริศนาคำทายจะได้ฝึกคิดแก้ปมปริศนา ดังที่กล่าวไปแล้วว่า ปริศนาคำทายเกิดจากกรอบวิธีคิดที่สร้างสรรค์ แหวกขนบ การจะคลี่คลายปมปริศนาได ้ต้องคิดอย่างรอบด้านและคิดแบบนอกกรอบ ผู้ที่จะเข้าใจและหาทางไขปริศนาได้นั้น ต้องมองโจทย์อย่างถี่ถ้วน และคิดอย่างรอบคอบ


การอบรมเชิงปฏิบัติการ การทายโจ๊กปริศนา

            ๒. การเล่นปริศนาคำทายให้ความสนุกสนานเพลิดเพลินแก่ผู้เล่น ผู้ร่วมทายปริศนาจะได้เห็นการใช้กลวิธีต่างๆ ในการลวงให้หลงคิดไปในทางที่ไม่ถูกต้อง การค้นพบดังกล่าว ทำให้เกิดความขบขัน ทั้งนี้เพราะผู้ทายได้เรียนรู้ว่า ตนถูกลวงให้คิดไปในแนวทางที่เบี่ยงเบนออกไป และได้เห็นความไม่เข้ากัน ระหว่างแนวทางที่ปริศนาลวงให้หลงเข้าใจผิด กับแนวทางที่ใช้สำหรับไขปริศนา

            ๓. การเล่นปริศนาคำทายมีส่วนในการให้ความรู้ เพราะเนื้อหาของปริศนาคำทายบางส่วน โดยเฉพาะเนื้อหาของปริศนาผะหมีนั้น นอกจากจะเน้นความสนุกสนานแล้ว ยังมีส่วนในการถ่ายทอดความรู้บางอย่างให้แก่ผู้เล่นทายด้วย ดังเช่นตัวอย่างปริศนานี้

ตาหนึ่งเกิดอยู่ถี้ (ที่)   บาทา 
        (ตาปลา)
ตาหนึ่งเลื่อนขึ้นมา    ค่อเท้า 
        (ตาตุ่ม)
ตาหนึ่งเหนือหัตถา   อยู่ข้อ  มือเฮย 
        (ตานกเอี้ยง  ตานกแก้ว)
ตาหนึ่งอ้าปากเอ้า!    เห็นอยู่เบื้องบน
        (ตาลุ)
                             (สุคนธ์   ศิริวัลลภ)

            ในการเล่นทายปริศนานี้ นอกจากมีความสนุกสนานแล้ว ผู้ทายยังได้รับความรู้เกี่ยวกับคำศัพท์ด้วย กล่าวคือ ได้เรียนรู้คำศัพท์ว่า "ตานกเอี้ยง" และ "ตานกแก้ว" ที่หมายถึง ปุ่มกระดูกบริเวณเหนือข้อมือ ซึ่งคำศัพท์ดังกล่าว อาจไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก ในกลุ่มเยาวชน

            ๔. การเล่นปริศนาคำทายมีส่วนช่วยอนุรักษ์และเผยแพร่ศิลปะการประพันธ์ของไทย สำหรับปริศนาร้อยกรอง สร้างโดยใช้คำประพันธ์ไทยประเภทต่างๆ เมื่อเยาวชนร่วมกิจกรรมเล่นทายปริศนาร้อยกรอง ก็จะได้เห็นการประยุกต์ใช้คำประพันธ์ไทยในลักษณะที่สร้างสรรค์ ช่วยให้เยาวชนเห็นคุณค่า และเกิดความคุ้นเคยกับคำประพันธ์ไทยรูปแบบต่างๆ จึงกล่าวได้ว่า กิจกรรมการทายปริศนาร้อยกรอง มีส่วนช่วยจรรโลงศิลปวัฒนธรรมด้านการประพันธ์ของไทย


แผ่นโจ๊กที่นำมาเล่นทาย ติดอยู่บนราว
๔ แถวบน คือ โจ๊ก และถ้อยคำ แถวล่างสุด คือ โจ๊กภาพ

            ปริศนาคำทายเกิดจากความช่างสังเกต ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัว ความนิยมในการเล่นสนุกกับภาษา จากนั้น จึงนำลักษณะพิเศษ ที่สังเกตเห็น มาผูกเป็นคำถาม เพื่อใช้ทดสอบเชาวน์ปัญญา นอกเหนือจากความสนุกสนานแล้ว  ผู้เล่นทายปริศนายังได้รับความรู้ ซึ่งถ่ายทอดผ่านการละเล่นพื้นบ้านได้อย่างแยบยล นอกจากนี้ยังมีลักษณะที่แสดงถึงพัฒนาการ หรือนวลักษณ์ในด้านต่างๆ ทั้งด้านเนื้อหา รูปแบบ และการนำเสนอปริศนา อีกทั้งมีลักษณะที่บ่งบอกถึงการผสมผสานทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้น กล่าวได้ว่า ปริศนาคำทายเป็นการละเล่นพื้นบ้านไทย ที่มีความน่าสนใจอย่างยิ่ง