เล่มที่ 34
ปริศนาคำทายของไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ลักษณะของปริศนาคำทาย

            ปริศนาคำทายมีองค์ประกอบหลัก ๒ ส่วนคือ ปริศนา และคำเฉลย ปริศนาเป็นส่วนที่อธิบายหรือบอกใบ้คำเฉลย แต่ในขณะเดียวกัน คำอธิบายในปริศนาก็ลวงให้ผู้ฟังหลงทางด้วย ลักษณะที่ทั้ง "แนะ" และ "ลวง" ดังกล่าวทำให้ปริศนาคำทายมีความน่าสนใจ กล่าวคือ เมื่อแรกได้ยินข้อปริศนา คนฟังมักถูกลวงให้คิดผิดทาง จนเกิดความฉงนงงงวย แต่เมื่อได้ทราบคำเฉลยแล้ว ก็จะคิดได้ถูกแนวทาง ปริศนาที่ดูเหมือนลึกลับและน่าฉงนนั้น ก็กลับกลายเป็นเรื่องพื้นๆ ที่ไม่มีอะไรชวนสงสัย ลักษณะดังกล่าว ทำให้ปริศนาคำทายสามารถดึงดูดความสนใจของผู้คนเป็นจำนวนมาก นอกจากลักษณะเด่นดังกล่าวแล้ว  ปริศนาคำทายมีลักษณะเด่นทางเนื้อหาและลักษณะเด่นทางภาษาที่น่าสนใจดังนี้

ลักษณะเด่นทางเนื้อหา

            ปริศนาคำทายนั้นมีเนื้อหาหลากหลาย แต่เมื่อพิจารณาโดยรวมแล้วสามารถสรุปลักษณะเด่นทางเนื้อหาได้เป็น ๓ ประการ คือ เนื้อหาเกิดจากการสังเกตสิ่งแวดล้อมรอบตัว เนื้อหาเกิดจากความใส่ใจภาษา และเนื้อหาเกิดจากความคิดสร้างสรรค์ที่แหวกขนบ

๑) เนื้อหาเกิดจากการสังเกตสิ่งแวดล้อมรอบตัว

            เนื้อหาส่วนใหญ่ของปริศนาคำทายของไทยเกิดจากการสังเกตสิ่งแวดล้อมรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของเครื่องใช้ พืชพรรณธรรมชาติ ความใส่ใจและช่างสังเกต ทำให้ผู้คิดปริศนาสามารถนำลักษณะเด่นที่น่าสนใจของสิ่งต่างๆ รอบตัวมาผูกขึ้นเป็นปริศนา ดังในตัวอย่างต่อไปนี้
  • อะไรเอ่ย  ต้นเท่าลำเรือ  ใบห่อเกลือไม่มิด    (เฉลย : ต้นมะขาม)
            ปริศนานี้เกิดจากการสังเกตธรรมชาติ ทำให้เห็นลักษณะที่ดูเหมือนจะตรงกันข้ามกันของต้นมะขาม กล่าวคือ ลำต้นใหญ่มาก แต่ใบเล็กมากจนไม่สามารถห่อเกลือได้

๒) เนื้อหาเกิดจากความใส่ใจภาษา

            นอกเหนือจากการสังเกตสิ่งแวดล้อมรอบตัวแล้ว คนไทยยังใส่ใจต่อภาษาที่ใช้เรียกสิ่งต่างๆ ด้วยความใส่ใจดังกล่าว ทำให้สังเกตเห็นลักษณะที่น่าสนใจบางอย่าง ที่สามารถนำมาผูกเป็นปริศนาได้ ดังตัวอย่างต่อไปนี้    
  • อะไรเอ่ย  เจ๊กขาย  ไทยเขียน (เฉลย :  เทียนไข)
            ปริศนานี้แสดงให้เห็นว่า คนไทยใส่ใจต่อภาษา ทำให้สังเกตเห็นความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มเสียงในภาษา ๒ กลุ่ม คือ "ไทยเขียน" และ "เทียนไข" ซึ่งเป็นเสียงที่เกิดจากการผวนคำอันเป็นลักษณะการเล่นกับภาษาที่โดดเด่นอย่างหนึ่งในวัฒนธรรมไทย   

            ปริศนาผะหมี หรือโจ๊กเป็นปริศนาที่ให้ความสำคัญกับภาษาเป็นอย่างยิ่ง ปริศนากลุ่มนี้ผูกขึ้นจากการสังเกตคำต่างๆ จนทำให้เห็นว่า คำเหล่านั้นมีลักษณะเด่นบางอย่างร่วมกัน ซึ่งสามารถนำมาสร้างเป็นปริศนาได้ และนำคำต่างๆ ที่มีความสัมพันธ์กัน มารวมเป็นหมวดหมู่ เพื่อใช้เล่นทายดังในตัวอย่างนี้ 

นามนางยักษ์ รักพระ อภัยท่าน
(ผีเสื้อสมุทร)
นามแหล่งธาร ขานไข กว้างใหญ่แสน
(มหาสมุทร)
นามนาวา ค้าของ ล่องข้ามแดน
(เรือเดินสมุทร)
นามถิ่นที่ พระสี่แขน แม้นบรรทม
(เกษียรสมุทร)
        (ประสิทธิ์   ประสิว)

            ความใส่ใจภาษาทำให้ผู้คิดปริศนานี้สังเกตเห็นว่าในภาษาไทยมีคำที่ลงท้ายด้วย "สมุทร" อยู่กลุ่มหนึ่ง จึงได้นำมาผูกเป็นปริศนา

๓) เนื้อหาเกิดจากความคิดสร้างสรรค์ที่แหวกขนบ

            เนื้อหาของปริศนาคำทายสร้างขึ้นจากความคิดสร้างสรรค์ที่แหวกขนบ ไม่ได้อิงกับความรู้ตามแบบแผน ลักษณะดังกล่าว ทำให้ปริศนาคำทายต่างจากปัญหาทั่วๆ ไป และปัญหาทางวิชาการ ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างนี้

ปัญหาวิชาการ : สองบวกสอง ได้อะไร       (คำตอบ :  สี่)
ปริศนาคำทาย :  สองบวกสอง ได้อะไร     (เฉลย : กระต่าย  พูดพร้อมยกมือที่ชูนิ้วชี้และนิ้วกลางทั้งสองข้างขึ้นไปวางไว้เหนือศีรษะ)

            จะเห็นว่า คำถามทั้งสองมีเนื้อความเหมือนกัน แต่ปัญหาวิชาการมีเนื้อหาอิงกับความรู้ทางคณิตศาสตร์ ในขณะที่ปริศนาคำทายอิงกับความคิดสร้างสรรค์ที่แหวกขนบ ในตัวอย่างแรกซึ่งเป็นคำถามเชิงวิชาการนั้น ผู้ฟังต้องใช้ความรู้ทางคณิตศาสตร์ในการแก้ปัญหาว่า เมื่อรวมจำนวน "สอง" กับ "สอง" ผลลัพธ์จะได้เท่าไร คำตอบคือ "สี่" ในทางตรงกันข้ามสำหรับปริศนาคำทายนั้น ใช้แนวคิดนอกกรอบในการผูกปริศนา กล่าวคือ "สอง" ในปริศนานี้ มิได้หมายถึง ตัวเลขในทางคณิตศาสตร์ แต่หมายถึง จำนวนนิ้วมือ และ "บวก" ในที่นี้มิได้ต้องการทราบผลรวมของจำนวนนิ้วมือ หากแต่ต้องการทายว่า อากัปกิริยาที่เกิดจากการรวมมือทั้งสองที่ชูสองนิ้วเข้าด้วยกัน สามารถตีความถึงอะไรได้บ้าง"สอง" ในที่นี้คือ "สองนิ้ว" ซึ่งสื่อถึง "หูกระต่าย"

ปัญหาวิชาการ : อะไรอยู่ใต้สะพานพุทธ       (คำตอบ : แม่น้ำเจ้าพระยา)
ปริศนาคำทาย : อะไรเอ่ยอยู่ใต้สะพานพุทธ       (เฉลย :  สระอุ)

            ปัญหาวิชาการข้างต้นนั้นอิงกับความรู้ทางภูมิศาสตร์ ดังนั้น คำตอบที่ถูกต้องคือ แม่น้ำเจ้าพระยา ในทางกลับกัน ปริศนาคำทายที่ใช้คำถามเดียวกัน ไม่ได้สร้างขึ้นจากพื้นความรู้ตามแบบแผนอย่างปัญหาวิชาการ หากแต่มุ่งที่จะถามลักษณะ ที่เกี่ยวกับรูปเขียนของคำว่า "สะพานพุทธ" เป็นสำคัญ

สำหรับเนื้อหาหลักของปริศนาผะหมีและโจ๊กนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากความคิดสร้างสรรค์ในการจัดหมวดหมู่คำต่างๆ ในภาษาไทย ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว การจัดหมวดหมู่โดยพิจารณาจากลักษณะร่วมทางภาษานับได้ว่า เป็นความคิดสร้างสรรค์อย่างหนึ่ง ดังตัวอย่างนี้

ดารานำ   งามแท้   เล่นแม่เบี้ย  (มะหมี่)
ช่วยชมเชียร์   ภูษา   ผ้าลายสี  (มัดหมี่)
อาหารจีน   กินได้   หลายเส้นดี  (บะหมี่)
ลพบุรี   มีนาม   เด่นอำเภอ  (บ้านหมี่)
                (ประสิทธิ์   ประสิว)

            ในปริศนานี้ หากพิจารณาในโลกของความเป็นจริงจะพบว่า "มะหมี่" "มัดหมี่" "บะหมี่" และ "บ้านหมี่" นั้น ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด อย่างไรก็ดี หากมองโดยใช้เกณฑ์ทางด้านรูปภาษา เราก็จะพบลักษณะความสัมพันธ์ที่โดดเด่นระหว่างคำทั้งสี่คือ ลงท้ายด้วยคำว่า "หมี่" เหมือนกัน ซึ่งความคิดเชิงสร้างสรรค์ ในการมองความสัมพันธ์ระหว่างคำเรียกสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ทำให้เห็นลักษณะเด่นที่สามารถนำมาใช้ในการผูกปริศนาขึ้น

ลักษณะเด่นทางภาษา

            ลักษณะเด่นอีกส่วนหนึ่งของปริศนาคำทายคือ ลักษณะเด่นทางภาษา ภาษามีส่วนประกอบหลัก ๒ ส่วนคือ รูปภาษา และความหมาย  ดังนั้น ในการพิจารณาลักษณะเด่นทางภาษาของปริศนาคำทาย จึงควรพิจารณาใน ๒ ส่วนดังกล่าว

ก.  ลักษณะเด่นทางรูปภาษา

            ลักษณะเด่นทางรูปภาษาของปริศนาคำทายมีหลายอย่าง อาทิเช่น การเล่นเสียงสัมผัส การซ้ำคำ และการใช้คำผวน

๑) การเล่นเสียงสัมผัส

            การเล่นเสียงสัมผัสเป็นลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของปริศนาคำทายไทย ปริศนา "อะไรเอ่ย" มักจะมีลักษณะเป็นร้อยแก้ว ที่มีสัมผัสคล้องจอง สัมผัสที่ใช้มีทั้งสัมผัสสระและสัมผัสพยัญชนะ สัมผัสที่พบมากคือ สัมผัสสระ ดังเช่นในตัวอย่างต่อไปนี้  
  • อะไรเอ่ย  หน้างอคออ่อน  กินก่อนทุกวัน  (เฉลย : ทัพพี)
            ในปริศนานี้มีเสียงสัมผัสสระระหว่างคำว่า "งอ" กับ "คอ" และระหว่างคำว่า "อ่อน" กับ "ก่อน" นอกจากนี้ยังมีเสียงสัมผัสพยัญชนะ ระหว่างคำว่า "กิน" กับ "ก่อน"
  • อะไรเอ่ย  ตาสองชั้น  ฟันสองหน  คนสามขา  (เฉลย : แว่นตา  ฟันปลอม  ไม้เท้า)
            สัมผัสสระที่พบในปริศนานี้เกิดจากคำว่า "ชั้น" กับ "ฟัน" และ คำว่า "หน" กับ "คน" นอกจากนี้ยังมีสัมผัสพยัญชนะระหว่างคำว่า "คน" และ "ขา"

            นอกจากปริศนา "อะไรเอ่ย" แล้ว โคลงทายและปริศนาผะหมีก็เน้นการเล่นเสียงสัมผัส บทปริศนาของปริศนาทั้งสองนี้ จะแต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทต่างๆ ทั้งโคลง กลอน กาพย์ และฉันท์ ดังนั้น จึงมีการใช้เสียงสัมผัสคล้องจอง ตามแบบแผนฉันทลักษณ์ของคำประพันธ์แต่ละประเภทด้วย ยกตัวอย่างเช่น

ใช่นาคาตัวนิดพิษเหลือหลาย  (งูสามเหลี่ยม)
สตรีร้ายขายหน้าท่านว่าชั่ว (หญิงสามผัว)
บุรุษร้ายใครไม่ทำให้ต่ำตัว  (ชายสามโบสถ์)
มากหัวมากหน้าภูผาใด     (เขาสามมุข)
                    (พังเพย   ใจรักธรรม)

            ในปริศนานี้มีการเล่นเสียงสัมผัสสระระหว่างคำต่อไปนี้ นิด-พิษ หลาย-ขาย ร้าย-ขาย หน้า-ว่า ชั่ว-ตัว ทำ-ต่ำ ไม่-ให้ ตัว-หัว หน้า-ผา  นอกจากนี้มีเสียงสัมผัสพยัญชนะระหว่างคำต่อไปนี้ เหลือ-หลาย ต่ำ-ตัว และ ภู-ผา 

            นอกจากเสียงสัมผัสสระและสัมผัสพยัญชนะแล้ว ปริศนาผะหมีหรือโจ๊กชนิดที่เรียกว่า "โจ๊กคำผัน" มีเสียงสัมผัสวรรณยุกต์เป็นลักษณะเด่น ที่ร้อยเรียงคำเฉลยในชุดเข้าด้วยกัน

๒) การซ้ำคำ

            การซ้ำคำ คือ การนำคำที่ได้ใช้ไปแล้วมาใช้ซ้ำอีกครั้งหนึ่ง การซ้ำคำจะทำให้เกิดเสียงที่ไพเราะ ดังตัวอย่างนี้
  • อะไรเอ่ย  สี่สายยานโตงเตง  ข้างนอกร้องเพลง  ข้างในร้องไห้   (เฉลย : เปล)
            ตัวอย่างปริศนาข้อนี้มีการซ้ำคำว่า "ข้าง" และ "ร้อง" ทำให้เกิดโครงสร้างคู่ขนานกันระหว่าง "ข้างนอกร้องเพลง" กับ "ข้างในร้องไห้"
  • อะไรเอ่ย  ดำแล้วขาว ยาวแล้วสั้น มั่นแล้วคลอน   (เฉลย : ผม  สายตา  ฟัน)
            ในตัวอย่างนี้ มีการซ้ำคำว่า "แล้ว" ซึ่งอยู่ตรงกลางของคำใบ้ในปริศนา การซ้ำในลักษณะนี้ ทำให้เกิดโครงสร้างคู่ขนานกัน ระหว่างคำใบ้ทุกชุด นอกจากนี้คำที่ประกอบในคำใบ้แต่ละชุด มีลักษณะที่เป็นคู่ตรงข้ามกันคือ ดำ-ขาว ยาว-สั้น มั่น-คลอน

            สำหรับปริศนาชุดผะหมีหรือโจ๊กนั้น การซ้ำคำเป็นลักษณะสำคัญที่พบในชุดคำเฉลย ดังจะเห็นได้จากในตัวอย่างข้างต้น ชุดคำเฉลยคือ งูสามเหลี่ยม หญิงสามผัว ชายสามโบสถ์ เขาสามมุข มีลักษณะร่วมกันคือการซ้ำพยางค์กลาง คือ "สาม" นอกจากการซ้ำพยางค์กลางแล้ว ยังมีการซ้ำพยางค์ต้น และการซ้ำพยางค์ท้ายของคำในชุดคำเฉลยอีกด้วย

๓) การใช้คำผวน

            คำผวนเป็นลักษณะการเล่นกับเสียงที่คนไทยรู้จักคุ้นเคยดี การผวนคำมีหลักคือคำที่นำมาผวนนั้นต้องมีอย่างน้อย ๒ พยางค์ ในการผวนนั้น ให้คงเสียงพยัญชนะต้นของแต่ละพยางค์ไว้ จากนั้นสลับเสียงสระและพยัญชนะของพยางค์หน้าและพยางค์หลัง เช่น "ตาลาย" ผวนได้เป็น "ตายลา" ในกรณีที่คำนั้น มีมากกว่า ๒ พยางค์ พยางค์กลางจะคงเสียงเดิมไว้ เช่น "หมูกินขี้กา" ผวนได้เป็น "หมากินขี้กู" ส่วนใหญ่คำที่ผวนแล้วนั้น มักไม่มีความหมายอะไร แต่ก็มีในบางครั้งที่คำที่ผวนแล้วนั้น ไปตรงกับคำที่มีความหมาย
  • มะนาวอะไรเอ่ย  อยู่นอกโลก (เฉลย : มะนาวต่างดุ๊ด - มนุษย์ต่างดาว)
            คำผวนในปริศนาข้อนี้อยู่ในส่วนคำเฉลย กล่าวคือ ก่อนจะได้คำเฉลยที่ถูกต้องจะต้องมีการผวนคำก่อน ๑ ชั้น คำเฉลยว่า "มะนาวต่างดุ๊ด" นั้นไม่มีความหมาย แต่เมื่อผวนเป็น "มนุษย์ต่างดาว" จึงจะได้สิ่งที่เป็นไปตามที่ปริศนาบอกใบ้ คือ "อยู่นอกโลก"

            นอกจากปริศนาอะไรเอ่ยแล้ว คำผวนยังใช้มากในการสร้างปริศนาผะหมีทั้งผะหมีถ้อยคำและผะหมีรูปภาพ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

มา  หนึ่งคือผู้ให้  เกิดกาย     (มาดาน-มารดา)
มา หนึ่งสาธยาย  เวทซึ้ง (มาตรน-มนตรา)
มา หนึ่งขอเชิญทาย   เดือนหนึ่ง    (มานี-มีนา)
มา หนึ่งอย่าอ้ำอึ้ง  ค่าเพี้ยงเพชรพลอย  (มาดุ๊ก-มุกดา)

            คำเฉลยในปริศนาชุดนี้มีลักษณะเด่นร่วมกันคือ ทุกคำจะต้องนำมาผวนอีก ๑ ครั้งจึงจะได้คำเฉลยที่ถูกต้อง มีความหมายสอดคล้องกับคำใบ้ในตัวปริศนา

ข. ลักษณะเด่นทางความหมาย

            นอกจากลักษณะเด่นทางด้านรูปภาษาแล้ว ปริศนาคำทายยังมีลักษณะเด่นทางความหมายหลายประการ เช่น การใช้ความเปรียบ การใช้ความกำกวม และการใช้ความขัดแย้ง

๑) การใช้ความเปรียบ

            การใช้ความเปรียบเพื่อเปรียบเทียบสิ่งหนึ่งว่า เหมือนกับอีกสิ่งหนึ่งนั้น เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การอุปมา โดยสิ่งที่นำมาเปรียบเทียบนั้น มักจะมาจากคนละกลุ่มกัน แต่มีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งคล้ายกัน ตัวอย่างเช่น "ความรักเหมือนยาพิษ" เป็นการเปรียบเทียบความรักว่า มีคุณสมบัติบางอย่างราวกับเป็นยาพิษ อาจหมายความว่า ทั้งสองสิ่งสามารถทำให้เกิดความเจ็บปวด ทุกข์ทรมานได้ ในปริศนาคำทายส่วนใหญ่มีการใช้ความเปรียบ ดังตัวอย่างต่อไปนี้


  • อะไรเอ่ย หีบขาวใส่ผ้าเหลือง กุญแจทั้งเมืองไขไม่ออก (เฉลย : ไข่)

            ในตัวอย่างนี้มีการเปรียบเทียบ "ไข่" ว่าเป็น "หีบสีขาว" และเปรียบเทียบ "ไข่แดง" ซึ่งอยู่ในเปลือกไข่ว่าเป็น "ผ้าสีเหลืองที่บรรจุอยู่ในหีบ


  • อะไรเอ่ย ยายแก่หลังคดกินหญ้า หมดทุ่ง   (เฉลย : เคียว)
            ในตัวอย่างนี้มีการเปรียบเทียบ "เคียว" ว่าเป็นเสมือน "ยายแก่" โดยทั้งสองสิ่งมีส่วนที่เหมือนกันคือ มีส่วนกลางโค้งงอ  สื่อความหมายว่า ยายแก่มักหลังค่อม และใบเคียวมีลักษณะโค้งงอ

๒) การใช้ความกำกวม

            ความกำกวม คือ ลักษณะที่รูปภาษาหนึ่งสามารถตีความความหมายได้มากกว่า ๑ ความหมาย ตัวอย่างเช่น "ตากลม" สามารถตีความว่าหมายถึง ดวงตาที่มีลักษณะกลม และในขณะเดียวกันก็สามารถตีความได้อีกว่าเป็นกริยาหมายความว่า "ผึ่งลม" ปริศนาคำทายใช้ความกำกวมในการลวงให้ผู้ฟังตีความผิด และหันเหความสนใจของผู้ฟัง ทำให้ไม่สามารถเดาคำเฉลย ที่ถูกต้องได้ ตัวอย่างต่อไปนี้แสดงการใช้ความกำกวมในปริศนาคำทาย
  • อะไรเอ่ย  อยู่ข้างหน้า   (เฉลย : หู)
            ในตัวอย่างนี้ "ข้างหน้า" เป็นส่วนที่กำกวม กล่าวคือ สามารถตีความได้มากกว่า ๑ ความหมาย ความหมายแรกคือ "ด้านหน้า"  ซึ่งเป็นการมอง "ข้างหน้า" ในฐานะคำประสม  ส่วนอีกความหมายหนึ่งคือ "ด้านข้างของใบหน้า" ความหมายนี้ เกิดจากการพิจารณา "ข้างหน้า" ในฐานะที่เป็นวลี โดยทั่วไปความหมายของ "ข้างหน้า" ในฐานะที่เป็นคำประสม เป็นสิ่งที่ใช้บ่อยกว่า ดังนั้น ผู้ฟังจึงมักหลงคิดว่า ผู้ทายปริศนาต้องการถามว่า "สิ่งใดอยู่ที่ด้านหน้า" มากกว่า แต่เมื่อได้ฟังคำเฉลย จึงได้ทราบว่า ปริศนานี้ต้องการถามว่า "สิ่งใดที่อยู่ด้านข้างของใบหน้า"

  • รถอะไรเอ่ย  น่าเป็นห่วง   (เฉลย : รถออดี้)

            ปริศนานี้แสดงให้เห็นความเป็นคนที่ชอบสนุกกับภาษา และความช่างสังเกตของคนไทยได้เป็นอย่างดี  ปริศนานี้สร้างขึ้นจากการสังเกตเครื่องหมายการค้า ของรถยนต์ยุโรปยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งเป็นรูปห่วง ๔ วงคล้องกัน และมักติดอยู่ตรงด้านหน้าของตัวรถ และจากการสังเกตเห็นถึงความกำกวมของกลุ่มเสียง "น่าเป็นห่วง" โดยกลุ่มเสียงนี้ สามารถตีความว่า "น่าเป็นห่วง" (ลักษณะอาการซึ่งควรจะต้องใส่ใจเป็นพิเศษ) หรืออาจตีความเป็นประโยคว่า "หน้าเป็นห่วง" (ด้านหน้ารถมีห่วง) การตีความอย่างแรกมีความโดดเด่นกว่า เพราะเป็นวลีที่ใช้จนติดปากในภาษาไทย ดังนั้น เมื่อผู้ฟังได้ยินปริศนา ก็มักนึกถึงความหมายในนัยนี้ และถูกลวงให้หลงทางได้ ซึ่งความกำกวมดังกล่าวถือว่าเป็นความกำกวมในระดับโครงสร้างวลี

๓) การใช้ความขัดแย้ง

            ความขัดแย้งที่พบในปริศนาคำทาย มักมีลักษณะที่เมื่อได้พิจารณาโดยถ้วนถี่จะพบว่า แท้จริงแล้วมิใช่ความขัดแย้ง เป็นเพียงสิ่งที่ดูเหมือนจะขัดแย้ง ลักษณะเช่นนี้มีศัพท์เรียกว่า "อรรถวิภาค" (paradox) การใช้ความขัดแย้งในลักษณะดังกล่าว ก่อให้เกิดความเข้าใจว่า สิ่งที่บรรยายไว้ในปริศนานั้น ไม่น่าเป็นไปได้ เมื่อผู้ฟังหลงคิดเช่นนั้นก็ไม่สามารถเดาคำตอบได้ ดังตัวอย่างนี้
  • อะไรเอ่ย  ยิ่งตัด  ยิ่งยาว (เฉลย : ถนน)
            ในปริศนานี้คือ "ยิ่งตัด" ดูเหมือนจะมีความหมายขัดแย้งกับ "ยิ่งยาว" ทั้งนี้เพราะการตัดหมายถึง การทำให้วัตถุขาดออกจากกัน ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ ทำให้สิ่งนั้นสั้นลง ดังนั้น เมื่อ "ยิ่งตัด" ผลที่ตามมาควรจะเป็น "ยิ่งสั้น" เมื่อปริศนาบอกใบ้ว่า "ยิ่งตัด ยิ่งยาว" จึงดูเหมือนเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกันและเป็นไปไม่ได้ แต่คำว่า "ตัด" นั้นเมื่อใช้กับสิ่งของบางอย่าง เช่น "เสื้อ" หรือ "ถนน" แล้ว จะมีความหมายว่า "ผลิต สร้าง ทำให้เกิดขึ้น" เมื่อใช้ "ยิ่งตัด" กับ "ถนน" แล้ว ผลลัพธ์ที่ได้คือ "ยิ่งยาว" ดังนั้น "ยิ่งตัด ยิ่งยาว" จึงไม่ได้ขัดแย้งกัน และเป็นไปได้