เล่มที่ 24
โรคติดเชื้ออุบัติใหม่ และโรคติดเชื้ออุบัติซ้ำ
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
โรคเกิดจากไวรัส

            เอชไอวี (ดูในสารานุกรมไทยฯ เล่ม ๒๐ เรื่อง กลุ่มอาการภูมิคุ้มกันเสื่อมหรือโรคเอดส์) สมองอักเสบ กลุ่มอาการไข้เลือดออกเด็งกี่ ไข้ หวัดใหญ่ (ดูในสารานุกรมไทยฯ เล่ม ๑๐ เรื่อง โรคติดต่อและโรคเขตร้อน) และตับอักเสบ (ดูในสารานุกรมไทยฯ เล่ม ๑๗ เรื่องโรคตับอักเสบ จากไวรัส)

            กลุ่มอาการไข้เลือดออกที่จะกล่าวถึงต่อไป ได้แก่ กลุ่มอาการไข้เลือดออกฮันตาน ไข้เลือดออกมาร์บวร์ก ไข้เลือดออกอีโบลา ไข้ลาสสา โรคมือ-เท้า และปากเปื่อย โรคติดเชื้ออีไควน์ มอร์บิลลิไวรัส โรคติดเชื้อลิสสาไวรัสของค้างคาว โรคติดเชื้อ Parvovirus B19 ไข้ผื่นดอกกุหลาบ ตาแดงจากเชื้อไวรัส หัดเยอรมัน และฝีดาษวานร

กลุ่มอาการไข้เลือดออก (Hemorrhagic fever syndrome)


หนูบ้าน-หนูนา เป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออกได้

            ไข้เลือดออกนั้น ส่วนใหญ่จะเกิดจากเชื้อไวรัส มีเชื้อไวรัสมากกว่าสิบชนิด เป็นตัวก่อโรค แต่ละชนิดมักจะพบในภูมิภาคต่างๆ กัน โดยพบแพร่กระจายกว้างบ้าง เฉพาะถิ่นบ้าง การติดต่อมักจะมีพาหะนำโรคเป็นสัตว์บ้าง เช่น แมลง และวงจรการติดต่อเป็นแบบชีวภาพคือ เชื้อไวรัส จะต้องการช่วงเวลาหนึ่ง ที่จะเพิ่มจำนวน ในพาหะนั้นๆ ก่อน จึงจะแพร่ต่อไปได้ ด้วยเหตุนี้เอง จึงแบ่งไข้เลือดออกเป็นกลุ่มๆ ตามประเภทของพาหะนำโรค ดังนี้

๑. ไข้เลือดออกชนิดที่มียุงเป็นพาหะ

            ไข้เลือดออกเด็งกี่ (Dengue hemorrhagic fever) ซึ่งเป็นชนิดที่พบในประเทศไทย ในอเชียอาคเนย์ และในแถบแคริบเบียน

            ไข้เหลือง (yellow fever) ซึ่งพบอยู่ในบางอาณาบริเวณของอเมริกาใต้ แอฟริกาใต้ และแอฟริกากลาง ซึ่งนอกจากตัวจะเหลือง หรือที่เรียกว่า ดีซ่าน จากการที่โรคไปทำให้ตับอักเสบแล้ว ยังจะทำให้มีเลือดออกที่ใต้ผิวหนัง และตามอวัยวะต่างๆ ได้ด้วย

            ไข้เลือดออกริฟท์แวลเลย์ (Rift Valley fever) ในแอฟริกา ก็มียุงเป็นพาหะ
            
            สำหรับไข้เลือดออกเด็งกี่ โปรดดูในสารานุกรมไทยฯ เล่ม ๑๐

๒. ไข้เลือดออกชนิดที่มีเห็บเป็นพาหะ

            โรคนี้พบได้ ทั้งในบริเวณแหลมไครเมีย และในแอฟริกา จึงเรียกชื่อโรคว่า "ไครเมียน- คองโก โฮโมเรยิค ฟีเวอร์" (Crimean-Congo hemorrhagic fever) หรือไข้เลือดออกไครเมียน-คองโก

            ไข้ออมสก์ (Omsk hemorrhagic fever) พบในรัสเซีย

            ไข้ป่าคีอาซานูร์ (Kyasanur forest disease) ในอินเดียมีเห็บเป็นพาหะ

๓. ไข้เลือดออกชนิดที่มีสัตว์แทะเป็นพาหะ

            สัตว์แทะที่เป็นพาหะ มักจะเป็นพวกหนูนานาชนิด เช่น หนูนา หนูบ้าน หนูป่า หนูเดียร์ สัตว์แทะพวกนี้ จะติดเชื้อไวรัสแบบเรื่อรัง และสัตว์แทะที่มีเชื้อ มักจะไม่เป็นโรค เมื่อเพ่นพานไปมา ก็ปล่อยเชื้อออกทางน้ำลาย มูล และเยี่ยว สัตว์แทะจึงเป็นทั้งพาหะ และเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคเอาไว้แพร่ต่อไป

            ไข้เลือดออกเกาหลี (Korean hemorrhagic fever) ที่เกิดจากเชื้อฮันตาน (Hantaan virus)

            ไข้เลือดออกจูนิน (Junin virus) ที่พบในอาร์เจนตินา

            ไข้เลือดออกโบลิเวีย (Bolivian hemorrhagic fever) ที่เกิดจากไวรัสมาชูโบ (Machupo virus)

            ไข้เลือดออกลาสสา (Lassa fever) ในแอฟริกา จะมีพวกหนูเป็นพาหะทั้งสิ้น

๔. ไข้เลือดออกชนิดที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ แน่ชัดว่ามีสัตว์ชนิดใดเป็นพาหะ

            โรคที่เกิด ได้แก่ ไข้อีโบลา (Ebola fever) และไข้มาร์กบัวร์ก (Marburg fever) ทั้งสองโรคนี้ แพร่อยู่ในแอฟริกา เป็นต้น

กลุ่มอาการไข้เลือดออกฮันตาน (Hantaan virus)

แม่น้ำฮันตานในเกาหลีเป็นแหล่งที่พบเชื้อไวรัสฮันตานเป็นครั้งแรก

            ไวรัสฮันตานนั้น ติดต่อจากสัตว์แทะ แพร่มาสู่คนทางน้ำลาย มูล และเยี่ยว โดยคนสูดหายใจเข้าไป แต่ยังไม่พบว่า ติดต่อจากคนที่เป็นโรคไปยังคนอื่นได้โดยตรง โรคไข้เลือดออกเกาหลีนั้น อาจจะมีอาการอ่อนๆ คือ มีไข้คล้ายๆ ไข้หวัดใหญ่ สำหรับรายที่ติดเชื้อไวรัสฮันตาน และมีอาการรุนแรง จะมีอาการเป็น ๓ ลักษณะ ดังนี้

            ๑. ไข้เลือดออกที่มีอาการทางไต

            อาการของโรคนี้จะมีไข้สูง ปวดเมื่อยตามเนื้อตามตัว มีเลือดออกใต้ผิวหนัง ออกที่ตาขาวจนตาแดงเป็นปื้น และบวมตามตัว ซึ่งเกิดจากไตอักเสบร่วมด้วย อาการแบบนี้เป็นลักษณะที่พบ ในเกาหลี จีน และประเทศอื่นๆ ในเอเซีย

            ๒. ไข้และมีอาการทางไต

            ลักษณะนี้ พบอยู่ทางกลุ่มสแกนดิเนเวีย อาการอ่อนกว่าลักษณะแรก และไม่ค่อยมีเลือดออก

            ๓. ไข้และอาการทางปอด

            คือมีไข้ และปอดบวม ไม่มีเลือดออก ลักษณะนี้เพิ่งจะพบว่า ระบาดในสหรัฐอเมริกา เมื่อต้นปี พ.ศ. ๒๕๓๗ และมีอัตราการตายสูงมาก ถึง ๗๐ %

            ถ้ามีภาวะทางระบาดวิทยาที่พอเหมาะ เช่น หนูชุกชุมขึ้น คนอยู่กันแออัดมากขึ้น มีการเคลื่อนย้ายประชากร จากชนบทเข้าเมืองมากขึ้น คนบุกรุกป่ามากขึ้น หนูย้ายถิ่นฐานมาก และมีภูมิอากาศที่เหมาะสม โรคไข้เลือดออกเกาหลี จะสามารถระบาดได้ง่ายขึ้น รวมทั้งในประเทศไทยด้วย จากการสำรวจทางวิทยาการระบาด ก็พบว่า มีการติดเชื้อไวรัสฮันตานนี้แล้ว ประปราย ในประเทศไทย

ไข้เลือดออกมาร์บวร์ก


ลิงเขียวแอฟริกันนำโรคไข้เลือดออกมาร์บวร์ก

            มีรายงานโรคครั้งแรกจากเมืองมาร์บวร์ก สหพันธ์รัฐเยอรมนี เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๐ โดยมี รายงานว่า พนักงานประจำห้องทดลอง และสัตวแพทย์ ติดเชื้อจากลิงเขียวแอฟริกัน (African green monkey) ที่นำเข้าจากประเทศยูกันดา เพื่อนำเนื้อเยื่อไปเพาะ ผลิตวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ ในครั้งนั้น มีผู้ติดเชื้อ ๓๑ คน และตาย ๗ คน ระยะฟักตัวประมาณ ๑ สัปดาห์ อาการที่สำคัญ คือ มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดตามตัว มีเลือดออก ใต้ผิวหนัง อาเจียน ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด และ ซ็อก ในที่สุดก็เสียชีวิต มีรายงานโรคเพิ่มเติมจาก นครแฟรงค์เฟิร์ต และจากประเทศยูโกสลาเวียด้วย โรคนี้ไม่พบในลักษณะการระบาดใหญ่ สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสในวงศ์ ฟิโลวิริเดอี (Filoviridae) เช่นกัน มีชื่อว่า ไวรัสมาร์บวร์ก (Marburg virus) ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค ขณะนี้ รักษาได้โดยยาไรบาวิริน โรคนี้อุบัติขึ้นจาก การนำเอาลิงจากแอฟริกา ส่งเข้าไปจำหน่ายในยุโรป

ไข้เลือดออกอีโบลา

            โรคไข้เลือดออกอีโบลา มีรายงานการระบาดครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ที่ประเทศ ซูดาน และซาอีร์ ระยะฟักตัวประมาณ ๑ - ๒ สัปดาห์ อาการที่สำคัญคือ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงอย่างเฉียบพลัน ปวดศีรษะมาก ตาพร่ามัว อาเจียน ต่อมาจะมีผื่นขึ้นตามตัว มีจุดเลือดออก หรือมีจ้ำห้อเลือดใต้ผิวหนัง และมีการตกเลือด ตามอวัยวะภายในต่างๆ ได้แก่ ตับ ไต กระเพาะอาหาร และลำไส้ ซึ่งมีผลทำให้ช็อก ผู้ป่วยจึงเสียชีวิตในระยะเวลารวดเร็ว ในอัตรา ป่วยตาย ตั้งแต่ร้อยละ ๓๐ จนถึงร้อยละ ๘๐ การระบาดในระยะเริ่มต้น มีรายงานเฉพาะใน ๒ ประเทศนั้น แต่ต่อมามีการระบาดซ้ำอีกหลายครั้ง ทั้งในประเทศซาอีร์ และประเทศอื่นๆ ในทวีปแอฟริกา ต้นเหตุของโรคเป็นเชื้อไวรัสอยู่ ในวงศ์ฟิโลวิริเดอี (Family : Filovirdae) ชื่อไวรัส อีโบลา (Ebola virus) มีอยู่ ๓ สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ซูดาน (Sudan หรือ S strain) สายพันธุ์ซาอีร์ (Zaire หรือ Z strain) และล่าสุดแยกได้จากลิง ที่ส่งไปจากฟิลิปปินส์ และไปล้มป่วยเป็นจำนวนมาก ที่สถานีกักกันลิง เมืองเรสตัน สหรัฐอเมริกา จึงเรียกว่า สายพันธุ์เรสตัน (Reston หรือ R strain) สายพันธุ์หลังนี้ ทำให้คนเลี้ยงลิง ที่อยู่ใกล้ชิดติดเชื้อ แต่ไม่ป่วยเป็นโรค ส่วนอีกสองสายพันธุ์นั้น เป็นสายพันธุ์ก่อโรคในมนุษย์ ยังไม่ทราบต้นเหตุของการระบาดเป็นครั้งแรก แต่เข้าใจว่า ไวรัสคงจะอยู่ในลิง การแพร่โรค สามารถแพร่จากผู้ป่วยไปสู่คนอื่นได้ ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน การรักษาสามารถใช้ยาไรบาวิรินรักษาได้ โรคนี้ยังไม่มีรายงานการติดโรค จากประเทศนอกทวีปแอฟริกา โรคนี้คงอุบัติขึ้น เนื่องจากความแห้งแล้ง และความอดอยากของลิง ทำให้ลิงเข้าสู่หมู่บ้าน และอาจเกิดจากคนจับลิงมาฆ่าเป็นอาหาร การอุบัติของโรคที่เรสตัน เกิดจากการส่งลิง จากประเทศฟิลิปินส์ไปจำหน่าย

ไข้เลือดออกลาสสา (Lassa fever)

            มีรายงานโรคครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๒ จากประเทศไนจีเรีย ระยะฟักตัวประมาณ ๒ - ๓ สัปดาห์ อาจสั้นเพียง ๔ วัน หรือนานว่า ๑ เดือน อาการเริ่มแรกคือ จะมีไข้สูงแบบเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดตามตัว มีแผลในปากใน คอ ปอดบวมน้ำ มีน้ำในช่องเยื่อหุ่มปอด มีผื่น ตามตัว มีจุดเลือดออกใต้ผิวหนัง ในปัสสาวะมี โปรตีน มีเลือดออกจากทางเดินอาหาร เม็ด เลือดขาวต่ำ เกล็ดเลือดต่ำ โรคนี้เกิดจากไวรัส ลาสสา (Lassa virus) ระบาดได้ทั้งในชนบทและ เขตเมือง โดยมีหนูเป็นพาหะของโรค อัตราการ ตายสูงถึง ๒๐% พบเฉพาะในแอฟริกา โรคนี้ เกิดจากมีหนูชุกชุมขึ้นในหมู่บ้านเนื่องจากการ จัดการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมไม่ดี

โรคมือ-เท้า และปากเปื่อย (Hand-foot  and mouth disease)

            โรคนี้มีรายงานเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๒ จากรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยเด็กที่ป่วยมีอาการสมองอักเสบ และเยื่อหุ้มสมองอักเสบ อีกสามปีต่อมา จึงมีรายงานโรคจากนอกเขตรัฐแคลิฟอร์เนีย มักเป็นกับเด็กอายุต่ำกว่า ๖ ขวบ โรคนี้มีระยะฟักตัว ๓ - ๖ วัน เริ่มแรกจะมีไข้นำ ก่อนสองสามวัน แล้วจึงมีอาการทางสมอง อาจมีอาการอัมพาตคล้ายโปลิโอตามมา อาการที่สำคัญคือ จะมีตุ่มพองที่มือ เท้า และในปาก มี ผื่นนูนแดงตามผิวหนัง มีอาการของกล้ามเนื้อ หัวใจอักเสบ ปลายประสาทอักเสบหลายตำแหน่ง อาจมีอาการทางระบบหายใจคือหวัดร่วมด้วย ปัจจุบัน พบโรคนี้ระบาดประปรายทั่วโลก ต้นเหตุของโรคคือ ไวรัส เอ็นเตโรไวรัส ๗๑ (enterovirus 71) การระบาดครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ที่ซาราวัด ประเทศมาเลเซีย และใน ปี พ.ศ. ๒๕๔๑ ระบาดที่ไต้หวัน โรคนี้ยังไม่มี ยารักษาและไม่มีวัคซีนป้องกัน ไม่ทราบว่าโรคนี้ อุบัติขึ้นจากสาเหตุใด และมีอะไรเป็นปัจจัยที่ สำคัญ เข้าใจว่าจะเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม

โรคติดเชื้ออีไควน์ มอร์บิลลิไวรัส (Equine morbillivirus)

            มีรายงานโรคเป็นครั้งแรกในประเทศออสเตรเลีย เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ไวรัสที่ก่อโรค เรียกชื่อว่า Equine morbillivirus เป็นไวรัสที่อยู่ใน จีนัสเดียวกันกับไวรัสก่อโรคหัดในคน โดยเกิด การระบาดในม้าก่อน ม้าจะป่วยด้วยโรคระบบ หายใจ ปอดบวม และล้ม คนติดโรคจากการ สัมผัสกับสิ่งคัดหลั่งและน้ำมูกของม้าที่เจ็บ ในคน จะมีระยะฟักตัวประมาณ ๑ - ๒ สัปดาห์ อาจมี อาการปอดบวม หรือสมองอักเสบ ทั้งในม้าและ ในคนมีอัตราการตายสูง โรคนี้มีบ่าง (Pteropus flying fox) เป็นตัวนำโรคไปสู่ม้า ยังไม่มีวิธี รักษาและไม่มีวัคซีนป้องกันโรค ขณะนี้มีรายงาน จากออสเตรเลียเพียงประเทศเดียว โรคนี้เกิด จากมีค้างคาวหรือบ่างซึ่งเป็นพาหะของโรคมากขึ้น

โรคติดเชื้อลิสสาไวรัสจากค้างคาว (Lyssa bat virus)


ค้างคาวเป็นพาหะนำโรคติดเชื้อลิสสาไวรัส และโรคพิษสุนัขบ้า

            เป็นโรคติดเชื้อไวรัส ที่สัมพันธ์ใกล้ชิดกับไวรัสโรคพิษสุนัขบ้า เรียกชื่อว่า lyssa bat virus ระยะฟักตัวประมาณหนึ่งเดือนถึงหลายเดือน การติดเชื้อทำให้เป็นโรคคล้ายโรคพิษสุนักบ้าใน คน และทำให้ตายได้เช่นกัน ติดโรคโดยถูก ค้างคาวกัดหรือข่วน มีรายงานจากทวีปยุโรปเป็น ครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๘ และมีรายงานล่าสุด จากประเทศออสเตรเลียว่า เกิดในคนที่ถูกบ่าง (pteropus flying fox) ข่วน เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ยังไม่มีวิธีการรักษาโรค หากไปสัมผัส (ถูกค้างคาวหรือบ่างกัดหรือข่วน) ให้ปฏิบัติทำนองเดียวกับการป้องกัน โรคพิษสุนัขบ้า ทั้งนี้ รวมทั้งการฉีดวัคซีนแบบหลังสัมผัสโรค โดยฉีดให้ครบ ชุดก็จะสามารถป้องกันโรคนี้ได้ โรคนี้เกิดจาก การที่มีค้างคาว ซึ่งเป็นพาหะนำโรคชุกชุมขึ้น

โรคติดเชื้อพาร์โวไวรัสบี ๑๙ (Parvovirus B19)


อีสุกอีใสก็เป็นไข้ออกผื่นชนิดหนึ่ง


            ไวรัสดีเอ็นเอขนาดเล็กนี้พบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๒ เชื้อนี้ทำให้เกิดโรคหลายโรค ได้แก่ ไข้ออกผื่นในเด็กที่มีชื่อว่า Erythema infectiosa หรือ fifth disease ระยะฟักตัวประมาณ ๑ สัปดาห์ ผู้ป่วยจะมีอาการหวัด เจ็บคอ มีผื่น ปวดท้อง มีการทำลายเม็ดเลือดอย่างรุนแรงและรวดเร็ว จนกลายเป็นโลหิตจางแบบอะพลาสติก พบบ่อย ในเด็กวัยเรียนและมักระบาดในโรงเรียน ติดต่อ กันทางระบบหายใจ การอยู่ใกล้ชิดกัน ติดจาก ผู้ป่วยไปสู่คนอื่นได้ หากมีการติดเชื้อตั้งแต่อยู่ ในครรภ์ ทารกจะตายก่อนคลอด (คือการคลอด เอาเด็กที่ตายแล้วออกมา) ขณะมีไข้จะมีผื่น เกิดขึ้น มักเกิดที่แขนขา ไม่ค่อยเกิดตามลำตัว ผื่นที่เกิดขึ้นที่หน้าจะเป็นผื่นแดงคล้ายโดยตบหน้า แต่รอบๆ ปากจะไม่มีผื่น โรคนี้พบว่ามีการระบาด ประปรายทั่วโลก โรค Erythema infectiosa เป็น โรคที่รู้จักกันมานานแล้ว แต่เชื้อก่อโรคเพิ่งจะ เป็นที่รู้จักกัน

ไข้ผื่นกุหลาบ (Roseola infantum)

            โรคนี้เป็นโรคที่รู้จักกันมานานแล้ว เกิดกับทารก และเด็กเล็ก มีชื่อพ้องคือ Exanthem subitum ระยะฟักตัว ๑๐ - ๑๕ วัน แต่เพิ่งจะ พบต้นเหตุของโรคว่าเป็นเชื้อไวรัส เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๑ คือ Herpesvirus type 6 เด็กจะมีไข้ ๓ - ๕ วัน ขณะที่ไข้ขึ้นสูง อาจชัก โดยทั่วไปจะมี อาการหวัด ต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณข้างคอโต หลังไข้ลดภายใน ๒๔ ชั่วโมง มีผื่นนูนแดงขึ้น ตามตัว อาจพบว่ามีสมองอักเสบ เยื่อหุ่มสมอง อักเสบด้วย การแพร่ของโรคคือการติดต่อโดย ตรงจากผู้ป่วยคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง เป็นแล้วจะ หายได้เอง และไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก โรคนี้ เป็นโรคที่เพิ่งจะพบเชื้อซึ่งเป็นต้นเหตุเมื่อไม่นาน มานี้ แต่ตัวโรคเอง รู้จักกันมานานแล้ว

ตาแดงจากเชื้อไวรัส (Acute hemorrhagic conjunctivitis)


โรคตาแดงจากเชื้อไวรัส

            โรคนี้ระบาดเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๒ จากประเทศกานา ขณะนี้พบได้ทั่วโลก ระยะฟักตัวสั้นเพียง ๒๔ - ๔๘ ชั่วโมง อาการ เริ่มแรกจะมีความรู้สึกคันตา เคืองตา น้ำตาไหล ทนแสงแดดจ้าไม่ได้ อาการเกิดขึ้นโดยปัจจุบัน โดยเริ่มที่ตาข้างใดข้างหนึ่งก่อน ชั่วระยะเพียง วันเดียวจะลามไปยังตาอีกข้างหนึ่ง ต่อมาจะมี อาการปวดตา ตาแดง มีจุดเลือดออกใต้ตาขาว อาการเลือดออกนี้ จะทุเลาไปเองภายใน ๗ - ๑๒ วัน อาการตาอักเสบมักจะเป็นอยู่ประมาณ ๗ วัน โรคนี้มักเกิดขึ้นในลักษณะของอาการ ระบาด ต้นเหตุของโรค ได้แก่ ไวรัส enterovirus 70 และ Coxsackie A 24 Variant ส่วนไวรัส Adenovirus type อาจทำให้ตาแดงได้ แต่มัก ไม่มีเลือดออกใต้เยื่อบุตาขาว โรคนี้มีรายงานใน ประเทศไทยเช่นกัน แต่ยังไม่ทราบว่าอะไรเป็น ปัจจัยทำให้โรคนี้อุบัติขึ้นมาใหม่

โรคหัดเยอรมัน (German measles, rubella)


โรคหัดเยอรมันเป็นโรคติดเชื้ออุบัติซ้ำชนิดหนึ่ง

            มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า โรครูเบลลา เป็นโรคติดเชื้อ ซึ่งจะติดต่อโดยการสัมผัสกับน้ำมูก น้ำลาย ละอองฝอยของน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วยจะมีเชื้อ ซึ่งแพร่ได้ตั้งแต่ ๒ - ๓ วัน ก่อนมีอาการของโรค และแพร่ต่อไปได้อีกประมาณหนึ่งสัปดาห์หลังจาก อาการทุเลาแล้ว ระยะฟักตัวของโรคประมาณ ๒ - ๓ สัปดาห์ โรคนี้เป็นโรคที่มีอาการอ่อน ในประเทศไทยพบว่า มีผู้ป่วยทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ลักษณะสำคัญของโรคคือ มีไข้ไม่สูงนัก มีน้อย รายที่มีไข้สูงถึง ๔๐ องศาเซลเซียส ไข้จะเป็นอยู่ ประมาณ ๑ - ๒ วัน ก็จะมีผื่นนูนขนาดเล็กสี แดงจางๆ กระจายตามผิวหนัง แต่ก็อาจรวมกัน เป็นปื้นได้ในบางบริเวณ ผื่นจะขึ้นที่ใบหน้า คอ และหลังหู แล้วแพร่กระจายลงไปที่ลำตัวและแขน ภายในเวลา ๒๔ ชั่วโมง เมื่อผื่นขึ้นเต็มที่ ไข้จะลด อาการจะเริ่มทุเลา ผื่นจะเริ่มจางจากหน้าลงไป นอกจากมีไข้และผื่นแล้ว จะมีต่อมน้ำเหลืองโต บริเวณหลังหูและท้ายทอยตอนล่าง เมื่อกดจะ รู้สึกเจ็บ ต่อมน้ำเหลืองจะโตก่อนจะมีอาการไข้ อาจมีอาการปวดข้อนิ้วมือ ข้อมือ และข้อเท้า ร่วมด้วยก็ได้

            ตามปกติโรคนี้เป็นในเด็ก แต่ถ้าเป็นในผู้ใหญ่ จะมีอาการหนักกว่า คือ มีไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัว และปวดตามข้อมาก โรคนี้เป็นแล้วหายได้เอง และมีภูมิคุ้มกันอยู่ได้ตลอดชีวิต ถ้าสตรีที่กำลังตั้งครรภ์เพียงไม่กี่เดือนเป็นโรคนี้ ทารกจะพิการตั้งแต่กำเนิด เช่น ตาเป็นต้อกระจก ต้อหิน หูหนวก ผนังกั้นหัวใจโหว่ และยังมี ความพิการอื่นๆ อีกหลายประการ โรคนี้มีวัคซีน ฉีดป้องกัน โดยฉีดเพียงครั้งเดียวก็สามารถ ป้องกันได้ตลอดชีวิต วินิจฉัยได้จากอาการของ โรคและการชันสูตรทางห้องปฏิบัติการ

ฝีดาษวานร

            มีไวรัสอีกชนิดหนึ่ง ที่อยู่ในสกุลเดียวกันกับไวรัสไข้ทรพิษ ซึ่งก่อให้เกิดโรคฝีดาษในสัตว์ มีอยู่สปีชีส์หนึ่ง ที่ก่อโรคในลิง ทำให้เกิดโรค ที่มีชื่อว่า Monkey pox virus โรคนี้อาจติดต่อไปยังคนได้ แต่อาการก็จะอ่อนกว่าไข้ทรพิษหรือ ฝีดาษแท้ๆ ไข้ฝีดาษวานรนี้มีรายงานในลักษณะ ของการระบาดย่อมๆ ที่มณฑลคาซายโอเรียนทัล (Kasai Oriental) ประเทศซาอีร์ ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๓๙ - ๒๕๔๐

            โรคนี้ตามปกติ จะระบาดอยู่ในลิงในป่าเขตร้อนฝนชุก ในแอฟริกากลาง และแอฟริกาตะวันตก ไวรัสอาจจะแพร่จากลิงไปสู่คนได้ โดยทำให้เกิด โรคคล้ายๆ ไข้ทรพิษ บางรายมีความรุนแรง จนทำให้เสียชีวิตได้ จากเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๙ จนถึงเดือนสิงหาคมในปีเดียวกัน มีผู้ป่วย ที่มีอาการของโรคไข้ฝีดาษวานร ๗๑ ราย เสียชีวิต ๖ ราย โรคเกิดขึ้น ๑๓ ตำบล ในประเทศ ซาอีร์ในเขตคาตาโค-คอมเบ (มีประชากรประมาณ ๑๕,๖๙๘ คน) มณฑลแซนคูรู มณฑลคาซาย- โอเรียนทัล ได้มีการส่งสะเก็ดตุ่มและเลือดของ ผู้ป่วย ๑๑ รายไปยังห้องชันสูตร ได้ผลยืนยันว่า เป็นไข้ฝีดาษวานรทั้ง ๑๑ ราย โดยได้ส่งไปตรวจ ที่ศูนย์ควบคุมโรคและป้องกันโรค แห่งสหรัฐอเมริกา ที่นครแอตแลนตา มลรัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา ได้มีผู้เชี่ยวชาญ เดินทางไปตรวจสอบโรค ณ บริเวณที่มีการระบาด พบว่า มีการติดต่อจากคนไปสู่คนได้ แต่ที่ระบาดในระยะแรก เป็นการแพร่โรคจากสัตว์ไปยังคนเท่านั้น โรคนี้อุบัติขึ้นจาก ความแห้งแล้ง และความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ทางการแพทย์ ที่สามารถกำจัดกวาดล้างไข้ทรพิษ ให้หมดไปจากโลก การปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ จะป้องกันไข้ฝีดาษวานรได้