โรคเกิดจากเชื้อปรสิต
ได้แก่ เยื่อหุ้มสมอง-สมองอักเสบ ชนิดปฐมภูมิจากอะมีบา อะนิซาคิเอสิส คาลา-อาซาร์ โรคเท้าช้าง คริพโตสปอริดิโอสิส พยาธิใบไม้เลือด และทริคิโนสิส หรือโรคพยาธิหมูป่า
เยื่อหุ่มสมอง-สมองอักเสบ ชนิดปฐมภูมิ จากอะมีบา (Primary Amebic Meningoen- cephalitis)
เชื้ออะมีบาเป็นปรสิตเซลล์เดียว ที่มีรายงานว่า ทำให้เกิดอาการอักเสบเป็นหนองของเยื้อหุ้มสมอง และสมองส่วนกลางชนิดปฐมภูมิ (primary) [มิได้เกิดที่อื่นก่อน แล้วลามไปสมอง ถ้าเกิดที่อื่นก่อน จะเรียกว่า ทุติยภูมิ (secondary)] มีอยู่ ๒ ชนิด คือ Naegleria และ Hartmanella หรืออีกชื่อหนึ่งเรียกว่า Hartmanella เชื้อทั้ง ๒ ชนิดนี้ พบได้ในประเทศไทย และมีรายงานผู้ป่วยจากเชื้อทั้ง ๒ ชนิดนี้ว่า เกิดจากการติดเชื้อ Naegleria ซึ่งเป็นอะมีบาที่มีหนวด (flagella) และเคลื่อนไหว ได้รวดเร็ว เชื้อดังกล่าวเป็นเชื้อที่พบตามแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น บ่อ หนองน้ำ บึง ทะเลสาบ น้ำจืด และในลำธารหลายแห่งในประเทศไทย เข้าใจว่า คงจะพบในประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงด้วย เชื้อนี้ชอบน้ำอุ่นๆ จึงพบมากในฤดูร้อน หรือแหล่งน้ำธรรมชาติ ที่อยู่ใกล้โรงงาน ที่ปล่อยน้ำร้อนออกมา นอกจากในหนองน้ำแล้ว ยังพบในดิน แต่จะไม่พบในน้ำกร่อย หรือน้ำทะเล เชื้อนี้มีซีสต์ จึงทนความแห้งแล้งได้ดี แต่ถูกทำลายได้ โดยคลอรีน ที่มีความเข้มข้น ๔ ส่วนในล้านส่วน จึงไม่พบในสระว่ายน้ำ ที่ใช้คลอลีนฆ่าเชื้อ
ผู้ป่วยมักจะมีประวัติว่า ไปเล่นน้ำในบ่อ บึง แม่น้ำ หรือคลอง ระยะฟักตัวประมาณ ๑ - ๒ สัปดาห์ ผู้ป่วยจะสำลักน้ำ และเชื้อจะเข้าไปทางจมูก ถ้าได้รับเชื้อเข้าไปมาก เชื้อจะแบ่งตัวในจมูก ทำให้มีอาการคล้ายเป็นหวัด คัดจมูก มีน้ำมูกไหล ต่อมาเชื้อจะเข้าสู่สมองผ่านทาง Olfactory nerve ทำให้เกิดอาการอักเสบของสมอง และเยื่อหุ้มสมองแบบเป็นหนอง ในรายที่ได้รับ เชื้อเข้าไปน้อยก็จะไม่เป็นโรค คนที่ชอบดำน้ำลง ไปที่ก้นหนองน้ำ หรือบึงแล้วสำลัก จะมีโอกาส เป็นโรคนี้มากกว่าคนที่เล่นน้ำบริเวณผิวน้ำ เพราะ เชื้อจะมีมากบริเวณก้นบึง
แหล่งน้ำธรรมชาติจะพบเชื้ออะมีบาชนิดที่ทำให้เกิดอาการอักเสบของเยื่อหุ้มสมอง
หลังจากที่มีอาการหวัดแล้ว ต่อมาจะมีอาการปวดศีรษะ เป็นไข้ อาเจียน มึน และชัก คอแข็ง ผู้ป่วยมักเสียชีวิตภายใน ๑ - ๒ สัปดาห์ หลังจากเริ่มมีอาการ การวินิจฉัย จะทำได้โดยการตรวจน้ำไขสันหลัง ถ้าตรวจดูในทันทีที่เกิดอาการ อาจพบเชื้ออะมีบาเคลื่อนไหวไปมาอย่างรวดเร็ว แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้นาน มักจะวินิจฉัยได้ยาก จะต้องเพาะเชื้อ จึงจะวินิจฉัยได้ หากวินิจฉัยโรคนี้ได้ ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก อาจรักษาได้ โดยปฏิชีวนะ Amphotericin B ร่วมกับ rifampicin และ miconazole แต่ถ้ามีอาการหนักแล้ว มักจะรักษาไม่หาย
การติดเชื้อ Acanthameba เชื้อมักเข้าทางผิวหนังผ่านบาดแผล เข้าสู่กระแสเลือด แล้วไปสู่สมอง เคยมีรายงานในประเทศไทย ติดเชื้อจากเลนส์สัมผัสที่ใช้แทนแว่นตา มักเกิดโรคในคนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ไม่เกี่ยวข้องกับการว่ายน้ำ อาการเป็นไปอย่างช้าๆ และเรื้อรัง เชื้อนี้อาจพบได้ในทางเดินหายใจของคนปกติ อาจรักษาได้ โดยใช้ยาcotrimoxazole polymyxin B, sulfonamide
เชื้อทั้ง ๒ ชนิดนี้ ยังไม่พบรายงานผู้ป่วยมากนัก ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค การป้องกันกระทำได้ โดยการหลีกเลี่ยงการเล่นน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติที่สกปรก ในฤดูร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแหล่งน้ำอุ่น ที่มาจากโรงงาน ทางราชการต้องควบคุมให้ใส่คลอรีน ในสระว่ายน้ำต่างๆ ให้ได้มาตรฐาน ดูแลการสุขาภิบาลให้ดี ไม่ให้เทขยะ หรือของเสีย ลงแม่น้ำลำคลอง โรคนี้อุบัติขึ้นจากสิ่งแวดล้อม
อะมิซาคิเอสิส(Anisakiasis) หรือโรคพยาธิอะนิซาคิส (Anisakis)
การบริโภคปลาดิบอาจทำให้เกิดโรคพยาธิอะนิซาคิส
พยาธิอะนิซาคิส (Anisakis) เป็นพยาธิตัวกลม อยู่ในกระเพาะของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ในทะเล เช่น ปลาโลมา ปลาวาฬ ตัวอ่อนระยะติดต่อ อยู่ในปลาน้ำเค็ม โรคนี้เกิดจากการบริโภคปลาดิบแบบญี่ปุ่น ที่เรียกกันว่า ซูซิ (Sushi) ซึ่งเป็นที่นิยมบริโภคกันมากขึ้น ในทุกภูมิภาคของโลก โรคนี้พบมาก ในประเทศญี่ปุ่น เมื่อกินปลาทะเลดิบๆ ที่มีพยาธิเข้าไป พยาธิจะถูกปลดปล่อยออก มาจากเนื้อปลา โดยน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร ของคน หรืออาจจะถูกขับออกมาจากกระเพาะ อาหารเสียก่อน โดยการอาเจียน ซึ่งจะไม่ทำให้ เกิดโรค ในกรณีที่พยาธิไม่ถูกขับออกไป พยาธิอาจจะชอนไชไปตามทางเดินอาหาร แล้วอยู่ในลำใส้ และอยู่นอกลำใส้ภายในช่องท้องก็ได้ ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๘ - ๒๕๓๐ มีรายงานว่า ผู้ป่วยในประเทศญี่ปุ่น ๔,๖๘๒ ราย เกิดก้อนทูม ในกระเพาะอาหาร ๔,๒๙๖ ราย ผู้ป่วยอีก ๓๗๕ ราย พบในลำใส้ และ ๑๑ ราย พบในช่องท้อง อาการของโรคคือ มักจะปวดท้อง ปวดกระเพาะอาหาร ลำไส้อุดตัน และอาจมีอาการคล้ายๆ ไส้ติ่งอักเสบ ถ้าตัดก้อนทูมออกมาตรวจ จะพบพยาธิอยู่ภายในก้อนทูม การรักษาทำได้ โดยการผ่าตัด การป้องกันคือ การกินอาหารที่สุกดี เชื้อนี้ตายง่าย ถ้าต้มให้เดือด แต่ถ้าแช่แข็ง อาจจะอยู่ได้นานถึง ๒๔ ชั่วโมง ในประเทศไทยเริ่มพบได้ประปราย โรคนี้อุบัติขึ้น เพราะพฤติกรรมการบริโภคอาหารของมนุษย์
คาลา-อาซาร์ (Kala-Azar)
เป็นโรคที่เกิดจากปรสิตในจีนัส Leishmania ซึ่งมีอยู่ ๓ สปีซีส์ คือ L. donovani ทำให้ เกิดโรคแก่อวัยวะภายใน หรือที่เรียกอีกชื่อว่า คาลา-อาซาร์ L.tropica ทำให้เกิดแผลเปื่อยที่ ผิวหนัง และL.brasiliensis เป็นโรคที่มีการอักเสบ ของเยื้อบุจมูก ปาก คอ ทำให้เป็นแผลลึก หรืออาจเรียกว่า โรคเอสปุนเดีย (Espundia) แต่เดิม โรคคาลา-อาซาร์ จะพบในภาคตะวันตกของอินเดีย และแอฟริกา ขณะนี้พบได้ประปราย ในประเทศไทย เนื่องจากมีผู้ใช้แรงงานนำโรคเข้ามา จากต่างประเทศที่ไปพำนักอยู่ ระยะฟักตัวของ โรคประมาณ ๓ สัปดาห์ถึงหลายเดือน เริ่มต้น จะมีอาการค่อยเป็นค่อยไปคือ มีอาการอ่อนเพลีย อารมณ์ไม่แจ่มใส ปวดศีรษะ ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องเสีย บางครั้งท้องผูก ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ต่ำๆ และมีไข้สูงเป็นระยะๆ ผิวหนัง จะซีดเหลือง ผิวแห้ง ตับโต ม้ามโต อาจมีจุด เลือดออกใต้ผิวหนัง แต่เดิมอัตราการตายของ โรคนี้ค่อยข้างสูง ปัจจุบัน สามารถรักษาให้หาย ได้โดย Pentavalent antimonials โรคนี้เกิดจาก การเคลื่อนย้ายประชากร จากถิ่นที่ไม่เคยมีโรค ไปสู่ดินแดนที่มีโรคชุกชุม
ผู้ใช้แรงงานมีส่วนที่นำโรคคาลา-อาซาร์จากต่างประเทศเข้ามาแพร่ในประเทศไทยได้
โรคเท้าช้าง (Elephantiasis) หรือฟิลาริเอสิส (Filariasis)
พยาธิท็อกโซพลาสมาเป็นพยาธิที่อุบัติใหม่อีกชนิดหนึ่ง
พยาธิก่อโรคคือ Wuchereria bancrofti, Brugia malayi และ Brugia timori ในประเทศ ไทยพบพยาธิ ๒ ชนิดแรกเท่านั้น ผู้ที่ติดเชื้อหนอนพยาธิฟิลาริเอสิส มักจะไม่ปรากฏอาการให้เห็นในระยะแรกๆ ของการติดเชื้อ ในรายที่แสดงอาการ จะพบว่า มีการอักเสบของต่อมน้ำเหลือง และการอุดตันของระบบทางเดินน้ำเหลือง ซึ่งจะ เกิดหลังจากการรับเชื้อแล้วนาน ๓ เดือน ถึง ๑ ปี ต่อมา ต่อมน้ำเหลืองบริเวณโคนขาหนีบ ขา และอวัยวะเพศบวมโต ถ้าเป็นในผู้ชาย จะมีการอักเสบของหลอดผลิตน้ำกาม และท่อน้ำกาม ลูกอัณฑะบวม มีไข้ หนาวสั่น อาจพบอาการ อื่นๆ คล้ายกับการติดเชื้อทั่วๆ ไป บางรายเท้าจะ ใหญ่โตมาก (เหมือนเท้าช้าง จึงเรียกว่า โรค เท้าช้าง) หรืออวัยวะเพศโตมาก ซึ่งเกิดจากการ เพิ่มจำนวนของเนื้อเยื่อพังผืด (fibrous tissue) และการอุดตันของท่อทางเดินน้ำเหลือง ถ้าตรวจ พบเชื้อในระยะเริ่มต้น สามารถใช้ยารักษาได้ ถ้าถึงระยะที่มีการขยายตัวของเนื้อเยื่อพังผืดแล้ว จะรักษาได้โดยทางศัลยกรรม โรคนี้เกิดจากมี แรงงานต่างชาติจากประเทศที่ยังเป็นถิ่นระบาดของ โรคเข้ามาทำงานในประเทศไทย
คริพโตสปอริดิโอสิส (Cryptosporidiosis)
โรคนี้เกิดจากพยาธิคริพโตสปอริเดียม ซึ่งเป็นพยาธิโปรโตซัว ที่อยู่ในลำใส้ของสัตว์ และทำให้สัตว์เกิดอาการท้องเดิน แต่เดิมพยาธิชนิดนี้ ไม่ทำให้เกิดโรคในมนุษย์ มีรายงานครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ในช่วงตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๙ -๒๕๒๕ มีผู้ป่วยที่รายงานว่า เกิดอาการท้องเดินจากพยาธิชนิดนี้ เพียง ๗ ราย โดยส่วนใหญ่เป็นสัตวแพทย์ และนักวิจัยโรคสัตว์ ต่อมาเมื่อมี รายงานโรคเอดส์ขึ้น จึงพบว่า พยาธิชนิดนี้ไปก่อ โรคในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันเสื่อมจากไวรัสเอชไอวี ด้วย โดยทำให้เกิดอาการท้องเดินเรื้อรัง ซึ่งจะ ทำให้ผอมลงอย่างรวดเร็ว และเสียชีวิตได้ ในระยะแรกๆ ที่เพิ่งจะพบโรคนี้ในมนุษย์ จะ สามารถให้การวินิจฉัยได้ โดยการตัดเอาเยื้อบุ- ลำไส้ไปตรวจเท่านั้น แต่ในปัจจุบันนี้ การตรวจ อุจจาระก็สามารถให้การวินิจฉัยได้ โรคนี้ยังไม่มี ยารักษาจำเพาะ
โรคอุจจาระร่วงเรื้อรังนอกจากจะเกิดจาก พยาธิ Cryptosporidium แล้ว ยังมีพยาธิที่ทำให้ ผู้ป่วยที่เป็นโรคเอดส์ติดเชื้อได้ง่าย ได้แก่ isospora belli และ Microsporidium
พยาธิเหล่านี้ จะไม่ทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วงในคนทั่วๆ ไป สาเหตุที่เกิดโรคอุบัติขึ้น เนื่องจากภูมิคุ้มกันเสื่อม จากการติดเชื้อเอชไอวี
พยาธิใบไม้เลือด
พยาธิใบไม้เลือด
พยาธิใบไม้เลือด หรือชื่อทางการแพทย์เรียกว่า ซิสโตโซมิเอสิส (schistosomiasis) เกิดจากพยาธิ ในจีนัส ชิสโตโซมา (Schistosoma) ซึ่งมีอยู่ ๔ สปีชีส์ด้วยกันคือ S. hematobium, S. mansoni S. mekongi และ S. japonicum ในประเทศไทยเพิ่ง พบโรคนี้หลังจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยพบว่า เกิดจาก S. japonicum ซึ่งเข้าใจกันว่า ชาวญี่ปุ่น นำโรคเข้ามาแพร่ในระหว่างสงครามโลก ครั้งที่ ๒ พบ S.mekongi ประปรายที่บริเวณลุ่มแม่น้ำโขง ในระยะหลังมีรายงานว่า พบชนิด S.hematobium ในผู้ใช้แรงงานที่กลับจากแอฟริกาด้วย
การติดต่อโดยพยาธิตัวอ่อนระยะติดต่อ ซึ่งแหวกว่ายอยู่ในน้ำ จะชอนไขผ่านผิวหนังของคนและสัตว์ ไปยังหลอดเลือดดำเล็กๆ สำหรับ S. hematobium จะกระจายไปสู่อวัยวะต่างๆ ของ ร่างกายคือ ไปเจริญเป็นตัวแก่อยู่ที่ตับ จึงไป ทำให้เกิดอาการโรคบิดและตับแข็ง สำหรับ S. mansoni จะไปเจริญเป็นตัวแก่อยู่ที่หลอดเลือด ดำและลำไส้ใหญ่ ทำให้ถ่ายอุจจาระเป็นมูกเลือด และสุดท้ายจะทำให้ตับแข็งได้ ส่วน S. hematobium จะชอบอยู่ที่ข่ายหลอดเลือดดำที่กระเพาะปัสสาวะ และต่อมลูกหมาก หรือมดลูก จึงทำให้ถ่าย ปัสสาวะเป็นเลือดได้ พยาธิตัวอ่อนจะเจริญใน หอยน้ำจืด การป้องกันคือ ไม่ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะลงในแหล่งน้ำ ยาที่ใช้รักษาคือ พราซิ- ควอนเทล เข้าใจกันว่า ญี่ปุ่นเป็นผู้น้ำโรคนี้เข้า มาในประเทศไทยในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒
ทริคิโนสิส หรือโรคพยาธิหมูป่า
หมูที่เลี้ยงตามบ้านตามยถากรรมจะพบโรคพยาธิหมูป่า
เป็นโรคที่เกิดจากพยาธิตัวกลมชนิดหนึ่ง ที่มีชื่อว่า ทริคิเนลลา สไปรัลลิส (Trichinella spiralis) จะเกิดภายหลังกินเนื้อสัตว์ดิบๆ หรือสุกๆ ดิบๆ พยาธินี้พบบ่อยมากในเนื้อหมู อาจเป็นหมูตามภูเขา หมูป่า หรือหมูเลี้ยงตามหมู่บ้าน ระยะฟักตัวประมาณ ๕-๗ วัน ก็จะแสดงอาการ โดยเริ่มมีอาการระคายเคือง และอักเสบของระบบทางเดินอาหาร บริเวณลำไส้เล็กส่วนต้น ซึ่งเป็นบริเวณที่ตัวอ่อนของพยาธิ ที่อยู่ในเนื้อสัตว์จะชอบชอนไชเข้าสู่ร่างกาย ผู้ป่วยจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และท้องเดิน ระยะนี้เรียกว่า ระยะที่มีอาการทางกระเพาะและลำไส้ บางรายจะ เป็นผื่นแดงจางๆ ตามละตัว เพราะพยาธิชอนไช ไปตามท่อน้ำเหลืองไปอยู่ในเนื้อเยื่อต่างๆ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจ สมอง น้ำไขสันหลัง สุดท้าย จะกลับเข้าสู่กระแสโลหิต และไปฝังตัวอยู่ใน กล้ามเนื้อในลักษณะของซีสต์ คือ มีผนังหุ้มโดยรอบ โดยเฉพาะที่กล้ามเนื้ออก กล้ามเนื้อน่อง กล้ามเนื้อไหล่ ตั้งแต่กินเนื้อหมู ที่มีตัวอ่อนของพยาธิเข้าไป ระยะฟักตัวประมาณ ๓-๔ สัปดาห์ จึงจะเกิดซีสต์ ซีสต์จะโตเต็มที่ในเวลา ๒ เดือน เมื่อนผ่านไป ๖-๙ เดือน ก็จะมีหินปูนเกาะ พยาธิอาจจะมีชีวิตอยู่ในซีสต์นี้ได้อีกนาน
ในระยะที่ตัวอ่อนชอนไช จะมีอาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ปวดศีรษะ คอแข็ง กล้ามเนื้ออ่อนแรง หายใจขัด ปวดแขน ปวดน่อง มีไข้ เป็นพักๆ หนังตาบวม ตาแดง และกลัวแสง สติไม่ค่อยดี ทรงตัวไม่ดี หนาวสั่น อ่อนเพลีย มีเลือดออกใต้ผิวหนัง กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ การวินิจฉัยทำได้โดยการทดสอบผิวหนังและการ ตัดชิ้นเนื้อไปตรวจหาพยาธิ ในรายที่มีอาการ ไม่รุนแรง สามารถใช้ยาไธอะเบ็นดาโซลรักษาโรคนี้ ให้หายได้ รายที่มีอาการรุนแรง จะเสียชีวิตจากการที่กล้ามเนื้อหัวใจล้มเหลว ในสัปดาห์ที่ ๑-๒ หรือสัปดาห์ที่ ๔-๘
โรคนี้เกิดจากพฤติกรรมการบริโภคอาหาร ที่ไม่สุกของมนุษย์