เล่มที่ 24
แผนพัฒนาประเทศ
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๑๐ - ๒๕๑๔)

            จากผลของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑ ก็ยังมีการขาดแคลนบริการพื้นฐาน ทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องขยายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่อไป ขณะเดียวกันก็จำเป็น ที่จะต้องให้ความสำคัญต่อการพัฒนาทางด้านสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การศึกษาและสาธารณสุข เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศควบคู่กับการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ เพื่อลดปัญหาความยากจน และการกระจายรายได้ ซึ่งเป็นปัจจัยที่สร้างความขัดแย้งทางการเมืองในขณะนั้น


การพัฒนาอุตสาหกรรมนับเป็นนโยบาย สำคัญในการพัฒนาประเทศ และเป็นการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค

            ดังนั้น แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๒ จึงมุ่งเน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่อไป และปรับปรุงให้มีความสมบูรณ์ และชัดเจนขึ้น โดยเน้นการเจริญเติบโตที่สมดุล ระหว่างเศรษฐกิจ และสังคม โดยเพิ่มการพัฒนาสังคม สาธารณูปการ การสาธารณสุข และการศึกษา เข้าไว้ในแผนพัฒนาฯ ด้วย และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แผนพัฒนาฯ ทุกฉบับก็ใช้คำว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มาโดยตลอด ขณะเดียวกันก็ยังมุ่งเน้นที่จะส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนให้กว้างขวาง ยิ่งขึ้น


การพัฒนาอุตสาหกรรมนับเป็นนโยบาย สำคัญในการพัฒนาประเทศ และเป็นการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค

สำหรับเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญๆของแผน พัฒนาฯ ฉบับที่ ๒ มีดังนี้
  • ให้เศรษฐกิจขยายตัวในอัตราเฉลี่ยร้อยละ ๘.๕ ต่อปี และรายได้เฉลี่ยต่อหัวเพิ่มขึ้น ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕ ต่อปี 
  • ให้มูลค่าผลผลิตด้านอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ร้อยละ ๑๐.๙ ต่อปี และสัดส่วนผลผลิต ภาคอุตสาหกรรมคิดเป็นร้อยละ ๑๓.๖ ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ และให้มูลค่าผลผลิตภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ ๔.๓ ต่อปี 
  • ให้มูลค่าการส่งออกเพิ่มเฉลี่ยร้อยละ ๘.๑ ต่อปี และมูลค่าการนำเข้าเพิ่มเฉลี่ยร้อยละ ๙.๓ ต่อปี 
  • ขยายการมีงานทำ และพัฒนาฝีมือแรงงาน ในระดับต่างๆ ให้มีคุณภาพสูงขึ้น ควบคู่กับการพัฒนาระบบสังคมให้ก้าวหน้า และมีความเสมอภาคมากขึ้น 
  • สร้างอาคารสงเคราะห์ สำหรับผู้มีรายได้น้อย ปีละ ๗๖๐ ครอบครัว 
  • เปิดเขตพัฒนาชุมชนให้ครบทุกอำเภอในภาคใต้ และร้อยละ ๖๐ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 
  • ปรับปรุงโรงพยาบาลในส่วนภูมิภาค ๘๔ แห่ง ยกระดับโรงพยาบาล ๓ แห่ง เป็นโรงพยาบาลศูนย์ประจำภาค
  • รับนักเรียนเพิ่มขึ้นจาก ๕.๒๙ ล้านคนเป็น ๖.๓๕ ล้านคน เร่งผลิตครู อาจารย์ เพิ่มขึ้น ๔๙,๗๗๐ คน 
  • ขยายคณะและภาควิชา ในมหาวิทยาลัย เพื่อให้รับนักศึกษาเพิ่มขึ้น ๑๐,๓๐๐ คน
            ในช่วงของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๑๐ - ๒๕๑๔) ได้เกิดเหตุการณ์หลายอย่าง ที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนา เช่น การถอนกำลังทหารจากเวียดนาม และการลดรายจ่ายทางด้านการทหารของสหรัฐอเมริกา การลงทุนจากต่างประเทศลดลง เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงิน และการค้าระหว่างประเทศ ทำให้รายได้จากการส่งออกของไทยลดลง ส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย เพิ่มขึ้นร้อยละ ๗.๓ ต่อปี (ต่ำกว่าที่กำหนดไว้ในแผนร้อยละ ๘.๕ ต่อปี) มูลค่าผลิตผลภาคเกษตร และภาคอุตสาหกรรมเพิ่มต่ำกว่าเป้าหมาย คือ เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ ๓.๗ และ ๑๐.๑ ตามลำดับ ในขณะที่มูลค่าสินค้าออกและสินค้าเข้าก็ต่ำกว่าเป้าหมายเช่นกัน ส่วนปัญหาเรื่องการกระจายรายได้ และความยากจน ขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

  

ในระยะแรกๆ ของแผนพัฒนามุ่งเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อเป็นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจ

            อย่างไรก็ตาม บริการพื้นฐานทางเศรษฐกิจ และสังคมยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านการคมนาคม และขนส่ง พลังงาน โทรศัพท์ และ ประปา กระจายครอบคลุมพื้นที่สำคัญๆ มากขึ้น ในขณะที่เด็กมีโอกาสได้รับการศึกษามากขึ้น โดยสามารถรับนักเรียนทุกระดับชั้นได้ถึง ๖.๔ ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น ๑.๘ ล้านคน มีการจัดตั้ง และปรับปรุงสถานีอนามัยชั้น ๑ เพิ่มขึ้น ๗๖ แห่ง ทำให้สามารถให้บริการด้านสาธารณสุขได้ทั่วถึงยิ่งขึ้น