เล่มที่ 24
แผนพัฒนาประเทศ
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๓ (พ.ศ. ๒๕๑๕ - ๒๕๑๙)

            ในการวางแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๓ ได้มีการกำหนดทิศทาง และวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน ในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ให้ความสำคัญต่อการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โดยการพัฒนาอุตสาหกรรม เพื่อการส่งออกแทนการนำเข้า และยกระดับรายได้ของประชาชน รวมทั้งสนับสนุนการมีงานทำ และแก้ไขปัญหาการเพิ่มขึ้นของประชากร ซึ่งสูงกว่าร้อยละ ๓.๒ ตลอดจนเน้นขยายการศึกษา และการสาธารณสุขให้กว้างขวางยิ่งขึ้น และเป็นครั้งแรก ที่ได้มีการบรรจุนโยบายประชากรไว้ในแผนพัฒนาฯ


การมีขนาดครอบครัวที่เหมาะสมเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความสุขในครอบครัว และสังคม

สำหรับเป้าหมายที่สำคัญๆ ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๓ มีดังนี้
  • ให้เศรษฐกิจขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ ๗.๐ ต่อปี โดยมูลค่าผลผลิตด้านอุตสาหกรรม เพิ่มเฉลี่ยร้อยละ ๘.๐ ต่อปี และด้านเกษตรเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ ๕.๑ ต่อปี 
  • ให้สาขาไฟฟ้าและประปาเพิ่มร้อยละ ๑๕ ต่อปี การก่อสร้างเพิ่มร้อยละ ๖.๕ ต่อปี 
  • ลดอัตราการเพิ่มของประชากรจากร้อยละ ๓.๒ ต่อปี เหลือร้อยละ ๒.๕ ต่อปี โดยสนับสนุนการวางแผนครอบครัวแบบ สมัครใจ ซึ่งจะมีส่วนทำให้รายได้เฉลี่ยต่อบุคคลเพิ่มเฉลี่ยร้อยละ ๔.๕ ต่อปี
  • ยกระดับการมีงานทำ โดยเพิ่มการจ้างงานและแก้ไขปัญหาการว่างงาน ฯลฯ
            ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๓ ปรากฏว่า มีเหตุการณ์ผันผวนหลายประการ เช่น การที่สหรัฐอเมริกาลดค่าเงินดอลลาร์ ทำให้ไทยต้องลดค่าเงินบาทในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ วิกฤตการณ์น้ำมันในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ ทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการขาดเสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อยครั้ง

            ผลของการพัฒนาในระยะของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๓ ปรากฏว่า เศรษฐกิจขยายตัวในระดับต่ำกว่าเป้าหมายคือ ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ ๖.๕ รายได้เฉลี่ยต่อคนเพิ่มขึ้นร้อยละ ๓.๕ ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายเช่นกัน และจากภาวะฝนแล้งในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ และ พ.ศ. ๒๕๑๙ ส่งผลกระทบต่อการผลิตภาคเกษตร แม้ว่าภาคอุตสาหกรรมจะยังคงขยายตัวสูงในตอนต้นแผน แต่วิกฤตน้ำมันและการเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบนำเข้า ทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมในช่วงปลายแผนเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ ๕.๕ ต่อปี ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อสูงคือ เฉลี่ยร้อยละ ๑๐.๘ ต่อปี การว่างงานในช่วงกลางของแผนสูงถึง ๘๐๐,๐๐๐ คน ส่วนการแก้ปัญหาการกระจายรายได้และความเจริญยังไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะปัญหาการว่างงานและประชากรยังคงเพิ่มในอัตราสูง บริการพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมยังคงรวมกันอยู่ในส่วนกลาง และยังมีปัญหาด้านคุณภาพของบริการ ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมทวีความรุนแรง และขยายตัวมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม มีบางเรื่องที่ประสบผลสำเร็จ พอสมควร เช่น การคมนาคม และขนส่ง ซึ่งกระจายเชื่อมโยงระหว่างแหล่งผลิตกับตลาด กว้างขวางยิ่งขึ้น เสถียรภาพทางการเงินระหว่างประเทศดีขึ้น ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ ก็อยู่ในระดับสูง การท่องเที่ยว รวมทั้งการส่งออก ยังมีแนวโน้มค่อนข้างสดใส

           

ศิลปหัตถกรรม อาหารไทยอีกทั้งธรรมชาติที่ดีและสวยงาม มีส่วนช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวและการมีงานทำ