เล่มที่ 24
แผนพัฒนาประเทศ
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๖ (พ.ศ. ๒๕๓๐ - ๒๕๓๔)

            ในช่วงของการจัดทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๖ ปรากฏว่า ประเทศไทยประสบปัญหาทางเศรษฐกิจหลายประการ ซึ่งมีสาเหตุมาจาก ทั้งเหตุการณ์ภายนอกประเทศ และภายในประเทศ ดังที่กล่าวแล้วในตอนต้น ดังนั้น ในการวางแผน พัฒนาฯ ฉบับที่ ๖ จึงมุ่งเน้น ที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ การรักษาระดับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ให้ขยายตัวอย่างต่ำร้อยละ ๕ ต่อปี เพื่อรองรับกำลังแรงงานที่เพิ่มขึ้น และการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ควบคู่กับการเร่งพัฒนาสังคม โดยเร่งพัฒนาคุณภาพของทรัพยากร มนุษย์ และคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมทั้งการเสริมสร้างวัฒนธรรม และค่านิยมที่ดีงาม คือ ใช้ศาสนธรรมเป็นเครื่องมือในการพัฒนาจิตใจ โดยการเน้นเรื่องคุณธรรม ๔ ประการ ตามพระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และค่านิยมพื้นฐาน ๕ ประการ เป็นหลัก ได้มีการกำหนดแนวทางที่ สำคัญ ๓ แนวทางคือ

      

ศาสนธรรมเป็นเครื่องมือในการพัฒนาจิตใจ และช่วยเสริมสร้างวัฒนธรรมและค่านิยมที่ดีงาม

๑) การเพิ่มประสิทธิภาพ การพัฒนาประเทศ
๒) การปรับปรุงระบบการผลิต การตลาด และคุณภาพปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ และ
๓) การกระจายรายได้และความเจริญไปสู่ภูมิภาค และชนบท โดยเน้นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เพี่อยกระดับรายได้ และคุณภาพชีวิตของคนส่วนใหญ่


สินค้าหัตถกรรมไทยมีส่วนช่วยเสริมสร้างอาชีพและรายได้ให้กับประชาชน

ทั้งนี้ ได้มีการกำหนดแผนงานหลักรวม ๑๐ แผนงาน เพื่อสนับสนุนแนวทางดังกล่าวข้างต้น และให้ความสำคัญต่อการจัดทำแผนปฏิบัติการ ในรูปของแผนงาน และความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

            อย่างไรก็ตาม เมื่อเริ่มมีการดำเนินการตามแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๖ ปรากฏว่า สถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้นเกิดคาด เช่น เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ประกอบกับนโยบายและมาตรการ ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และการเงินการคลังของรัฐบาล บังเกิดผลในทางปฏิบัติ ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างรวดเร็วคือ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ และ ๒๕๓๑ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ ๙.๕ และ ๑๓.๓ ตามลำดับ ปัญหาการว่างงานที่คาดว่าจะเกิดขึ้น กลับกลายเป็นปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและช่างอุตสาหกรรม บริการพื้นฐาน ทางเศรษฐกิจขาดแคลน ไม่เพียงพอที่จะสนับสนุน การลงทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้น จึงมีการ ปรับปรุงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๖ ใหม่ โดยมี วัตถุประสงค์ที่สำคัญ ๒ ประการคือ
  • เร่งรักษาอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ให้อยู่ในระดับสูง ควบคู่กับการรักษา เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ 
  • มุ่งให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจกระจาย ออกไปในภูมิภาคต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และแก้ไขปัญหาการกระจายรายได้และ ความยากจนของประชาชน 
ทั้งนี้ ได้มีการกำหนดเป้าหมายที่สำคัญๆ ในช่วง พ.ศ. ๒๕๓๒ - ๒๕๓๔ ไว้ดังนี้
  • ให้เศรษฐกิจขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปี และรักษาการขาดดุลบัญชีเดิน สะพัดไม่ให้เกินร้อยละ ๔ ของผลผลิตรวม
  • เร่งพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน กับต่างประเทศ โดยหาทางลดต้นทุน การผลิต ปรับปรุงคุณภาพของสินค้า และขยายความสัมพันธ์กับต่างประเทศ เพื่อขยายการส่งออก 
  • เร่งพัฒนาระบบบริการพื้นฐาน โดยแยก เป็นการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนทางด้าน การขนส่งทางน้ำและทางอากาศ และปู พื้นฐานการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใน ระยะยาวให้เพียงพอกับความต้องการ
  • เร่งผลิตและพัฒนากำลังคนในสาขา ที่เป็นความต้องการของตลาดแรงงาน เช่น ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ช่าง เทคนิค และครู-อาจารย์ในสาขาวิชาช่าง ฯลฯ
            ผลการพัฒนาในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๖ ปรากฏว่า ประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจในหลายด้าน โดยเพาะอย่างยิ่ง การลงทุนเพิ่มขึ้น เฉลี่ยร้อยละ ๒๐.๒ และเศรษฐกิจขยายตัว เฉลี่ยร้อยละ ๑๐.๙ การส่งออกขยายตัว เฉลี่ยถึงร้อยละ ๒๕.๗ ต่อปี ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้เป็นเพราะมีปัจจัย ที่เอื้ออำนวย ทั้งภายใน และภายนอกประเทศ รายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในตอนต้นแผน ซึ่งสืบเนื่องมาจากการกำหนดให้ปี พ.ศ. ๒๕๓๐ และ ๒๕๓๑ เป็นปีท่องเที่ยวไทย และปีศิลปหัตถกรรมไทยตามลำดับ ฐานะการเงินการคลังของประเทศ ยังมีเสถียรภาพ การว่างงาน เหลือเพียงร้อยละ ๐.๖ ของกำลังแรงงาน ปัญหาหนี้สินต่างประเทศเริ่มผ่อนคลายลงคือ สัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ จากการส่งออก ลดจากร้อยละ ๒๐.๖ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ เหลือร้อยละ ๑๐.๕ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ ส่วนเงินเฟ้อเฉลี่ยร้อยละ ๕ ต่อปี

อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่า ประเทศไทยยังคงมีปัญหาด้านความยากจน และความเหลื่อมล้ำ ในการกระจายรายได้ เพราะกลุ่มคนยากจน ๒๐ เปอร์เซนต์สุดท้าย มีสัดส่วนรายได้ลดลง การพัฒนา และความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ยังคงรวมกันอยู่ในกรุงเทพฯ และในเมืองใหญ่ๆ


กรุงเทพฯ เป็นศูนย์รวมแห่งความเจริญ จริงหรือ?

นอกจากนี้ ช่องว่างระหว่างการออมกับการลงทุน ยังขยายตัวเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ ๘.๕ ของผลิตผลรวม ซึ่งเป็นผลทำให้เกิดปัญหาหนี้สินต่างประเทศ บริการพื้นฐานยังไม่เพียงพอคือ มีลักษณะเป็นคอขวด ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการลงทุน ปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ขยายตัว และทวีความรุนแรงมากขึ้น พื้นที่ป่าไม้ลดลงจาก ๑๐๙.๕ ล้านไร่ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๑ เหลือเพียง ๙๐ ล้านไร่ ใน ปี พ.ศ. ๒๕๓๒ หรือไม่ถึงร้อยละ ๒๘ ของ พื้นที่ประเทศ และการที่สังคมไทยเปลี่ยนจาก สังคมชนบทเป็นสังคมเมือง และสังคมอุตสาหกรรม มีผลกระทบต่อสภาพจิตใจ และวัฒนธรรม ทำให้วิถีชีวิตของคนไทยเปลี่ยนแปลงไป ปัญหาอาชญากรรม และยาเสพย์ติด เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ระบบราชการ และการบริหารด้านเศรษฐกิจ ยังปรับตัวไม่ทัน กับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ และสังคม


ปัญหาสิ่งแวดล้อมในเขตเมืองและชนบทขยายตัวเพิ่มขึ้น