เล่มที่ 24
แผนพัฒนาประเทศ
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๘ (พ.ศ. ๒๕๔๐ - ๒๕๔๔)


ความเจริญเติบโตทางวัตถุส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตที่เรียบง่ายของคนไทย

            ผลของการพัฒนาในระยะ ๓๕ ปี ตามที่กล่าวข้างต้น พอสรุปได้ว่า ประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจในหลายๆ เรื่อง แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีปัญหาอีกหลายประการ เช่น ปัญหาด้านสังคม และความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม หรืออยู่ในสภาพที่เรียกว่า เศรษฐกิจ ดี สังคมมีปัญหา และการพัฒนาไม่ยั่งยืน หากปล่อยไว้ จะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ ในระยะยาว และผลสุดท้าย จะกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นไปอย่างรวดเร็วในยุคโลกาภิวัตน์


การพัฒนาทักษะ และฝีมือแรงงาน เพื่อเป็นฐานในการพัฒนาประเทศ

            ดังนั้น ในการจัดเตรียมวางแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๘ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และผู้แทนจากทุกฝ่ายทุกสาขาอาชีพ จึงได้มีการระดมความคิดร่วมกันว่า การพัฒนาประเทศไทยในอนาคต ควรเป็นอย่างไร เพื่อใคร และควรมีการพัฒนาแบบใด ทั้งนี้ได้ทำการทบทวนถึงผลการพัฒนาใน ระยะที่ผ่านมา ที่มีทั้งส่วนที่ประสบผลสำเร็จ และส่วนที่เป็นปัญหา รวมทั้งการวิเคราะห์ถึงสาเหตุของปัญหา ที่พอสรุปได้ว่า เป็นเพราะการวางแผน และการพัฒนา ในระยะที่ผ่านมา ขาดการกำหนดเป้าหมาย หรือจุดหมายของประเทศ ในระยะยาว ทำให้ต่างฝ่ายต่างดำเนินการ ไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนา ในระยะที่ผ่านมามุ่งเน้นเฉพาะการเร่งรัดความ เจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ยุทธศาสตร์ ของการพัฒนามุ่งเน้นที่จะขยายการผลิตด้าน อุตสาหกรรมและส่งเสริมการส่งออก โดยใช้ ความได้เปรียบทางทรัพยากรธรรมชาติที่มีอย่าง เหลือเฟือ และแรงงานที่มีค่าจ้างต่ำเป็นปัจจัย ในการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยไม่ได้คำนึง ถึงผลกระทบต่อคน และคุณค่าของความเป็น มนุษย์เท่าที่ควร การพัฒนาที่เน้นความเจริญ เติบโตทางเศรษฐกิจอาจเหมาะสมหรือสอดคล้อง กับสถานการณ์ของประเทศในขณะนั้น แต่ อย่างไรก็ตาม อัตราความเจริญเติบโตทาง เศรษฐกิจและความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุที่มี มากขึ้น มิได้หมายความว่า คนไทยและสังคม ไทยจะมีความสมบูรณ์พูนสุข หรือมีคุณภาพชีวิต ที่ดีขึ้นอย่างทั่วถึง เพราะในขณะที่เศรษฐกิจ ก้าวหน้า แต่วิถีชีวิตที่ดีงามเรียบง่ายของสังคมไทย เริ่มเปลี่ยนแปลงไป พร้อมๆ กับ ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ความมั่นคงของครอบครัว และชุมชนคลายตัวลง ปัญหาสังคมต่างๆ ขยายตัว และทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

            แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๘ จึงได้ปรับเปลี่ยนแนวคิดการพัฒนา จากเดิมที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นจุดมุ่งหมายหลัก แต่เพียงอย่างเดียว เป็น การเน้นให้คนเป็น ศูนย์กลาง หรือเป้าหมายสุดท้ายของการพัฒนา เพราะคนเท่า นั้น ที่เป็นปัจจัยชี้ขาด ถึงความสำเร็จของการพัฒนา ในทุกเรื่อง โดยการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นเพียงเครื่องมืออย่างหนึ่ง ที่จะช่วยทำให้คนมีความสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเท่านั้น ไม่ใช่เป้าหมายสุดท้ายของการพัฒนาอีกต่อไป รวมทั้งปรับ เปลี่ยนวิธีการวางแผน จากการวางแผนแบบ แยกส่วนรายสาขาเศรษฐกิจ หรือสังคมที่ขาด ความเชื่อมโยงเกื้อกูลต่อกัน มาเป็นการพัฒนา แบบรวมส่วนหรือบูรณาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มุ่งเน้นที่จะให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง มีส่วนร่วมใน การพัฒนาประเทศทุกขั้นตอนตั้งแต่ต้นจนจบ คือ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมติดตามผล ร่วม ปรับปรุงวิธีการดำเนินงาน และร่วมได้รับประโยชน์ จากการพัฒนา การพัฒนา ที่เน้นให้คนเป็นศูนย์กลาง หรือเป้าหมายสุดท้ายของการพัฒนา เรียกอีกนัยหนึ่งก็คือ เป็น การพัฒนาของคน โดยคน และเพื่อคน ซึ่งจะทำให้การพัฒนาประเทศไทย ก้าวเข้าสู่การพัฒนา ที่พึงปรารถนาในระยะยาว คือ เศรษฐกิจ ดี สังคม ไม่มีปัญหา และการพัฒนายั่งยืน

            การพัฒนา เพื่อให้คนไทยส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หรืออยู่ดีมีสุข จะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการพัฒนา หรือยุทธศาสตร์การพัฒนาใหม่ โดยจะต้องทำการพัฒนาทั้งที่ "ตัว คน" อย่างเต็มศักยภาพ ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา เพื่อให้เป็นคนที่มีคุณภาพ มีความรู้ ความสามารถ สามารถกำหนดทิศทางการพัฒนา รู้จักตัวเอง รู้เท่ากันโลก มีศักยภาพที่จะปรับ ตัวเองให้อยู่ในสังคมอย่างมีคุณค่าตลอดทุกช่วง วัยของชีวิต ควบคู่กับพัฒนาสภาพ แวดล้อมรอบๆ ตัวคน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การบริหารจัดการ ฯลฯ ให้เอื้อต่อการพัฒนาคน


การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเป็นหัวใจของการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย

สำหรับเป้าหมายสำคัญๆ ของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๘ มีดังนี้
  • เตรียมความพร้อมทุกด้านของเด็ก ปฐมวัย (๐ - ๕ ปี) อย่างมีคุณภาพ ขยายโอกาสทางการศึกษาขึ้นพื้นฐาน เป็น ๙ ปี แก่เด็กในวัยเรียนทุกคนและ เตรียมขยายการศึกษาพื้นฐานเป็น ๑๒ ปี 
  • ยกระดับทักษะฝีมือและความรู้พื้นฐาน แก่แรงงานในสถานประกอบการ โดย ให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกต่อกลุ่ม แรงงานอายุ ๒๕ - ๔๕ ปี 
  • ให้ผู้ด้อยโอกาสทุกประเภทได้รับโอกาส การพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ และ ได้รับบริการพื้นฐานทางสังคมอย่างมี คุณภาพและทั่วถึง
  • รักษาอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมอย่างมีเสถียรภาพ โดยรักษาอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยให้อยู่ในระดับ ๔.๕ ต่อปี 
  • ลดสัดส่วนคนยากจนของประเทศให้ เหลือน้อยกว่าร้อยละ ๑๐ ในช่วงของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๘
เพื่อที่จะให้บรรลุถึงเป้าหมายของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๘ และจุดหมายหลักของการพัฒนาประเทศตามแนวคิด และทิศทางใหม่ ได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาที่สำคัญๆ ไว้ ๗ ยุทธศาสตร์ คือ

๑) การพัฒนาศักยภาพของคน

            ประกอบด้วย แนวทางการส่งเสริมให้ประเทศมีโครงสร้างประชากรที่เหมาะสม และมีการกระจายตัวของประชากรที่สอดคล้องกับศักยภาพ และโอกาสการพัฒนา ในแต่ละพื้นที่ของประเทศ การปรับปรุงกระบวนการเรียนรู้ ด้านการพัฒนาจิตใจ ให้เกิดผลในทางปฏิบัติ การพัฒนาสติปัญญา และทักษะฝีมือแรงงาน ให้คนไทยทุกคนมีคุณภาพ และประสิทธิภาพสูงขึ้น ในกระบวนการผลิต และสามารถปรับตัวได้กับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และสังคม รวมทั้งการพัฒนาสุขภาพ และพลานามัย ที่มุ่งเสริมสร้างโอกาสให้คนไทยทุกคน มีสุขภาพดีถ้วนหน้า และมีความรู้ความเข้าใจในการป้องกันโรค

๒) การพัฒนาสภาพแวดล้อมของสังคม ให้เอื้อต่อการพัฒนาคน

            ประกอบด้วย แนวทางการเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวในชุมชน การสร้างโอกาสให้คน ครอบครัว ชุมชน มีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง และสังคม การพัฒนาระบบความมั่นคงทางสังคม เพื่อสร้างหลักประกันด้านต่างๆ แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง การเสริมสร้างขีดความสามารถ ในระบบอำนวยความยุติธรรม และระบบความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินให้แก่ประชาชน และการส่งเสริมให้วัฒนธรรม มีบทบาทในการพัฒนาคน และประเทศให้สมดุล และยั่งยืน

๓) การเสริมสร้างศักยภาพการพัฒนาของภูมิประเทศ และชนบท เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน อย่างทั่วถึง

            ประกอบด้วยแนวทางการกระจายโอกาส และความเจริญ ด้วยการพัฒนาพื้นที่ในภูมิภาค การพัฒนา การมีส่วนร่วมในการพัฒนา และการกระจายการพัฒนา ด้วยการเพิ่มศักยภาพขององค์กรชุมชน การสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ และขยายเครือข่ายการเรียนรู้ของชุมชน การเสริมสร้างโอกาสการพัฒนา เพื่อสร้างอาชีพ และการมีงานทำ ด้วยการส่งเสริมบทบาทของภาคธุรกิจเอกชน และองค์กรพัฒนาเอกชน การกระจายกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และบริการทางสังคม การแก้ไขปัญหา และรักษาสภาพแวดล้อมเมือง การบริหารจัดการงานพัฒนา ในลักษณะ พหุภาคี ทั้งในงานพัฒนาทั่วไป และในระดับพื้นที่

๔) การพัฒนาสมรรถนะทางเศรษฐกิจ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาคนและคุณภาพชีวิต

            ประกอบด้วยแนวทางการเสริมสร้างระบบเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง และเจริญเติบโต อย่างมีเสถียรภาพ การปรับโครงสร้างการผลิต ให้เข็มแข็ง เพื่อให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของตลาดโลก และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย การพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เพื่อเป็นฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนการพัฒนาพื้นที่ชุมชนและ บริการโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเพิ่ม ประสิทธิภาพการผลิตและยกระดับ คุณภาพชีวิต

๕) การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

            ประกอบด้วยแนวทางการบริหารจัดการ เพื่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ให้มีความสมบูรณ์ เกิดความสมดุลต่อระบบนิเวศวิทยา รวมทั้งการดูแลรักษาสภาวะแวดล้อม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน และเป็นฐานการพัฒนาประเทศ ในระยะยาว การจัดระบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ให้เกิดการใช้ประโยชน์ และควบคุมดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ มีการจัดสรรอย่างเป็นธรรม เป็นประโยชน์ต่อสังคม และชุมชนอย่างแท้จริง รวมทั้งการบริหารจัดการ เพื่อป้องกัน และบรรเทาภัย อันเกิดจากธรรมชาติ

๖) การพัฒนาประชารัฐ

            เป็นการพัฒนาภาครัฐให้มีสมรรถนะ และพันธกิจหลัก ในการเสริมสร้างศักยภาพ และสมรรถนะของคน ทำใหคนในสังคมเป็นพันธมิตรกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ และมีส่วนร่วมนการพัฒนาประเทศ ซึ่งประกอบด้วย แนวทางการพัฒนา เพื่อเสริมสร้างหลักนิติธรรมในการ บริหารรัฐกิจ การจัดการแก้ไขความ ขัดแย้งในสังคมด้วยสันติวิธี สนับสนุนให้ประชาชนในทุกส่วนของสังคม มีส่วนร่วมในกิจกรรมสาธารณะของภาครัฐ เพิ่มพูนประสิทธิผล และประสิทธิภาพภาครัฐ ด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบราชการ ตลอดจนการสร้างความต่อเนื่อง ในงานบริหารรัฐกิจ โดยการสร้างความรู้ความเข้าใจ ด้านนโยบายสาธารณะ และการกำหนดระเบียบวาระแห่งชาติ

๗) การบริหารจัดการ เพื่อให้มีการนำแผนพัฒนาฯ ไปดำเนินการให้เกิดผลในทางปฏิบัติ

            ประกอบด้วย แนวทางการแปลงแผนสู่การปฏิบัติ ด้วยระบบการจัดการ ในระดับพื้นที่ ตามภารกิจของหน่วยราชการ และการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายในสังคม การพัฒนากลไกของรัฐ ในการปฏิบัติงาน การเร่งรัดพัฒนาระบบกฏหมาย ให้เป็นไปในแนวทางของระบบกฏหมายมหาชน เพื่อเอื้ออำนวยต่อการจัดการ ให้มีกฏหมายรองรับแผนพัฒนาฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การปรับบทบาทการมีส่วนร่วมของภาคี เพื่อการพัฒนา การเพิ่มประสิทธิภาพของหน่วยงานกลาง ในการแปลงแผนไปสู่การปฏิบัติ การพัฒนาสมรรถนะ กลไกนอกภาครัฐ และการติดตาม และประเมินผล โดยมีการจัดทำดัชนี ชี้วัดผลของการพัฒนาแบบองค์รวม



การพัฒนาประเทศต้องคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เพื่อให้การพัฒนามีความยั่งยืน และทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น