แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๒๐ - ๒๕๒๔)
ดังได้กล่าวข้างต้นแล้วว่า ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๑๖ - ๒๕๑๙ ได้เกิดปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจปัญหาเงินเฟ้อ และการว่างงานอย่างกว้างขวาง รวมทั้งความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมประกอบกับสถานการณ์ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจสังคม และการเมือง เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ในการจัดทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๔จึงได้มีการเปลี่ยนรูปแบบ การวางแผนพัฒนาใหม่ จากการวางแผนแบบการจัดสรรทรัพยากร (Allocative Plan) เป็นแผนแบบชี้ทิศทางหรือชี้นำ (Indicative Plan) ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่น และความคล่องตัว ซึ่งผู้บริหาร และหน่วยปฏิบัติสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการจัดทำแผนงาน โครงการ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป และทรัพยากรที่มีอยู่
การฟื้นฟูและบูรณะทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เป็นรากฐานการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน
แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๔ มีจุดเน้น ๒ ประการ คือ
ประการแรกมุ่งที่จะเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจและรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจให้ มั่นคงในช่วง ๒ ปีแรกของแผน ทั้งนี้เพื่อแก้ไขปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจรวมทั้งชะลออัตรา เพิ่มของประชากรต่อไป
ประการที่ ๒ เร่งทำการฟื้นฟู บูรณะทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ป่าไม้ ที่ดิน แหล่งน้ำ และแร่ธาตุเพื่อให้เป็นรากฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาว
อาชีพทางการเกษตรยังคงมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย
สำหรับเป้าหมายที่สำคัญๆของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๔ มีดังนี้
- ให้เศรษฐกิจขยายตัวโดยเฉลี่ยร้อยละ ๗.๐ ต่อปี มูลค่าผลผลิตการเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ ๕.๐ ต่อปี และนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ ๗.๗ ต่อปี
- ลดอัตราการเพิ่มของประชากรให้เหลือร้อยละ ๒.๑ ต่อปี ในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ซึ่งจะทำให้รายได้ต่อหัวเพิ่มเฉลี่ยร้อยละ ๔.๖ ต่อปี
- ให้การลงทุนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ ๗.๒ ต่อปี ซึ่งจะมีส่วนช่วยทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น ๒.๒ ล้านคน
- รักษาระดับเงินเฟ้อ ไม่ให้สูงเกินร้อยละ ๖.๐ ต่อปี
- เสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ และสร้างความเป็นธรรมในสังคม โดยลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ และทางสังคม ฯลฯ
ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๔ ปรากฏว่า เศรษฐกิจโลกยังมีความผันผวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก เพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัว ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทย เพราะต้องพึ่งพิงแหล่งพลังงานจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ต้องใช้จ่าย เพื่อซื้อน้ำมัน วัตถุดิบ และเครื่องจักรเพิ่มขึ้นมาก ก่อให้เกิดการขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละเกือบ ๕๐,๐๐๐ ล้านบาท ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลประมาณร้อยละ ๖.๓ ของผลิตผลรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้เกิดปัญหาเงินเฟ้อสูงถึงร้อยละ ๑๑.๖ ต่อปี นอกจากนี้ ยังเกิดวิกฤตการณ์ของธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงิน เช่น กรณีการล้มของบริษัทราชาเงินทุน เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๔ ปรากฏว่า เศรษฐกิจขยายตัวสูงกว่าเป้าหมายเล็กน้อย คือ เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปี สาขาที่เพิ่มสูงขึ้นคือ สาขาเหมืองแร่ ก่อสร้าง คมนาคมขนส่ง และประปา ทั้งนี้เพราะรัฐทุ่มเทการลงทุนเป็นจำนวนมาก ส่วนสาขาที่ขยายตัวต่ำกว่าเป้าหมายคือ สาขาเกษตร ทั้งนี้เป็นเพราะความจำกัดของที่ดิน และความเสื่อมโทรมของที่ดิน แหล่งน้ำ ส่วนสาขาอุตสาหกรรมขยายตัวต่ำกว่าเป้าหมายเช่นกัน ทำให้เกิดปัญหาการว่างงาน ในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ถึง ๖๐๐,๐๐๐ คน และยังโยงไปถึงปัญหาความยากจน และการกระจายรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนที่อยู่ในสาขาเกษตร และที่อยู่ในชนบทที่ห่างไกล ผู้ที่อยู่ในสาขาเกษตรกร ซึ่งมีจำนวนมาก มีรายได้ต่ำกว่าผู้อยู่ในสาขาอุตสาหกรรมเกือบ ๕ เท่าตัว ประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงหนือมีรายได้ต่างจากคนในกรุงเทพฯ เพิ่มจาก ๖.๙ เท่าตัว ในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เป็น ๗.๕ เท่าตัว ในปี พ.ศ. ๒๕๒๔
สำหรับการพัฒนาด้านสังคม ปรากฏว่า มีบางเรื่องทำได้ใกล้เคียงกับเป้าหมาย ที่กำหนดไว้คือ สามารถลดอัตราการเพิ่มของประชาชน ใน ปี พ.ศ. ๒๕๒๔ เหลือเพียงร้อยละ ๒.๒ ส่วนการพัฒนาด้านการศึกษา และสาธารณสุข ยังคงมีปัญหาด้านคุณภาพของบริการ และยังไม่สามารถกระจายได้ อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนบทที่ยากจน และห่างไกล