แนวความคิดเกี่ยวกับการกำหนดเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศ
มีแนวความคิดหลักอยู่ ๒ ประการ คือ การใช้เส้นแบ่งเขตแดนตามธรรมชาติ และการใช้เส้นแบ่งเขตแดนที่สร้างขึ้น
๑. การใช้เส้นแบ่งเขตแดนตามธรรมชาติ (Natural Boundary Line)
แนวความคิดนี้ได้ยึดเอาสิ่งที่เป็นสภาพธรรมชาติทางกายภาพที่เด่น และมองเห็นได้ชัด อย่างเป็นรูปธรรม มาใช้เป็นหลักในการแบ่งเส้นเขตแดน อาทิ ภูเขา หรือทิวเขา แม่น้ำ อ่าว ทะเลสาบ ทะเลทราย ช่องแคบ ป่าไม้ และหนองบึง ทั้งนี้ เพราะในสมัยก่อน สภาพธรรมชาติดังกล่าว มักจะถือเป็นสิ่งกีดขวางตามธรรมชาติ ซึ่งก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการไปมาหาสู่กันระหว่างกลุ่มชน ที่อาศัยอยู่ในบริเวณ ๒ ด้าน ของสภาพธรรมชาตินั้นๆ ถึงแม้ว่า ในปัจจุบัน สภาพธรรมชาติจะมิได้เป็นอุปสรรคกีดขวางการเดินทางติดต่อระหว่างกลุ่มชนต่างๆ มากนัก แต่การใช้สภาพธรรมชาติเป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศ ก็ยังคงมีอยู่อย่างแพร่หลาย โดยมีหลักการสำคัญดังนี้
การใช้ภูเขาหรือทิวเขา
ภูเขา หรือทิวเขาเป็นสภาพธรรมชาติที่มองเห็นได้ชัดเจน อีกทั้ง ยังเป็นอุปสรรคกีดขวางการเดินทางติดต่อระหว่างกลุ่มชน ที่อาศัยอยู่ ๒ ด้าน ของภูเขา หรือทิวเขานั้น ดังนั้น จึงนิยมใช้ภูเขา หรือทิวเขาเป็นแนวแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศ แต่มีปัญหาว่า จะกำหนดเส้นแบ่งเขตแดนให้ชัดเจนได้อย่างไร เนื่องจากภูเขาและทิวเขา มักครอบคลุมอาณาบริเวณค่อนข้างกว้างขวาง ที่นิยมใช้กันมาก คือ เส้นสันปันน้ำ (Watershed line หรือ Water dividing line) ซึ่งเป็นเส้นสมมติที่ลากเชื่อมจุดต่างๆ บนสันเขา ซึ่งแบ่งน้ำที่อยู่แต่ละด้านของสันเขาให้ไหลในทิศทางตรงข้ามกันไปสู่แม่น้ำลำธาร ในกรณีที่มีสันเขาแยกออกเป็นหลายสัน จะยึดถือสันเขาที่มีความต่อเนื่องมากที่สุด เป็นแนวของสันปันน้ำ นั่นคือ สันเขาที่สูงที่สุดไม่จำเป็นต้องเป็นสันปันน้ำเสมอไป แต่สันเขาที่สูง และมีความต่อเนื่องมากที่สุด มักได้รับการพิจารณาให้เป็นสันปันน้ำ
เส้นแบ่งเขตแดนโดยใช้สันปันน้ำ
การใช้แม่น้ำ
การกำหนดเส้นแบ่งเขตแดนในแม่น้ำ มีวิธีกำหนดได้หลายวิธี สุดแล้วแต่ ประเทศคู่สัญญาจะใช้วิธีใด แต่วิธีที่ใช้กันมากมี ๕ วิธี ดังนี้
(๑) การกำหนดให้ใช้ฝั่งทั้งสองของแม่น้ำเป็นเส้นแบ่งเขตแดน ตามวิธีนี้แม่น้ำจะเป็นกรรมสิทธิ์ หรือเขตอธิปไตยร่วม (Joint Sovereignty) ของทั้ง ๒ ประเทศ ตัวอย่างเช่น แม่น้ำเมยและแม่น้ำสาละวิน ซึ่งกำหนดให้ฝั่งทั้งสองเป็นเส้นแบ่งเขตแดน ระหว่างประเทศไทยกับสหภาพพม่า โดยฝั่งตะวันออกเป็นของไทย ฝั่งตะวันตกเป็นของพม่า
(๒) การกำหนดให้ใช้แนวกึ่งกลางหรือเส้นมัธยะ (Median Line) ของแม่น้ำเป็นเส้นแบ่งเขตแดน เส้นกึ่งกลางหรือเส้นมัธยะนี้ หมายถึง เส้นที่ลากไปตามแนวกึ่งกลางความกว้างของลำน้ำ ในระดับน้ำเฉลี่ย แบ่งลำน้ำออกเป็น ๒ ส่วนเท่าๆ กัน ซึ่งการใช้เส้นกึ่งกลางหรือเส้นมัธยะในการแบ่งเส้นเขตแดนกันนี้ นับว่า ให้ความเท่าเทียมกันในการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำ แก่รัฐบนชายฝั่งทั้งสองของแม่น้ำ จึงมีความนิยมใช้แนวดังกล่าวในการกำหนดเส้นแบ่งเขตแดน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีที่แม่น้ำนั้นๆ เป็นแม่น้ำตื้น หรือมีขนาดเล็กที่ใช้เดินเรือไม่ได้ (Non-navigable River)
(๓) การกำหนดให้ใช้แนวร่องน้ำลึก (Thalweg) เป็นเส้นแบ่งเขตแดน นิยมใช้ในแม่น้ำขนาดใหญ่ ที่ใช้เดินเรือได้ (Navigable River) เพื่อเป็นหลักในสิทธิอันชอบธรรม ที่เท่าเทียมกันของรัฐชายฝั่งทั้งสองของแม่น้ำ ทั้งในการใช้น้ำ และสิทธิเสรีภาพในการเดินเรือ
(๔) การกำหนดเส้นแบ่งเขตแดนโดยคำนึงถึงสภาพธรรมชาติของแม่น้ำ ในกรณีที่แม่น้ำมี ๒ ร่องน้ำ ในตอนใดตอนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บริเวณปากแม่น้ำ อาจกำหนดเส้นแบ่งเขตแดนกัน โดยให้แต่ละรัฐเป็นเจ้าของ และเดินเรือในร่องน้ำ ของตนเอง เส้นแบ่งเขตแดนแบบนี้ จึงกำหนดขึ้น โดยให้อยู่ระหว่างร่องน้ำทั้งสอง
(๕) การกำหนดเส้นแบ่งเขตแดนโดยใช้หลักต่างกันแต่ละช่วงของลำน้ำ วิธีนี้มีหลักอยู่ว่า การจะใช้ หรือกำหนดเส้นแบ่งเขตแดนแบบใดกับแม่น้ำ เพื่อแบ่งอาณาเขต หรือดินแดนระหว่างรัฐนั้น จะต้องพิจารณาสภาพโดยธรรมชาติของแม่น้ำนั้นเป็นช่วงๆ ว่า จะเหมาะสมกับการใช้วิธีใด อาจใช้หลายวิธีผสมผสานกันในแม่น้ำสายนั้นก็ได้
แผนที่การปักปันเขตแดนตามแม่น้ำโขง จัดทำขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๗๑ - ๒๔๗๒ แสดงเส้นแบ่งเขตแดนไทย - ลาว โดยใช้ร่องน้ำลึกของแม่น้ำโขงเป็นแนวแบ่ง
ยกเว้นในกรณีที่มีเกาะ หรือดอนตั้งอยู่ในลำน้ำก็ให้ถือเอาร่องน้ำลึกที่อยู่ใกล้ฝั่งไทยมากที่สุดเป็นแนวแบ่ง
๒. การใช้เส้นแบ่งเขตแดนที่สร้างขึ้น (Artificial Boundary Line)
คือ ใช้สิ่งที่มนุษย์สร้างหรือจัดทำขึ้นโดยไม่อาศัยสภาพธรรมชาติ เช่น สร้างกำแพง รั้ว สะพาน ถนน อนุสาวรีย์ หรือสิ่งก่อสร้างอื่นๆ นิยมใช้ในการแบ่งเส้นเขตแดน บริเวณที่ราบทุ่งโล่ง หรือไม่มีสภาพธรรมชาติที่เด่นๆ อย่างอื่นปรากฏอยู่ จำเป็นต้องสร้าง หรือจัดทำสิ่งที่จะบ่งบอกแนวเขตแดนให้มองเห็นได้ชัดเจน เพื่อจะได้ไม่เกิดกรณีรุกล้ำดินแดนกันขึ้น ในการกำหนดเส้นแบ่งเขตแดน แบบที่ไม่อาศัยสภาพธรรมชาติ มีวิธีการต่างๆ ที่สำคัญดังนี้
(๑) เส้นแบ่งเขตแดนทางเรขาคณิต (Geometric Boundary Line) เป็นแนวเขตแดนที่อาศัยหลักเกณฑ์ทางเรขาคณิตกำหนดแนวขึ้น เช่น ใช้แนวละติจูด หรือลองจิจูด หรือตามส่วนโค้งของเส้นเมริเดียนและเส้นขนานละติจูด หรือใช้เส้นตรง ที่ลากเชื่อมระหว่างจุด ๒ จุด แนวเขตแดนตามหลักเกณฑ์ทางเรขาคณิตนี้ เป็นเพียงแนวสมมติ ไม่อาจมองเห็นได้ในพื้นที่ หรือในภูมิประเทศของเขตแดนนั้นๆ เว้นแต่จะได้มีการปักปันเขตแดน หรือปักหลักเขตแดนกันแล้วเท่านั้น ตัวอย่างที่สำคัญของเส้นแบ่งเขตแดนชนิดนี้ เห็นได้จากแนวเขตแดนระหว่างสหรัฐอเมริกากับแคนาดา ซึ่งใช้เส้นขนานละติจูดที่ ๔๙ องศาเหนือ เป็นแนวแบ่งตั้งแต่ประมาณลองจิจูด ๙๕ องศาตะวันตก จนถึงชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก เป็นระยะทางยาวประมาณ ๒,๑๐๐ กิโลเมตร
(๒) เส้นแบ่งเขตแดนทางพันธุศาสตร์ (Genetic Boundary Line) เป็นการแบ่งแนวเขตแดนโดยยึดเอาหลักเกณฑ์ทางวัฒนธรรม ศาสนา และภาษา เป็นตัวกำหนด ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนที่มีวัฒนธรรม และประเพณีอย่างเดียวกัน สามารถอยู่ร่วมกันได้โดยสันติ บางครั้งเรียกว่า แนวเขตแดนเชิงวัฒนธรรม (Cultural Boundary)
(๓) เส้นแบ่งเขตแดนทางมานุษยวิทยา - ภูมิศาสตร์ (Anthropo - Geographic Boundary Line) เป็นแนวความคิดที่คำนึงถึงองค์ประกอบ ทั้งในทางเชื้อชาติ วัฒนธรรม และสภาพภูมิประเทศ นำมาประกอบกัน ในการที่จะกำหนดแนว หรือเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศ แต่ก็เป็นเรื่องยากที่จะปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ หรือตามแนวความคิดนี้ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ จึงไม่นิยมนำมาใช้กันมากนัก