เล่มที่ 32
เส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศ
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
น่านน้ำไทย

            น่านน้ำของประเทศไทย แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน แบ่งกั้นโดยตอนใต้ ของคาบสมุทรอินโดจีน ทางด้านตะวันออกของคาบสมุทร คือ อ่าวไทย เป็นส่วนหนึ่งของทะเลจีนใต้ ส่วนทางด้านตะวันตกของคาบสมุทร คือ ทะเลอันดามัน และช่องแคบมะละกา เป็นส่วนหนึ่งของมหาสมุทรอินเดีย ประเทศไทยมีความยาวของฝั่งทะเลรวมทั้งสิ้น ๓,๐๑๐ กิโลเมตร ประกอบด้วยฝั่งทะเลด้านตะวันออกของอ่าวไทยยาว ๕๘๑ กิโลเมตร ฝั่งทะเลด้านตะวันตกของอ่าวไทยยาว ๑,๓๙๑.๕ กิโลเมตร ฝั่งทะเลด้านทะเลอันดามัน และช่องแคบมะละกา ยาว ๑,๐๓๗.๕ กิโลเมตร


ที่มา: อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๑

            จังหวัดที่มีอาณาเขตติดต่อกับฝั่งทะเล มีรวมทั้งหมด ๒๓ จังหวัด เป็นจังหวัด ในภาคตะวันออก ๕ จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด จังหวัดในภาคกลาง ๔ จังหวัด คือ สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม จังหวัดในภาคตะวันตก ๒ จังหวัด คือ เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดในภาคใต้ ๑๒ จังหวัด คือ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี นราธิวาส สตูล ตรัง กระบี่ พังงา ระนอง และภูเก็ต ความยาวชายฝั่งทะเลของแต่ละจังหวัด โดยไม่นับรวมเกาะต่างๆ ที่อยู่นอกฝั่งของจังหวัดนั้นๆ มีแสดงในตารางต่อไปนี้

            ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๐๒ ถึง พ.ศ. ๒๕๓๘ ประเทศไทยได้มีการประกาศเขตแดนทางทะเล ซึ่งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของกฎหมายทะเล เกี่ยวกับอาณาเขตทางทะเล มาโดยลำดับ ทั้งที่เกี่ยวข้องกับอ่าวประวัติศาสตร์ ในบริเวณอ่าวไทยตอนบน เส้นฐานตรง และน่านน้ำภายใน เขตไหล่ทวีปด้านอ่าวไทย เขตเศรษฐกิจจำเพาะด้านทะเลอันดามัน และเขตต่อเนื่อง ๒๔ ไมล์ทะเล