เล่มที่ 32
เส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศ
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ประเภทของเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศ

เส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศ แบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภท คือ เส้นแบ่งเขตแดนบนบก หรือบนพื้นแผ่นดินประเภทหนึ่ง และเส้นแบ่งเขตแดนทางทะเลอีกประเภทหนึ่ง

๑. เส้นแบ่งเขตแดนบนบก หรือบนพื้นแผ่นดิน (Land Boundary Line)

            หลักนิยมในการแบ่งเส้นเขตแดนระหว่างประเทศบนบกหรือบนพื้นแผ่นดินนั้น คือ ใช้ลักษณะภูมิประเทศ หรือสภาพธรรมชาติ ที่สามารถสังเกตได้ชัดเจน และถือเป็นสิ่งกีดขวางตามธรรมชาติ เช่น ภูเขาหรือทิวเขา แม่น้ำ นอกจากนี้ ทะเลสาบ อ่าว ช่องแคบ ทะเลทราย หนอง และบึง หรือแม้แต่ป่าไม้ ก็นำมาใช้เป็นเส้นแบ่งเขตแดนได้เช่นกัน โดยมีหลักเกณฑ์ตามที่นิยมกันตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น ถ้าเป็นทะเลสาบ ให้ถือเส้นกึ่งกลาง เป็นเส้นแบ่งเขตแดน ส่วนช่องแคบก็ถือหลักเกณฑ์เดียวกับแม่น้ำ สำหรับอ่าว ให้พิจารณาจากขนาดความกว้าง ของปากอ่าว กล่าวคือ ถ้าเป็นอ่าวขนาดเล็กที่มีความกว้างของปากอ่าวไม่เกิน ๖ ไมล์ทะเล ก็ให้อยู่ในอำนาจอธิปไตยของรัฐเจ้าของอ่าว ส่วนอ่าวที่มีความกว้างมากกว่า ๖ ไมล์ทะเล ก็ขึ้นอยู่กับความตกลงระหว่างกัน เว้นแต่จะถือได้ว่า เป็นอ่าวประวัติศาสตร์ที่อยู่ในความครอบครองของรัฐหนึ่งรัฐใดมาเป็นเวลาช้านาน ก็ให้ถือเป็นดินแดนส่วนหนึ่งภายใต้อำนาจอธิปไตยของรัฐนั้น ดังเช่น อ่าวไทยของประเทศไทย เฉพาะส่วนของอ่าวไทยตอนบน ซึ่งเป็นน่านน้ำเหนือเส้นที่ลากเชื่อมต่อระหว่างบ้านแสมสารในตำบลแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี กับบ้านห้วยทรายเหนือ ตำบลหินเหล็กไฟ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่เรียกกันว่า อ่าวรูปตัว "ก" ถือเป็นอ่าวประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันเป็นสากล


๒. เส้นแบ่งเขตแดนทางทะเล (Maritime Boundary Line)

            ตามหลักนิยมแล้วใช้วิธีการทางเรขาคณิต โดยอาศัยละติจูดและลองจิจูดเป็นหลักสำคัญ เพราะในทะเล เป็นพื้นที่ที่ไม่มีลักษณะทางธรรมชาติที่สังเกตได้ชัดเจน จึงต้องอาศัยหลักการทางเรขาคณิตดังกล่าว อย่างไรก็ดี อาณาเขตทางทะเลนับว่า มีความสำคัญต่อรัฐหรือประเทศเจ้าของชายฝั่งไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า อาณาเขตส่วนที่เป็นพื้นแผ่นดิน ทั้งนี้ เนื่องจากทะเลเป็นแหล่งที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต และมีความสำคัญต่อรัฐหรือประเทศชายฝั่งในด้านการเดินเรือ ด้านความมั่นคง และด้านการค้นคว้าการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ อีกนานัปการ