เล่มที่ 32
เส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศ
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ปัญหาเกี่ยวกับเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน

๑. สาเหตุของปัญหา

            ในปัจจุบันยังคงมีปัญหาที่เกิดจากเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศอยู่หลายด้าน ที่ทำให้เกิดเป็นข้อโต้เถียง หรือข้อขัดแย้งกัน ตามบริเวณชายแดนของไทย และเพื่อนบ้าน ซึ่งอาจสรุปสาเหตุสำคัญของปัญหาได้ ดังนี้


หลักเขตแดนเดิมระหว่างไทย - กัมพูชา บริเวณจังหวัดสระแก้ว

            ก. เกิดจากหลักเขตแดนถูกทำลายหรือชำรุดสูญเสียโดยการกระทำของมนุษย์ สัตว์ หรือเสียหายไปตามธรรมชาติ ทำให้ไม่สามารถทราบได้ว่า เส้นแบ่งเขตแดนที่ถูกต้อง แน่นอนอยู่ ณ ตำแหน่งใดในภูมิประเทศ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เกิดการรุกล้ำเขตแดนกันได้โดยง่าย

            ข. ระยะระหว่างหลักเขตแดนแต่ละหลักที่ได้ปักกันไว้แต่เดิม ห่างกันมากเกินไป บางหลักห่างกันหลายกิโลเมตร เช่น ระหว่างหลักเขตแดนที่ ๔๔ - ๔๘ ในเขตอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว และหลักเขตแดนบางจุด มีการตกลงให้ใช้เส้นตรง ทำให้ไม่สามารถทราบได้โดยชัดเจนว่า เส้นแบ่งเขตแดนทอดตัวไปตามแนวใดในภูมิประเทศ ประกอบกับหลักเขตแดน ที่ได้ปักปันกันไว้ในอดีตนั้น ส่วนใหญ่ไม่มีค่าพิกัดภูมิศาสตร์กำกับไว้ เมื่อเกิดการสูญหาย หรือชำรุดไป ก็ทำให้ไม่สามารถจัดทำ หรือปักหลักเขตแดนใหม่ได้ถูกต้อง ตามตำแหน่งที่ปักปันกันไว้แต่ดั้งเดิม


ภาพถ่ายทางอากาศแสดงให้เห็นสันดอนทรายในแม่น้ำโขง และแนวเส้นแบ่งเขตแดนไทย - ลาว

            ค. การตกลงทำหนังสือสัญญา และอนุสัญญาว่าด้วยเขตแดน ระหว่างไทยกับชาติมหาอำนาจในอดีตที่ผ่านมา ได้แก่ อังกฤษ และฝรั่งเศส ทำให้ไทยต้องเสียเปรียบ และต้องตกอยู่ในภาวะจำยอม ทั้งๆ ที่ข้อตกลงว่าด้วยเขตแดนนั้นๆ ไม่เป็นธรรม ดังเช่น แนวเขตแดนตามลำแม่น้ำโขง ระหว่างสยามกับลาวของฝรั่งเศสในอดีต ที่ระบุว่า "ตามลำน้ำโขงในตอนที่แยกออกมาเป็นหลายสาย เพราะเกาะหรือดอนนั้น ให้ถือร่องน้ำชิดฝั่งสยามที่สุด เป็นเส้นแบ่งเขตแดน ระหว่างกรุงสยามกับอินโดจีนของฝรั่งเศส โดยไม่คำนึงถึงร่องน้ำลึกที่สุด" จึงทำให้เกาะหรือดอนทุกแห่งเป็นของลาว ยกเว้นเกาะ ๘ เกาะ ที่ระบุไว้ในหนังสือสัญญาว่าเป็นของไทย


แผนที่ซึ่งคณะข้าหลวงปักปันเขตแดนสยาม - ฝรั่งเศส พ.ศ. ๒๔๔๗ และ พ.ศ. ๒๔๕๒ แสดงที่ตั้งของเขาพระวิหาร (ในวงกลม) ในเขตของเขมร ทั้งๆ ที่อยู่ในแนวสันปันน้ำของไทย

            ง. แผนที่ที่ใช้ประกอบการพิจารณาในเรื่องของเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศ ที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน ล้วนเป็นผลผลิตของประเทศมหาอำนาจ ในสมัยที่ทำข้อตกลงเรื่องแนวเขตแดนในอดีตทั้งสิ้น ดังนั้น บางครั้งการกำหนดแนวเขตแดนในหนังสือสัญญา และอนุสัญญาว่าด้วยเขตแดน มีความขัดแย้งในระหว่างข้อความ ในหนังสือดังกล่าว กับตำแหน่งของเส้นแบ่งเขตแดน ที่ปรากฏในแผนที่ ที่คณะกรรมการปักปันเขตแดนได้จัดทำขึ้น ดังเช่น กรณีปราสาทเขาพระวิหาร ซึ่งไทยต้องสูญเสียไปให้แก่กัมพูชา จากผลการตัดสินของศาลโลก เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งพิจารณาให้น้ำหนักกับแผนที่ ที่ทางฝ่ายฝรั่งเศสเป็นผู้จัดทำขึ้นไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๗


การกำหนดแนวเขตแดนบริเวณเขาพระวิหาร จากผลการตัดสินของศาลโลก เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๕

๒. กรณีของปัญหา

            กรณีปัญหาเกี่ยวกับเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ในปัจจุบันมีอยู่หลายจุด ถึงแม้จะไม่รุนแรงนัก แต่ก็ควรมีการแก้ไขปัญหาให้หมดไปโดยเร็ว ปัญหาที่สำคัญได้แก่ ปัญหาตามแนวเขตแดนไทยกับกัมพูชา ซึ่งหลักเขตแดนที่ได้มีการปักปันกันไว้ สมัยที่ฝรั่งเศสปกครองกัมพูชา ปรากฏว่า หลักเขตแดนบางแห่งได้ถูกทำลาย สูญหาย หรือชำรุด และบางจุดก็ถูกโยกย้ายจนไม่สามารถหาแนวเส้นแบ่งเขตแดน ที่ถูกต้องกันได้ในภูมิประเทศ อีกทั้งบางส่วนของแนวเขตแดน ยังไม่เคยมีการปักปันเขตแดนกันเลยก็มี โดยเฉพาะตั้งแต่ช่องบก ที่จังหวัดอุบลราชธานี จนถึงช่องเกล (สะงำ) ที่จังหวัดสุรินทร์ ทางด้านไทย - ลาว ก็มีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับเส้นแบ่งเขตแดนตามลำแม่น้ำโขง และปัญหาเกี่ยวกับ บ้านร่มเกล้า หรือบริเวณต้นน้ำเหืองที่อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก ด้านไทย - พม่า มีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับเส้นแบ่งเขตแดนที่บริเวณด่านเจดีย์สามองค์ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี และปัญหาเกี่ยวกับเกาะ ๓ เกาะคือ เกาะคัน เกาะขี้นก และเกาะหลาม ที่ตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำกระบุรี จังหวัดระนอง ว่าอยู่ในเขตไทย หรือเขตพม่า ส่วนปัญหาด้านไทย - มาเลเซีย มีที่สำคัญ คือ ปัญหาหลักเขตแดนที่ ๖๙ - ๗๒ บริเวณต้นน้ำของแม่น้ำโก-ลก ว่ามีตำแหน่งถูกต้อง ตามที่ระบุไว้ในสนธิสัญญาหรือไม่


            นอกจากปัญหาเส้นแบ่งเขตแดนทางบก ระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ดังกล่าวมาแล้ว แนวเขตแดนทางทะเล ก็มีปัญหาการทับซ้อน ของเส้นแบ่งเขตไหล่ทวีปในอ่าวไทย ระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชา ประเทศเวียดนาม และประเทศมาเลเซีย ในปัจจุบันได้มีการเจรจา เพื่อกำหนดเส้นแบ่งเขตแดนที่แน่นอนและชัดเจน ระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชา และกับประเทศเวียดนาม ส่วนกับประเทศมาเลเซียนั้น ได้มีข้อตกลงยินยอมให้ประเทศคู่กรณี ใช้ประโยชน์จากทรัพยากร ที่มีอยู่ในเขตทับซ้อนร่วมกันได้ ดังเช่น การขุดก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ส่วนที่เป็นเขตทับซ้อนระหว่างประเทศไทยกับประเทศมาเลเซีย

            ปัญหาข้อขัดแย้งในเรื่องเส้นแบ่งเขตแดน ระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้รับการพิจารณาแก้ไขมาโดยตลอด บางอย่างก็แก้ไขได้สำเร็จลุล่วงไปแล้ว แต่บางอย่างยังคงต้องมีการเจรจากันต่อไป ความสำเร็จของการเจรจา ขึ้นอยู่กับสัมพันธไมตรีที่ดีระหว่างประเทศคู่กรณี รวมทั้งการผ่อนปรนในเรื่องข้อเรียกร้องต่างๆ อย่างเป็นธรรม เพื่อให้บรรลุถึงข้อตกลงกันได้ด้วยความพอใจของทั้ง ๒ ฝ่าย