เล่มที่ 28
ตลาด
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
สมัยรัตนโกสินทร์

            ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น การค้าขายไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะแต่ในตลาดหรือย่านตลาดเท่านั้น แต่ยังมีพ่อค้าเร่ หรือพ่อค้าคนกลาง นำสินค้าไปขายยังท้องถิ่นที่ห่างไกลจากตลาด ซึ่งชาวจีนเป็นผู้ริเริ่มการค้าขายในลักษณะนี้ ก่อนชนชาติอื่น ชาวจีนเหล่านี้เข้ามาตั้งหลักแหล่งในเมืองไทย และยึดอาชีพค้าขาย โดยนำสินค้าหลากหลายประเภท เช่น สุรา ฝิ่น ขนมจันอับ ผัก ผลไม้ ของชำต่างๆ เช่น เกลือ หอม กระเทียม หมากพลู กะปิ น้ำตาล เคียว มีด น้ำมันก๊าด ก๋วยเตี๋ยว เนื้อหมู และเสื้อผ้า ไปขายยังหมู่บ้านต่างๆ ส่วนใหญ่แล้วจะไปทางเรือ เพราะขนส่งสินค้าได้เป็นจำนวนมาก เปรียบเหมือนตลาดเคลื่อนที่ เมื่อพายเรือผ่านบ้านใดก็มักจะส่งสัญญาณ เช่น บีบแตร หรือเป่าเขาควาย เพื่อบอกให้รู้ว่า ได้นำสินค้ามาขายแล้ว


ตลาดน้ำวัดไทรในช่วงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นช่วงระยะเวลาที่ไทยเริ่มติดต่อค้าขายกับประเทศตะวันตก ชาวตะวันตก หรือที่เราเรียกว่า “ฝรั่ง” เริ่มเข้ามาตั้งรกรากในเมืองไทย โดยส่วนใหญ่เป็นพวกพ่อค้า ร้านค้าแห่งแรกของพ่อค้าชาวตะวันตกในเมืองไทย คือ ห้างฮันเตอร์และเฮย์ ของนายฮันเตอร์ พ่อค้าชาวอังกฤษ ซึ่งขายสินค้าที่เป็นที่ต้องการของชาวตะวันตก ห้างนี้ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี ตลาดของชาวตะวันตก ในระยะนั้น จึงเป็นร้านค้าที่เรียกว่า “ห้าง” ซึ่งในเวลาต่อมา ก็เกิดขึ้นอีกหลายห้าง เช่น ห้างบอมเบย์ ห้างมัทราส


บริเวณชุมชนและร้านค้าในบริเวณถนนเยาวราชในอดีต

            ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นนี้ ไทยยังคงมีสงครามกับดินแดนใกล้เคียงอยู่บ้าง และทุกครั้งที่ฝ่ายไทยชนะศึกสงคราม ก็มักจะกวาดต้อนผู้คนจากเมืองต่างๆ ที่ตีได้ เช่น คนลาว คนเขมร คนญวน ให้มาตั้งหลักแหล่งในกรุงเทพฯ และตามหัวเมืองต่างๆ เชลยที่ถูกกวาดต้อนมานี้ จะอาศัยรวมกันเป็นหมู่เหล่า ตามเชื้อชาติของตน จึงเกิดชุมชนลาว ชุมชนแขก ชุมชนมอญ และชุมชนเขมรขึ้น รวมทั้งชุมชนของชาวจีนที่เข้ามาค้าขาย และตั้งถิ่นฐานในกรุงเทพฯ แต่ละชุมชนต่างก็มีตลาดในชุมชนของตน โดยเรียกขานชื่อตลาดไปตามสัญชาติเป็นย่านๆ ไป เช่น

  • ตลาดแขก อยู่บริเวณถนนตานี ถนนจักรพรรดิพงษ์ ถนนสาทร ถนนอิสรภาพ
  • ตลาดญวน อยู่บริเวณถนนสามเสน บางโพ
  • ตลาดมอญ อยู่บริเวณปากเกร็ด สามโคก
  • ตลาดจีน อยู่บริเวณสำเพ็ง เยาวราช ตลาดน้อย

            ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการสร้างถนนและขุดคลองขึ้นหลายสาย ในกรุงเทพฯ เมื่อถนนตัดผ่านสถานที่ใด ก็ย่อมเกิดชุมชน และความเจริญขึ้น ถนนที่สำคัญคือ ถนนเจริญกรุง ซึ่งถือว่า เป็นถนนที่ใหญ่และยาวที่สุดในสมัยนั้น อีกทั้งเป็นถนน ที่ชาวตะวันตกนิยมตั้งบ้านเรือนพักอาศัยอยู่เป็นส่วนมาก จึงเป็นที่ตั้งของตลาดบางรัก ซึ่งเป็นแหล่งขายอาหารขนาดใหญ่ และมีความสำคัญ สำหรับชาวตะวันตกในสมัยรัชกาลที่ ๕ ส่วนถนนสายอื่นๆ เช่น ถนนบำรุงเมือง พาหุรัด สี่พระยา เยาวราช ก็มีย่านการค้าของชาวตะวันตก และชาวจีนด้วยเช่นกัน ห้างของฝรั่ง เช่น ห้างแบดแมนแอนด์โก ตั้งอยู่บนถนนบำรุงเมือง ห้างบัตเลอร์ตั้งอยู่บนถนนเฟื่องนคร ห้างโฮวาร์ดเอสกินตั้งอยู่บนถนนพาหุรัด ห้างเฟรเซอร์แอนด์นีฟตั้งอยู่บนถนนสี่พระยา ส่วนห้างของชาวจีน ได้แก่ ห้างดีเซียงแอนด์ซัน ห้างฮุนชุยโห ห้างย่งหลีเส็ง ห้างเหล่านี้ ส่วนใหญ่จำหน่ายสินค้าจำพวกสุรา ยารักษาโรค และพืชไร่ ที่ต้องสั่งเข้ามาจากต่างประเทศ