เล่มที่ 28
ตลาด
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
สมัยอยุธยา

            ในสมัยอยุธยา ตลาดยังอยู่ตามชุมชนเช่นเดิม แต่รูปแบบของตลาดมีเพิ่มมากขึ้นคือ มีทั้งตลาดบก ตลาดน้ำ และตลาดนัด นอกจากนี้ ยังเกิดย่านตลาด ซึ่งหมายถึง สถานที่ หรือทำเล ที่มีการค้าขาย ทั้งแบบถาวร และแบบชั่วคราว คือ มีทั้งการค้าขายทั้งวัน ตั้งแต่เช้าจรดเย็น และตลาดที่ขายเฉพาะช่วงเช้าหรือเย็นเท่านั้น นอกจากนี้ ในย่านตลาด ยังมีการสร้างโรงเรือน ที่ใช้เป็นสถานที่ ค้าขาย และพักอาศัยด้วย ย่านตลาดนี้ มักตั้งอยู่ในที่ที่มีการคมนาคมติดต่อสื่อสารสะดวก ร้านค้าในย่านตลาด จะขายสินค้าต่างๆ กันไป ทำให้เกิดสังคม ที่มีลักษณะการอยู่ร่วมกันอย่างพึ่งพาอาศัย ย่านตลาดนี้ มีทั้งที่เป็นตลาดบก และตลาดน้ำ ย่านตลาดบก ที่สำคัญในสมัยอยุธยา เช่น ย่านป่าขนม เป็นแหล่งทำขนมขาย มีขนมกรุบ ขนมพิมพ์ถั่ว ขนมสำปันนี ย่านป่าเตียบ เป็นแหล่งทำตะลุ่ม ตะลุ่มกระจก ตะลุ่มมุก ตะลุ่มเขียนทอง พานกำมะลอ และพานหมาก ย่านป่าถ่าน ขายผลไม้ ตั้งแต่ช่วงเช้าถึงเย็น ตลาดตีทอง ขายทองคำเปลว ตลาดป่าชมภู ขายผ้า ตลาดแฝด ขายเครื่องใช้ภายในครัวเรือน ไหมลาว และไหมเขมร ตลาดน้อยตรงข้ามวัดพนัญเชิง ขายไก่และเป็ด


ตลาดน้ำในสมัยอยุธยา 

            สำหรับตลาดน้ำ หรือตลาดที่ค้าขายในน้ำ ที่ใช้เรือแพเป็นพาหนะต่างร้านค้า ก็เริ่มมีมากขึ้น ในสมัยอยุธยา ในสมัยนี้มีตลาดน้ำหลายแห่ง เนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์ของกรุงศรีอยุธยา เป็นเกาะ ล้อมรอบด้วยแม่น้ำ การคมนาคมจึงต้องอาศัยทางน้ำเป็นสำคัญ แหล่งชุมชน และบ้านเรือนที่อยู่อาศัย มักอยู่ริมแม่น้ำ การค้าขายจึงต้องอาศัยทางน้ำด้วยเช่นกัน ตลาดน้ำ ในสมัยอยุธยาที่ปรากฏในพงศาวดาร ได้แก่ ตลาดบางกะจะหน้าป้อมเพชร ตลาดปากคลองคูจามใกล้วัดพุทไธศวรรย์ ตลาดคูไม้ร้องริมคลองเมืองฝั่งเหนือ และตลาดคลองวังเดิม ส่วนตลาดนัดซึ่งจัดให้มีขึ้นเฉพาะวันที่กำหนด ก็คงมีอยู่ด้วยเช่นกัน