ตลาดบก
ตลาดบก คือ ตลาดที่มีแหล่งทำเล หรือที่ค้าขายอยู่บนบก ขนาดของตลาดขึ้นอยู่กับชุมชน หรือสถานที่ที่ตลาดนั้นตั้งอยู่ รวมไปถึงประเภทของสินค้าที่นำมาขาย ตลาดบกที่มีขนาดใหญ่ และเป็นตลาดบกแห่งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์คือ ตลาดสำเพ็ง ซึ่งเป็นทั้งชุมชน และย่านธุรกิจการค้า

เยาวราช แหล่งค้าขายทองรูปพรรณ และสินค้านานาชนิดจากจีน
ชาวจีนที่ตั้งรกรากอยู่ในย่านสำเพ็งนี้ แต่เดิมเคยอาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณท่าเตียน และพื้นที่ใกล้เคียงมาก่อน เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเป็นราชธานี เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ และมีพระราชประสงค์ ที่จะสร้างพระบรมมหาราชวัง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชาวจีนเหล่านั้น ย้ายนิวาสสถานไปอยู่ที่สำเพ็ง ซึ่งอยู่นอกเขตกำแพงพระนครทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ สำเพ็งจึงกลายเป็นแหล่งรวมของคนจีน ซึ่งมีอาชีพค้าขายเป็นหลัก และกลายเป็นย่านตลาดใหญ่ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของสินค้า ที่นำเข้าจากประเทศจีน
ตลาดท่าเตียน
ความเจริญเติบโตทางด้านการค้าของสำเพ็ง เห็นเด่นชัด ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อมีการตัดถนนหลายสายผ่านบริเวณสำเพ็ง พื้นที่ของตลาดสำเพ็งจึงขยายไปอย่างรวดเร็ว ตามแนวถนนที่ตัดขึ้นใหม่ และเกิดร้านค้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของชาวจีน ทั้งสองฟากถนน ขายสินค้าหลากหลายชนิด ตั้งแต่ของเล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงเครื่องมือเครื่องใช้ขนาดใหญ่ สำเพ็ง จึงเป็นตลาดที่ขายสินค้า ทั้งแบบขายปลีก และขายส่ง ตลาดที่สำคัญในย่านนี้คือ ตลาดเก่า ที่มีทั้งอาหารสด และอาหารแห้งครบครัน
ถนนหลายสายที่เกิดขึ้นจากการตัดถนน ในสมัยรัชกาลที่ ๕ นี้ ทำให้ความเจริญทางด้านธุรกิจขยายตัวตามไปด้วย และเกิดศูนย์การค้าเพิ่มขึ้นอีกหลายแห่ง ในระยะต่อมา ที่สำคัญคือ
ร้านขายเครื่องสังฆภัณฑ์บริเวณเสาชิงช้าในอดีต
๑. บริเวณถนนเยาวราช เป็นแหล่งสรรพสินค้าชั้นนำในอดีต สินค้าส่วนใหญ่มาจากประเทศจีน เช่น ผลไม้ทั้งสดและแห้ง ผ้าแพรพรรณ ใบชา ยาจีน นอกจากนี้ยัง มีภัตตาคาร ห้างขายทองรูปพรรณ และสถานเริงรมย์
๒. บริเวณถนนพาหุรัด เป็นย่านขายผ้า และเครื่องแต่งกาย ส่วนใหญ่เป็นร้านของชาวอินเดียและปากีสถาน
๓. บริเวณถนนบางรัก เป็นย่านการค้าขายของชาวตะวันตก มีตลาดบางรักเป็นตลาดใหญ่ของบริเวณนี้
๔. บริเวณถนนบางลำพู เป็นย่านขายสินค้าพื้นเมืองของไทย ตลาดที่สำคัญคือ ตลาดยอดพิมานหรือตลาดยอด
นอกจากนี้ ยังมีแหล่งขายเครื่องสังฆภัณฑ์ ซึ่งอยู่บริเวณเสาชิงช้าบนถนนบำรุงเมือง ที่เป็นศูนย์รวมของเครื่องใช้ของสงฆ์ และของใช้ในกิจการทางศาสนาแหล่งใหญ่ของกรุงเทพฯ
ตลาดบกอีกแห่งหนึ่งที่มีความสำคัญมาตั้งแต่ครั้งกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นคือ ตลาดท่าเตียน ที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งพระนคร ในระยะแรกคงเป็นการค้าขายในลักษณะตลาดน้ำ เพราะมีทำเลใกล้น้ำ เดิมเรียกว่า “ตลาดท้องน้ำ” ต่อมาเมื่อบ้านเมืองมีการพัฒนา และมีการสร้างถนนหนทางเพิ่มมากขึ้น ตลาดท่าเตียนจึงกลายเป็นตลาดใหญ่ที่สุด ที่ค้าขายติดต่อกับตลาดทางน้ำ และเป็นศูนย์กลางของการขายส่งไปยังหัวเมืองตามลุ่มแม่น้ำท่าจีน แม่น้ำเจ้าพระยา และหัวเมืองทางภาคเหนือ โดยมีตลาดทรงวาด เป็นศูนย์กลางการค้าส่งให้แก่หัวเมืองทางภาคใต้ และภาคตะวันออก ต่อมาเมื่อการคมนาคมทางบกเจริญมากขึ้น จนการคมนาคมทางน้ำลดบทบาทลง ตลาดท่าเตียนก็ลดบทบาทลงด้วยเช่นกัน แต่ยังเป็นแหล่งขายสินค้าจำพวกของชำ และของแห้งจากทะเลเป็นส่วนใหญ่
สำหรับตลาดบกที่มีขนาดใหญ่รองลงมา และเป็นแหล่งผลิตสินค้าด้วยนั้น ที่สำคัญได้แก่ ตลาดบ้านหม้อ (ทำหม้อขาย) บ้านพานถม บ้านบาตร บ้านดอกไม้ (ทำดอกไม้ไฟ พลุ และตะไล) บ้านดินสอ (ทำดินสอพอง) บ้านนางเลิ้ง (ทำโอ่ง) บ้านทำกระดาษ บ้านบุ (ทำขันน้ำ) บ้านช่างหล่อ บ้านขมิ้น (ทำผงขมิ้น) บ้านตีทอง ตลาดพลู นอกจากนี้ ในอดีตยังมีตลาดขายอาหารเป็นประเภทๆ ไป เช่น ตลาดบนเชิงสะพานหันขายหมูและผัก ตลาดเจ้าสัวเนียม หรือตลาดพระยาไพบูลย์ ตลาดกรมภูธเรศ วัดเกาะ และตลาดน้อย ตลาดเหล่านี้ขายอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ เช่น เป็ด ไก่ หมู ของสดต่างๆ ส่วนตลาดที่ขายพวกผักผลไม้ ได้แก่ ตลาดท้ายวัง ตลาดยอด ตลาดหัวลำโพง ตลาดบ้านทวาย ตลาดบ้านขมิ้น ตลาดคลองมอญ ในปัจจุบัน ตลาดบกที่ยังคงรักษาหน้าที่และบทบาทได้ใกล้เคียงกับในอดีตคือ ตลาดบางรัก และตลาดเก่าในย่านสำเพ็ง