เล่มที่ 26
นิทานพื้นบ้านไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
นิทานอธิบายสาเหตุ

            นิทานอธิบายสาเหตุของไทยมีเล่ากันในทุกถิ่น ส่วนมากเป็นนิทานขนาดสั้น อธิบายที่มาของสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะที่มาของรูปลักษณะของคน สัตว์ และพืช นิทานประเภทนี้เป็นนิทานที่เล่าถึงสาเหตุที่คน สัตว์ และพืชมีรูปร่างลักษณะ สีสัน หรือส่วนประกอบต่างๆ ที่มาของชื่อสัตว์บางชนิด ตลอดจนสาเหตุที่สัตว์บางชนิดเป็นศัตรูกัน นิทานประเภทนี้หลายเรื่องเกี่ยวโยงไปถึงความเชื่อว่า พระอินทร์ หรือพระพุทธเจ้าเป็นผู้สร้าง หรือบันดาลให้เกิดสิ่งต่างๆ และเป็นผู้ตั้งชื่อให้สัตว์ต่างๆ ด้วย

            ในนิทานจากบ้านในชลบุรี มีนิทานอธิบายสาเหตุ ที่มีเนื้อเรื่องเกี่ยวโยงไปถึงพระอินทร์อยู่หลายเรื่อง เช่น นิทานที่พยายามอธิบายถึงสาเหตุ ที่ไก่อูไก่แจ้ขัน และเป็ดมีเสียงร้องเช่นทุกวันนี้ เหตุที่ควายไม่มีฟันบน เหตุที่มดตะนอยมีเอวคอดกิ่ว เหตุที่คนตบยุง และเหตุที่งูเหลือมไม่มีพิษ

            เหตุที่ควายไม่มีฟันบนนี้ ตามเรื่องเล่าว่า เป็นเพราะควายชอบโต้เถียงคน เวลาถูกคนใช้งาน นอกจากจะไม่ยอมทำตามคำสั่งแล้ว ยังด่าคนอีกด้วย พระอินทร์เห็นว่า ถ้าปล่อยไว้เช่นนี้ จะทำความลำบากให้แก่คน จึงตบให้ฟันบนของควายหลุดไป ตั้งแต่นั้นมา ควายจึงไม่มีฟันบนและพูดไม่ได้



            เหตุที่งูเหลือมไม่มีพิษ เป็นเพราะพระอินทร์เห็นว่า ถ้าให้งูเหลือมมีพิษมาก จะไม่ดี ต่อมาแมงป่อง และงูจงอางไปขอแบ่งพิษจากงูเหลือมบ้าง งูเหลือมก็ยกให้ไปจนหมด ตั้งแต่นั้นมางูเหลือมจึงไม่มีพิษ กัดคนไม่ตาย ฝ่ายมดตะนอยก็ไปขอแบ่งพิษจากงูเหลือมบ้าง โดยไปยืนเท้าสะเอว จึงทำให้เอวคอดกิ่วไป

            ส่วนสาเหตุที่คนตบยุงนั้น เรื่องเล่าว่า เดิมพระอินทร์มอบสิ่วให้ยุงเอาไว้ใช้เจาะกินเลือดคน ยุงจึงมีสิ่วอยู่ที่หัว เวลาจะกินเลือด ยุงต้องออกแรงใช้หัวกดผิวหนังคน จึงจะเจาะกินเลือดได้ ทำให้ยุงไม่พอใจ บินไปขอค้อนมาไว้ตอกสิ่ว พระอินทร์โมโหจึงบอกว่า ค้อนอยู่ที่คนแล้ว เอาหัวเจาะเข้าไปเถอะ แล้วคนจะใช้ค้อนตอกให้เอง ตั้งแต่นั้นมาพอยุงกัด คนก็จะตบทันที

            นิทานจากตำบลรังกาใหญ่ อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา เล่าถึงสาเหตุที่เต่ามีกระดองเป็นลวดลายเช่นนี้ว่า เดิมทีเต่าและกระรอกเป็นเพื่อนกัน วันหนึ่งเมียของกระรอกปวดท้อง จะออกลูก กระรอกได้ไปขอให้เต่ามาช่วยดูแล เต่าขึ้นต้นไม้ไม่ได้ ต้องใช้ปากกัดหางกระรอกไว้ แล้วให้กระรอกปีนขึ้นไป เมื่อกระรอกปีนขึ้นต้นไม้เกือบจะถึงรัง เมียของกระรอกเห็นเต่าก็ร้องทัก เต่าได้ยิน ก็อ้าปากจะพูดตอบ จึงตกลงไปยังพื้นดิน ตัวแตกเป็นชิ้นๆ กลายเป็นสิ่งต่างๆ เช่น เนื้อส่วนหนึ่งก็ไปติดอยู่กับท้ายทอยของคนเรียกกันว่า ก้นเต่า หรือหางเต่า อีกส่วนหนึ่งตกลงไปในน้ำ กลายเป็นผักตับเต่า พระอินทร์รู้สึกสงสารเต่า จึงช่วยหยิบเต่า ตัวที่แตกแล้ว มาต่อกันใหม่ ตั้งแต่นั้นมากระดองเต่าจึงมีลวดลายดังเช่นทุกวันนี้



            เหตุที่อีกามีสีดำก็มีนิทานเล่าว่า เดิมอีกากับนกยูงเป็นเพื่อนกัน ทั้งสองผลัดกันเขียนลายให้แก่กัน กาเขียนลวดลายอย่างสวยงามให้นกยูงเสร็จแล้ว นกยูงลงรักให้กา แต่ยังไม่ได้เขียนลวดลายให้ เพราะการีบบินไปกินหมาเน่า ตั้งแต่นั้นมากาจึงมีสีดำ



            นิทานที่อธิบายความเป็นศัตรูกันของสัตว์บางชนิด ก็มีหลายเรื่อง เช่น เรื่องของตุ๊กแกกับงูเขียว แมวกับหนู แมวกับเสือ ฯลฯ นิทานอีสานเล่าถึงสาเหตุที่ตุ๊กแกกับงูเขียว เป็นศัตรูกันว่า มีที่มาจากเรื่องราวของแม่ผัวกับลูกสะใภ้ ทะเลาะวิวาทกัน และตบตีกันจนบาดเจ็บ จึงอาฆาตพยาบาทกัน ถึงกับตั้งสัจอธิษฐานว่า จะขอตามไปล้างผลาญกันในชาติต่อไป เมื่อแม่ผัวตาย ก็ไปเกิดเป็นตุ๊กแก ลูกสะใภ้ตายไปเกิดเป็นงูเขียว พองูเขียวออกไข่ ตุ๊กแกก็ไปแอบกินไข่งูเขียวจนหมด พอตุ๊กแกร้อง งูเขียวก็เข้าไปล้วงกินตับตุ๊กแก สัตว์ทั้ง ๒ ชนิดนี้ จึงเป็นศัตรูกัน จนถึงทุกวันนี้