เล่มที่ 26
นิทานพื้นบ้านไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
นิทานมุขตลก

            นิทานมุขตลกที่นิยมเล่ากันในสังคมไทยมีอยู่เป็นจำนวนมาก อาจแบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ เรื่องที่มีลักษณะหยาบโลน และเรื่องที่ไม่หยาบโลน



เรื่องที่มีลักษณะหยาบโลน

            ได้แก่ เรื่องเกี่ยวกับพรหมจรรย์กับราคะวิตถาร ในมุขตลกของไทย ผู้ที่ตกเป็นเป้าของการล้อเลียนในเรื่องนี้ส่วนใหญ่คือ ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ได้แก่ พระภิกษุและชี รวมทั้งผู้ที่เคยบวชเรียนนานๆ แล้วสึก และในบรรดาเครือญาติด้วยกัน ซึ่งสังคมไม่ยอมรับ ได้แก่ ลูกเขยกับแม่ยาย พี่เขยกับน้อยเมีย และพ่อผัวกับลูกสะใภ้

เรื่องที่ไม่หยาบโลน

            ได้แก่ เรื่องที่มีแนวคิดเกี่ยวกับความฉลาด ความโง่ ความเกียจคร้าน เรื่องเกี่ยวกับคนต่างชาติต่างถิ่น

                  

แนวคิดสำคัญที่ปรากฏบ่อยในมุขตลกของไทยมี ๗ ประการคือ ความฉลาด ความโง่ ความเกียจคร้าน เรื่องเพศ คนพิการ ผู้มีสถานะสูงในสังคม และคนต่างถิ่น หรือต่างชาติ

ความฉลาด

            ความฉลาดเป็นแนวคิดที่พบบ่อยมากในมุขตลกของไทย ตัวละครเอกเป็นคนฉลาดมีไหวพริบดี บางทีก็ฉลาดแกมโกง มักใช้ความฉลาด และไหวพริบ เพื่อประโยชน์ของตน เช่น แก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อเอาตัวรอด เพื่อให้ตนได้ประโยชน์ หรือทำความเดือดร้อนรำคาญใจให้แก่ผู้อื่น มุขตลกของไทยที่มีแนวคิดเกี่ยวกับความฉลาด มีไหวพริบ คือ เรื่องศรีธนญชัย

ความโง่หรือเปิ่น

            มุขตลกที่มีแนวคิดเกี่ยวกับความโง่ หรือความเปิ่นนี้ มักเล่าถึงพฤติกรรมของคนโง่ ซึ่งขาดสติปัญญา หรือขาดความรู้ขาดประสบการณ์ ไม่ทันสมัย หรือเป็นคนเถรตรงเกินไป จนทำอะไรเปิ่นอย่างคาดไม่ถึง ตัวละครอาจเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ได้ มุขตลกบางเรื่องแสดงแนวคิดเกี่ยวกับความฉลาด ควบคู่กับความโง่เขลา คือ ตัวละครเด่นที่มีลักษณะตรงกันข้าม คนหนึ่งเฉลียวฉลาด แต่อีกคนหนึ่งโง่

            ตัวอย่างมุขตลกที่มีแนวคิดเกี่ยวกับความโง่ เช่น เรื่องเปาะเนกับเมาะเน ของทางภาคใต้ ที่เล่าว่า

            เปาะเนกับเมาะเนเป็นชื่อของสามีภรรยาคู่หนึ่ง คำว่า เปาะ ในภาษามลายู แปลว่า พ่อ เมาะแปลว่า แม่ ส่วนเนเป็นชื่อของลูกชาย เปาะเน และเมาะเน จึงหมายถึงผู้เป็นพ่อและแม่ของเน เปาะเนเป็นคนเซ่อซ่า ปัญญาทึบ ทำอะไรเปิ่นๆ อยู่เสมอ เมาะเนเป็นคนฉลาดกว่า จึงเป็นผู้จัดการกิจการต่างๆ ภายในบ้าน เรื่องที่เล่าถึงเปาะเนกับเมาะเน มีหลายตอน เช่น ตอนเปาะเนหาพันธุ์ข่าวเปลือก เรื่องเล่าว่า ภรรยาสั่งให้เปาะเนหาข้าวเบามาปลูก เปาะเนได้ข้าวเบามาจากเพื่อนบ้าน แต่เขาไม่รู้จักว่า ข้าวเบาเป็นอย่างไร เขาหอบหิ้วไปถึงสะพาน และหกล้ม ข้าวร่วงลงน้ำทั้งหมด ข้าวที่มีเมล็ดข้าวจมลงไปใต้น้ำ ส่วนข้าวลีบลอยฟ่องอยู่บนผิวน้ำ เปาะเนเข้าใจว่า ข้าวลีบคือ ข้าวเบา ก็รีบช้อนมาให้ภรรยา ส่วนตอนเมาะเนทำบุญแก้บนเล่าว่า เปาะเนอยากเลี้ยงอาหารคนที่มีธรรมะ แต่ไม่ทราบว่า คนที่มีธรรมะนั้น มีลักษณะอย่างไร เมาะเนจึงให้ข้อสังเกตว่า คนที่มีธรรมะคือ คนที่ใส่หมวกขาว หรือโพกผ้าสะระบั่นสีขาว มีเครายาวๆ เปาะเนออกไปเดินหา เขาพบแพะตัวผู้ตัวหนึ่ง เปาะเนเห็นแพะตัวนั้น มีเครา และบนหัวมีสีขาวด้วย จึงบอกเชิญแพะมากินเลี้ยง สำหรับตอนลูกคนเล็กของเมาะเนตาย แสดงให้เห็นถึงความโง่เขลาเบาปัญญาของเปาะเนดังนี้ เนื่องจากเมาะเนมีธุระออกไปนอกบ้าน จึงให้เปาะเนเลี้ยงลูกแทน เปาะเนไกวเปลลูกแรงมาก จนหัวของลูกชนฝา เมื่อลูกร้องไห้ เปาะเนก็ตรวจหารอยมดกัด แต่เมื่อเห็นหัวลูกโน เปาะเนก็คิดว่า เป็นฝีบนหัว เปาะเนจึงใช้เข็มบ่ง เพื่อให้หนองออก ทำให้ลูกตาย

ความเกียจคร้าน

            มุขตลกที่มีแนวคิดเกี่ยวกับความเกียจคร้าน มักเป็นเรื่องเกี่ยวกับความโชคดี โดยไม่คาดฝันด้วย เช่น เรื่องไอ้ขี้คร้านตูดเอ่อว มุขตลกจากตำบลรังกาใหญ่ อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา เล่าว่า

            ชายคนหนึ่งเป็นคนขี้เกียจยิ่งนัก จนเรียกกันว่า ไอ้ขี้คร้าน พ่อแม่ใช้ให้ไปจับปลา บังเอิญจับมาได้ ๓ ตัว เมื่อเดินผ่านป่าช้า เห็นไฟที่เผาศพกำลังลุกอยู่ ก็เอาปลาไปย่าง ขณะย่างปลาตัวที่ ๑ อยู่ ก็นั่งหลับ พอตื่นขึ้นมาปลาก็ไหม้หมด จึงย่างปลาตัวที่ ๒ ก็หลับอีก เมื่อตื่นขึ้นมา ปลาก็ไหม้ไฟไปอีก พอปิ้งปลาตัวที่ ๓ จึงใช้ผักเบี้ยถ่างตาเอาไว้ไม่ให้หลับ ไอ้ขี้คร้านมองเห็นมือผีเอื้อมมาจับปลา ก็คว้าไว้ และใช้ไม้ตีผี ผีกลัว จึงให้คาถาที่ทำให้ไอ้ขี้คร้านสามารถมีเสียงแปลกประหลาดดังจากก้นได้ ไอ้ขี้คร้านมีหนทางทำมาหากินได้ โดยรับจ้างเดินไปตามคันนา แล้วใช้เสียงที่ดังจากก้น ไล่นกที่ลงมากินข้าวในนา อาชีพนี้ทำให้ไอ้ขี้คร้านมั่งมีศรีสุขไปได้ในที่สุด

เรื่องเพศ

            มุขตลกเกี่ยวกับเรื่องเพศนั้น มีอยู่ทุกชาติทุกภาษา มุขตลกของไทยที่มีผู้รวบรวมขึ้น ก็เป็นเรื่องทางเพศอยู่ไม่น้อย ปกติมุขตลกทางเพศ มักมีลักษณะหยาบโลน อาจจัดว่า เป็นนิทานของผู้ใหญ่โดยเฉพาะ การเล่ามักเล่าเฉพาะกลุ่ม และเล่าในบางโอกาสเท่านั้น มุขตลกเกี่ยวกับเรื่องเพศของไทยมีเนื้อหาหลายแบบ เช่น เป็นเรื่องทางเพศของบุคคล ซึ่งปกติจะต้องถือพรหมจรรย์อย่างเคร่งครัดเสมอ จะล่วงละเมิดไม่ได้เลย เช่น พระ ชี เป็นต้น อีกแบบเป็นเรื่องความสัมพันธ์ทางเพศระห่างเครือญาติ ซึ่งสังคมไม่ยอมรับ เช่น ลูกเขยกับแม่ยาย พี่เขยกับน้อยเมีย และพ่อสามีกับลูกสะใภ้ เป็นต้น เป็นเรื่องของคนที่ประพฤติวิตถาร เช่น มีความสัมพันธ์ทางเพศกับสัตว์หรือวัตถุสิ่งของ เป็นเรื่องของคนที่ไม่ค่อยจะประสีประสาในเรื่องทางเพศ เช่น ทิด ชี หญิงสาวแรกรุ่น หรือสาวทึนทึก

คนพิการ

            มุขตลกเกี่ยวกับคนพิการของไทย นอกจากเป็นเรื่องของคนหูหนวก คนตาบอดแล้ว ยังมีเรื่องของคนแขนขาพิการ คนปากแหว่ง และคนติดอ่างด้วย

            ในมุขตลกเกี่ยวกับคนหูหนวกของไทย น่าสังเกตว่า เป็นเรื่องของคนหูหนวก หรือหูตึง ประเภทที่ไม่ได้เป็นใบ้ จุดขำขันของเรื่องมักอยู่ที่ปัญหาของการสื่อสาร เช่น เป็นเรื่องของคนหูหนวกหลายคนคุยกัน ต่างก็เข้าใจไปคนละทาง มุขตลกเกี่ยวกับคนตาบอดบางเรื่อง แสดงให้เห็นว่า คนตาบอดฉลาด มีไหวพริบ เมื่อบอกชื่อสิ่งหนึ่งผิดไป ก็จะหาทางแก้เกี้ยวไปจนได้

            มุขตลกบางเรื่องก็เกี่ยวกับคนพิการหลายประเภทด้วยกัน ความขำขันจะอยู่ที่ แต่ละคนพยายามแสดงปมเขื่อง เพื่อลบปมด้อยเกี่ยวกับความพิการของตน เช่น ตัวอย่างมุขตลกเกี่ยวกับคนพิการของภาคอีสาน เรื่อง คนแขนกุด คนขาด้วน คนตาบอด และคนหูหนวก ซึ่งเล่าว่า คนแขนกุด คนขาด้วน คนตาบอด และคนหูหนวกเป็นเพื่อนกัน วันหนึ่งคนขาด้วนทะเลาะกับคนแขนกุด คนแขนกุดขู่ตะคอกว่า "มึงอย่าพูดมาก เดี๋ยวกูเอากำปั้นกระแทกปากนะ" คนขาด้วนก็ตอบว่า "มึงก็เหมือนกันนะแหละ ระวังให้ดี ถ้าไม่อยากโดนหน้าแข้งกู" คนหูหนวกนั่งดูทั้งสองคนทะเลาะกันนานพอสมควร ในที่สุด อดรำคาญใจไม่ได้ ก็พูดว่า "หยุด หยุด อย่าเถียงกัน ถ้าอยากเถียงให้ไปเถียงที่อื่น หนวกหู" คนตาบอดได้ยิน ก็พูดเสริมขึ้นว่า "กูก็ว่างั้นแหละ ไปทะเลาะกันที่อื่นไป๊ กูรำคาญตาว่ะ"

นักบวช

            นักบวชมักเป็นเป้าหมายที่ถูกนำมาล้อเลียนในมุขตลกของแทบทุกชาติ ในมุขตลกของไทย ตัวละครนักบวชที่มีพฤติกรรมขำขันมักไม่ใช่สามเณร แต่เป็นพระและชี มุขตลกดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมต่างๆ ที่ไม่เหมาะสมแก่ฐานะ พระและชีในเรื่องมีลักษณะนิสัย และพฤติกรรมบกพร่องเหมือนฆราวาส หรืออาจจะแย่กว่าฆราวาส พระที่อยู่ในมุขตลกของไทยมักมีลักษณะดังนี้ คือ เกียจคร้าน เช่น ใครมานิมนต์ไปสวดก็ไม่อยากไป ตระหนี่ เช่น ปลูกผักผลไม้เอาไว้ขาย ใครมาขอก็ไม่ให้ หรือมีลักษณะไม่ค่อยฉลาด ขาดไหวพริบ ขาดความยั้งคิด และไม่รู้ทันคน จะเห็นได้จากเรื่อง ศรีธนญชัย ของภาคกลาง กะต๊ำป๋าคำตุ๊ ของภาคเหนือ และ เณรน้อย ของภาคอีสาน พระภิกษุถูกตัวละครที่อายุน้อยกว่าหลอกให้กินขี้หมาบ้าง ใช้มือตบปลาดุกจนถูกเงี่ยงปลาแทงเอาบ้าง ละโมบโลภมากเห็นแก่ได้ เช่น ชอบให้มีคนตายมากๆ จะได้เงินค่าสวดศพ ในมุขตลกเรื่องหนึ่ง พระภิกษุชี้แนะสนับสนุนให้ลูกศิษย์จับเต่ามาต้มยำ เล่นการพนัน และประพฤติผิดพรหมจรรย์กับชีหรือผู้หญิงชาวบ้าน หรือประพฤติวิตถารต่างๆ

คนต่างถิ่นหรือต่างชาติ

            ในมุขตลกของไทยหลายเรื่อง ตัวตลกคือคนต่างชาติ ต่างภาษา โดยทั่วไปความตลกขบขันจะอยู่ที่คำพูด หรือพฤติกรรมที่เปิ่น เพราะขาดความเข้าใจในภาษา และวัฒนธรรม แต่ในมุขตลกบางเรื่อง คนต่างชาติต่างถิ่นก็เป็นตัวตลกขำขัน เพราะเป็นคนโง่เขลาเบาปัญญา จนถูกคนในท้องถิ่นหยอกล้ออย่างแรงๆ คนต่างชาติที่เป็นละครขำขัน ในมุขตลกของไทยบ่อยๆ ได้แก่ คนจีน ซึ่งกระจายกันทำมาหากินทั่วประเทศไทย เมื่อพูดถึงด้านความขยันขันแข็ง และความสามารถในด้านการค้าขายแล้ว กล่าวได้ว่า คนไทยมักสู้คนจีนไม่ได้ ในมุขตลกของไทย คนจีนก็มีลักษณะเช่นนี้ แต่ที่เป็นเรื่องขำขัน ก็เพราะในมุขตลก คนจีนมีลักษณะเคอะเขิน กิริยามารยาทไม่เรียบร้อยนุ่มนวลแบบคนไทย บางครั้งก็ไม่รู้จักกาลเทศะเลย ในมุขตลกเรื่องหนึ่ง คนจีนจะทำบุญบ้าน จึงไปนิมนต์พระภิกษุมาฉันภัตตาหาร เมื่อเข้าไปในวัด พบเณรรูปหนึ่ง ก็เอามือตบศีรษะเณรด้วยความเอ็นดู และนิมนต์เณรให้ไปกับพระภิกษุ โดยบอกเณรว่า "มะรืนนี้ไปกินข้าวบ้านอั๊วนะ ไปกับพ่อลื้อ" เรื่องนี้คนฟังตระหนักดีว่า เป็นเรื่องเกินจริง แต่ก็รู้สึกขบขัน

            มุขตลกของไทยเกี่ยวกับชนชาติฝรั่ง ก็มีหลายเรื่อง ในมุขตลกของภาคเหนือ เรื่องหนึ่งเล่าถึง ฝรั่งอยากปั้นคนโท แต่ปั้นไม่เป็น ซึ่งสะท้อนมุมมองของผู้เล่าว่า แม้ฝรั่งจะเป็นชาติที่มีความเจริญทางเทคโนโลยีสูง แต่ไม่สามารถทำงานฝีมือที่เป็นศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านที่ง่ายๆ ในสายตาของคนท้องถิ่น

            ในแต่ละถิ่นของไทยมักมีมุขตลกเกี่ยวกับคนถิ่นอื่นที่เข้าไปอาศัยอยู่ด้วย เช่น ทางภาคเหนือนอกจากจะมีมุขตลกเกี่ยวกับคนจีนและฝรั่งแล้ว ยังมีมุขตลกเกี่ยวกับคนภาคกลาง ไทยใหญ่ ไทยลื้อ ไทยเขิน และชนกลุ่มน้อยต่างๆ เช่น กะเหรี่ยง ละว้า และขมุ เป็นต้น ในมุขตลกหลายเรื่องมีจุดขำขัน อยู่ที่ปัญหาการใช้ภาษาในการสื่อสาร โดยมักเกิดจากคำที่มีเสียงเหมือนกันในภาษาถิ่นนั้น และภาษาอื่น แต่มีความหมายต่างกัน ทำให้เข้าใจไขว้เขว เช่น มุขตลกภาคเหนือเรื่องหนึ่งเล่าถึงแม่ยาย ซึ่งเป็นคนภาคเหนือ ถามลูกเขย ซึ่งเป็นคนภาคกลาง ขณะรับประทานอาหารว่า "ลำก่อ" ซึ่งเป็นภาษาถิ่นทางภาคเหนือแปลว่า อร่อยไหม ลูกเขยเข้าใจว่า แม่ยายถามว่า อยากจะรำไหม ก็ตอบว่า "ไม่รำ" แม่ยายได้ฟังก็เป็นห่วง อยากให้ลูกเขยรับประทานของอร่อยๆ จึงบอกลูกสาวว่า "อี่หนอย ไปเอากระบองมา" ลูกเขยได้ยินก็รีบลุกขึ้นรำป้อ พลางละล่ำละลักว่า "รำแล้ว รำแล้ว" ซึ่งความจริงคำว่า กระบอง ในภาษาเหนือหมายถึง อาหารประเภททอดมัน ที่ใช้ฟักทอง หรือหัวปลี หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วชุบแป้งทอด แต่ลูกเขยเข้าใจว่า หมายถึง ไม้ที่เป็นอาวุธ เหมือนในภาคกลาง

คนที่มีฐานะสูงในสังคม

            คนที่มีฐานะสูงในสังคม มักตกเป็นเป้าให้ล้อเลียนในมุขตลกเสมอ สำหรับมุขตลกของไทย นอกจากพระภิกษุแล้ว ผู้ที่มักถูกล้อเลียนจะเป็นผู้มีอำนาจในการปกครอง ในสมัยโบราณ ผู้ที่มีอำนาจสูงสุดคือ พระเจ้าแผ่นดิน เราจะพบว่า พระเจ้าแผ่นดินเป็นตัวตลกสำคัญในเรื่องศรีธนญชัย ถูกศรีธนญชัยหลอกหลายครั้งหลายหน เช่น หลอกให้เอาดินสอ ซึ่งทำจากอุจจาระอีแร้งจุ่มน้ำลาย หลอกให้เดินบนสะพานไม้ที่ต้องพยายามประคองตัวไม่ให้ตกน้ำ จนท่าเดินเหมือนท่าฟ้อนรำ หรือหลอกให้ยกที่ดินขนาดเท่าแมวดิ้นตายให้ นอกจากนี้ ศรีธนญชัยยังหลอกให้พระเจ้าแผ่นดินหมอบคลานเวลาเข้าไปหาตนด้วย

            ในยุคสมัยหลัง เมื่อการปกครองแบ่งย่อยเป็นจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน ผู้ปกครองที่ใกล้ชิดกับประชาชนในท้องถิ่น และประชาชนในท้องถิ่นจะต้องเคารพยำเกรง คือ นายอำเภอ กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน ในมุขตลกของไทยในภาคต่างๆ เราพบว่า บุคคลเหล่านี้กลายเป็นตัวตลกต่างๆ นานา ลักษณะของบุคคลดังกล่าวที่ปรากฏในมุขตลก มักเป็นคนที่ไม่ค่อยฉลาดเฉียบแหลมนัก มุขตลกบางเรื่อง ก็เป็นคนเห่อยศเห่อตำแหน่งอย่างน่าขัน หรือมักเป็นเรื่องล้อเลียนความเปิ่นของกำนันผู้ใหญ่บ้าน เมื่อไปอำเภอ หรือเข้าไปในเมือง มุขตลกเรื่องหนึ่งเล่าว่า ผู้ใหญ่บ้านเข้าไปในเมือง และได้ไปสั่งก๋วยเตี๋ยว เมื่อเด็กยกก๋วยเตี๋ยวมาให้แล้ว ถามว่า เอาตะเกียบไหม ผู้ใหญ่บ้านตอบว่า ถ้าอร่อยก็เอามา หรืออีกเรื่องหนึ่งเล่าว่า ผู้ใหญ่บ้านขี่จักรยานยังไม่ค่อยคล่องนัก ขณะกำลังขี่จักรยานขึ้นสะพาน ชาวบ้านตะโกนถามว่า ผู้ใหญ่ไปไหน ผู้ใหญ่บ้านหันมาตอบว่า ไปอำเภอ พอตอบเสร็จก็ตกลงไปในคู เป็นต้น