เล่มที่ 26
นิทานพื้นบ้านไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :



นิทานมหัศจรรย์

            นิทานมหัศจรรย์ตรงกับภาษาอังกฤษว่า fairytale ซึ่งมีผู้แปลตรงตามศัพท์ว่า เทพนิยาย แต่โดยเหตุที่เนื้อเรื่องของนิทานประเภทนี้ ไม่จำเป็นต้องมี "เทพ" หรือเทวดาก็ได้ หากแต่ลักษณะสำคัญของ fairytale คือ นิทานที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับของวิเศษ สิ่งมหัศจรรย์ พฤติกรรมที่เป็นจินตนาการความใฝ่ฝันของมนุษย์ เช่น การแปลงตัว การเหาะเหินเดินอากาศ การเนรมิตของวิเศษ นักคติชนวิทยา จึงมักเรียกนิทานประเภทนี้ว่า นิทานมหัศจรรย์

            นิทานไทยที่เข้าข่ายนิทานมหัศจรรย์ คือ นิทานที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า นิทานจักรๆ วงศ์ๆ



นิทานจักรๆ วงศ์ๆ

            เป็นนิทานประเภทที่คนไทยชื่นชอบมาก เป็นเรื่องเกี่ยวกับการผจญภัยของตัวเอก ที่มักมีของวิเศษ และผู้ช่วยเหลือ โครงเรื่องของนิทานจักรๆ วงศ์ๆ มักเข้าตำรา "รักลูกสาวยักษาพากันจร แล้วย้อนกลับมาฆ่าพ่อตาตาย" หรือ "เรียนวิชา ฆ่ายักษ์ ลักนาง" นิทานประเภทนี้ นอกจากผู้เฒ่าผู้แก่จะนิยมเล่าให้ลูกหลานฟังแล้ว ยังมักจะนำไปเล่นเป็นละคร เช่น ละครนอก ละครชาตรี อีกด้วย ไม่ว่าพระเอกในนิทานจักรๆ วงศ์ๆ จะมีชื่อว่า ลักษณวงศ์ ทินวงศ์ วงศ์สวรรค์ สุริวงศ์ จักรษิณ พรหมรินทร์ เป็นต้น โครงเรื่องก็มักเป็นเช่นเดียวกัน อันเป็นเหตุให้คนไทยเรียกนิทาน ที่ดำเนินเรื่องตามที่กล่าวมาข้างต้นนี้ว่า นิทานจักรๆ วงศ์ๆ

            นิทานจักรๆ วงศ์ๆ มักมีตัวละครเป็นเจ้าหญิงเจ้าชาย พระเอกมักเป็นลูกกษัตริย์ ที่เกิดมาพร้อมกับของวิเศษ หรือสัตว์ซึ่งเป็นผู้ช่วยพระเอกในเวลาต่อมา พระเอกในบางเรื่องสามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ ถ้าเป็นลูกกษัตริย์มักจะเป็นลูกมเหสีเอก เช่น เรื่องสังข์ทอง พระเอกในนิทานจักรๆ วงศ์ๆ มักมีชายาหลายคน ส่วนนางเอกอาจเป็นลูกกษัตริย์ หรือลูกคนสามัญ หรือไม่มีกำเนิดแน่นอน เช่น อยู่ในดอกบัว แล้วฤๅษีนำไปเลี้ยง ในบางเรื่องนางเอกมีกำเนิดจากสัตว์ เช่น เรื่องนางผมหอมของภาคเหนือ นางเอกมีพ่อเป็นช้าง เพราะแม่ดื่มน้ำในรอยเท้าช้าง เรื่องกำพร้าบัวตองของภาคเหนือ นางเอกมีแม่เป็นสุนัข นางเอกอาจเป็นลูกคนเดียว แต่ในเรื่องที่พ่อแม่มีลูกหลายคน นางเอกมักเป็นลูกคนสุดท้อง เช่น นางรจนา ในเรื่องสังข์ทอง

            ตัวละครที่สำคัญอีกตัวหนึ่ง คือ ตัวละครที่เป็นผู้ช่วยพระเอกนางเอก เช่น พระอินทร์ ฤๅษี พระอินทร์และฤๅษี ซึ่งมักเป็นผู้อุปถัมภ์ให้ความช่วยเหลือ เช่น พระอินทร์ อาจเป็นผู้นำพระเอกไปเลี้ยงดู เมื่อถูกทอดทิ้ง อาจเป็นผู้สร้างปราสาทให้นางเอกอยู่ ให้อาวุธ หรือของวิเศษแก่พระเอก คอยช่วยเหลือ เมื่อพระเอกนางเอกตกระกำลำบาก ถ้าพระเอกนางเอกตาย ก็จะช่วยชุบชีวิตให้ โดยเฉพาะฤๅษี มักมีบทบาทนำนางเอกที่พบในดอกบัวไปเลี้ยง

            นิทานจักรๆ วงศ์ๆ อาจเริ่มต้นเรื่องที่กษัตริย์มีมเหสีหลายองค์ และมีการอิจฉาริษยากันระหว่างมเหสีเอก และมเหสีรอง อันเป็นเหตุให้มเหสีเอกและลูก ต้องถูกเนรเทศ ออกไปจากบ้านเมือง เช่นที่พระสังข์ และนางจันท์เทวี ถูกขับไล่ออกจากเมือง พระเอกมักได้รับการอุปถัมภ์จากฤๅษี พระอินทร์ พระยานาค เป็นต้น เมื่อโตขึ้นก็ออกผจญภัย และได้นางเอก โดยอาจต้องทดสอบความสามารถให้พ่อตายอมรับ

            นิทานจักรๆ วงศ์ๆ บางเรื่อง ก็เริ่มต้นที่พระเอกอายุ ๑๖ ปี จะออกเดินทางไปหาคู่ มักลักลอบเข้ามาธิดากษัตริย์ จนเกิดเรื่อง ทะเลาะกันกับกษัตริย์ ซึ่งมักเป็นยักษ์ บางเรื่องพระเอกก็ฆ่ายักษ์ตาย เช่น เรื่องสังข์ศิลป์ชัย บางเรื่องพระเอกก็ถูกฆ่าตาย เช่น
เรื่องสุวรรณหงส์ ถ้าพระเอกถูกฆ่า พระอินทร์ก็มักมาช่วยชุบชีวิตให้ฟื้น แล้วย้อนกลับไปฆ่ายักษ์ในภายหลัง

            นิทานจักรๆ วงศ์ๆ มีอยู่ในทุกภาคของประเทศไทย ตัวอย่างเช่น

                        ภาคกลางมีเรื่อง ปลาบู่ทอง สังข์ทอง พระสุธน ลักษณวงศ์ จันทโครพ นางสิบสอง โสนน้อยเรือนงาม นางผมหอม การะเกด

                        ภาคเหนือมีเรื่อง หงส์หินหรือหงส์ผาคำ ช้างโพงนางผมหอม เต่าน้อยอองคำ

                        ภาคอีสานมีเรื่อง จำปาสี่ต้น โสวัตร สินไซ นางผมหอม

                        ภาคใต้มีเรื่อง สุวรรณศิลป์ วันคาร พระรถเมรี พระสุธน-มโนห์รา