บทสรุป
นิทานพื้นบ้านที่เล่ากันอยู่ในท้องถิ่น และในภาคต่างๆ ของประเทศไทยนั้น มีหลายร้อยหลายพันเรื่อง และในแต่ละท้องถิ่น ก็จะมีนิทานพื้นบ้านประเภทต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ นิทานเหล่านี้เป็นเรื่องที่ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าให้ลูกหลานฟังมาหลายชั่วอายุคน
นับเป็น "มรดก" ทางวัฒนธรรมของชาวบ้าน ที่ถ่ายทอดมายังรุ่นลูกรุ่นหลาน โดยผ่านประเพณีบอกเล่า แต่ในปัจจุบันนี้ นับวันมีแต่จะหมดไป เพราะผู้เฒ่าผู้แก่ซึ่งเป็นนักเล่านิทานของหมู่บ้าน ก็มีแต่จะตายจากไป ส่วนลูกหลานก็ไม่ค่อยจะได้อยู่ในครอบครัว หรือในหมู่บ้าน เพื่อฟังนิทานที่ผู้เฒ่าผู้แก่จะเล่าให้ฟังในยามว่าง หรือในยามค่ำคืน ลูกหลานอาจจะอยากฟังนิทานสมัยใหม่ นิทานฝรั่ง นิทานญี่ปุ่น ในแง่ของการรับรู้นิทาน ลูกหลานก็อาจจะมิได้รับรู้นิทานจากการที่ "ฟัง" ตายายเล่าอีกต่อไป หากแต่อาจจะ "อ่าน" เองจากหนังสือ หรืออาจรับรู้นิทานด้วยการ "ดู" จากโทรทัศน์ การ์ตูน ภาพยนตร์ หรือจากการเล่นเกมคอมพิวเตอร์
นิทานพื้นบ้านไทยสมัยเก่าหลายเรื่อง อาจสูญหายไปตามกาลเวลา และเหตุปัจจัยทางสังคมวัฒนธรรม แต่นิทานพื้นบ้านไทยหลายเรื่อง ก็อาจได้รับการสืบทอดต่อไปด้วยสื่อหลายรูปแบบในปัจจุบัน เด็กๆ ในสังคมไทยปัจจุบัน อาจจะรู้จักนิทานพื้นบ้านไทยแต่เดิม เช่น นางสิบสอง พระสุธน-มโนห์รา สังข์ทอง แก้วหน้าม้า นางนาคพระโขนง ในขณะเดียวกัน ก็รู้จักนิทานกริมม์ นิทานอีสป นิทานแอนเดอร์สัน นิทานญี่ปุ่นด้วย ในอนาคต สิ่งที่จะนับว่าเป็น "นิทานพื้นบ้านไทย" จะเป็นอย่างไร ก็คงขึ้นอยู่กับเรื่องเล่า ลักษณะของเรื่องเล่า ประเภทของเรื่องเล่า ที่คนไทยในปัจจุบันชอบ ซึ่งก็คงมีทั้งนิทานเก่า นิทานใหม่ นิทาน "ไทย" และนิทาน "เทศ" รวมกัน