เล่มที่ 1
ปลา
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
รูปร่างและลักษณะทั่วๆ ไปของปลา

๑. ขนาดและรูปร่าง

ปลาทั่วๆ ไปก็เหมือนกับสัตว์บกที่เราเห็นทั้งหลาย คือ เป็นสัตว์ที่มีลักษณะด้านซีกซ้ายของลำเหมือนกับทางซีกขวา ซึ่งทางวิทยาศาสตร์ เรียกว่า bilaterally symmetrical shape ปลาจำพวกต่างๆ มีขนาดและรูปร่างไม่เหมือนกัน ปลาที่มีขนาดเล็กที่สุดเห็นจะได้แก่ ปลาจำพวกปลาบู่ ในประเทศฟิลิปปินส์ มีชื่อว่า "มิสติคธีสลูซอเนนซิส" (Mistichthys luzonensis) ปลาชนิดนี้ เมื่อโตเต็มวัยและสามารถสืบพันธุ์ได้ จะมีขนาดความยาวเพียง ๑.๒ เซนติเมตร ปลาทู (Rastrelliger spp.) ที่พบในตลาดบ้านเรามีขนาดเฉลี่ยตั้งแต่ ๑๐.๕ เซนติเมตร ถึงประมาณ ๒๓ เซนติเมตร ปลาอินทรี (Scomberomorus spp.) ที่จับได้ในอ่าวไทยมีขนาดความยาวประมาณ ๒๐ ถึง ๙๐ เซนติเมตร ปลาที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่พบเห็นกัน ได้แก่ ปลาฉลามวาฬ (Rhincodon typus) ซึ่งอาจมีความยาวถึง ๒๐-๒๒ เมตร และหนักประมาณ ๒๕ ตัน

รูปร่างของปลาโดยทั่วไปแตกต่างกันไปตามชนิดของปลา ปลาส่วนใหญ่มีรูปร่างเป็นแบบกระสวย (fusiform) ซึ่งเป็นลักษณะของปลาที่ว่ายน้ำเร็วและปลาพวกนี้มักอยู่รวมกันเป็นฝูง เช่น ปลาทู ปลาโอ หรือปลาทูนาในมหาสมุทร เมื่อตัดปลาในแนวตั้งฉากกับแกนยาวของลำตัวจะเห็นหน้าตัดเป็นรูปกลมหรือรูปไข่ รูปแบบนี้เป็นรูปลักษณะของปลาส่วนใหญ่ ปลาจำพวกอื่นๆ รูปร่างอาจจะผิดแผกไปจากแบบที่ได้กล่าวไว้ เช่น มีรูปกลมเหมือนลูกโลก (globiform) ได้แก่ ปลาปักเป้าบางชนิดมีรูปยาวคล้ายงู (anguilliform) เช่น ปลาไหลทะเล (Muraensox spp.) หรือปลาไหลน้ำจืด (Fluta alba) ที่มีในบ้านเราปลาบางจำพวกอาจมีรูปแบนข้าง (compressed form) เช่น ปลาผีเสื้อ หรือปลาจะละเม็ด (Pampus spp.) บางชนิดอาจจะแบนมากและลำตัวยาวคล้ายแถบผ้า เช่น ปลาดาบเงิน (Trichiurus lepturus) บางพวกอาจมีรูปร่างแบบแบนลง (depressed form) เช่น ปลากระเบน ปลาคางคก เป็นต้น

๒. ผิวหนังและเกล็ดปกคลุมร่างกาย
 
ปลามีผิวหนังเรียบอ่อนนุ่มคลุมตลอดลำตัว และมีต่อมขับเมือก โดยทั่วไป เมือกที่ขับออกมามีประโยชน์ช่วยทำให้การเสียดสีและความฝืดลดลงในขณะที่ปลาว่ายน้ำ ปลาบางจำพวก เช่น ปลาไหลนา ปลากด ปลาแขยง และปลาดุก เป็นปลาที่ไม่มีเกล็ดปกคลุม จึงมีเมือกมาก แต่ปลาส่วนใหญ ่มีเกล็ดปกคลุมทั่วตัว

เกล็ดของปลามีหลายแบบด้วยกัน ในปลาจำพวกปลากระดูกอ่อน เช่น ฉลามและกระเบน ถ้าเราเอามือลูบจากทางหางไปส่วนหัวจะรู้สึกสากๆ ที่ทำให้รู้สึกสาก เพราะมือเราสัมผัสกับเกล็ดเล็กๆ ที่ปกคลุมรอบตัว เกล็ดของปลาดังกล่าวเป็นเกล็ดแบบแพลคอยด์ (placoid scales) ซึ่งมีลักษณะคล้ายฟัน (ฟันของปลาฉลามก็คือส่วนที่เปลี่ยนแปลงมาจากเกล็ดนั่นเอง) เกล็ดแบบนี้มีปลายเป็นหนามยื่นไปทางท้าย

ปลาน้ำจืดจำพวกการ์ (gars) ในทวีปอเมริกาเหนือ มีเกล็ดหนาๆ เรียงติดกันแต่ไม่ซ้อนกัน เกล็ดเหล่านี้มีสารเคมีจำพวกแกโนอีน (ganoine) อยู่ด้วย เราจึงเรียกเกล็ดชนิดนี้ว่าแกนอยด์ (ganoid scales) ในปลาโบราณบางชนิดซึ่งพบกลายเป็นซากติดอยู่ในหิน หรือเรียกว่า ซากดึกดำบรรพ์ (fossil) เป็นปลาจำพวกที่มีอวัยวะคล้ายปอดสำหรับหายใจ มีเกล็ดพิเศษปกคลุมร่างกายเรียกว่า คอสมอยด์ (cosmoid scales) มีลักษณะคล้ายเกล็ดแกนอยด์ แต่สารเคมีที่อยู่ในเกล็ดเป็นจำพวกคอสมีน (cosmine)

๓. สีบนตัวปลา

ปลามีสีสวยงามไม่แพ้สัตว์บกพวกนกหรือผีเสื้อ เราจึงนิยมเลี้ยงปลาไว้ดูเล่นในตู้กระจก หรืออ่างน้ำ ในประเทศเยอรมนี ซึ่งแม้จะอยู่ในเขตอบอุ่น ก็มีอุตสาหกรรมการเลี้ยงปลาสวยงามเป็นล่ำเป็นสันมาก สามารถเพาะปลาสวยงามชนิดต่างๆ ที่เป็นปลาจากเขตร้อน ส่งไปขายให้สหรัฐอเมริกามีมูลค่าเท่ากับฝ้ายที่ประเทศต้องสั่งซื้อมาจากสหรัฐฯ เพื่อนำมาทอใช้ในประเทศของตน

ธรรมชาติไม่ได้สร้างสีสันของปลาเพียงเพื่อให้มีความสวยงามเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ปลาสามารถหลบซ่อนเหยื่อหรือปรับตัวให้กลมกลืนเข้ากับสภาพแวดล้อม เพื่อหลีกเลี่ยงภยันตรายจากศัตรู หรือเป็นสื่อช่วยกระตุ้นในฤดูที่มีการสืบพันธุ์ (nuptial dress) อีกด้วย

โดยทั่วไปปลามักมีสีเงินและสีฟ้าหรือน้ำเงิน บ้างก็มีสีเขียว สีเทาหรือสีน้ำตาล ปลาทะเลบางจำพวก เช่น ปลาตามโขดหินกองหรือปะการังมีสีสันสลับสดใสน่าดูมาก เช่น สีเหลือง สีแดง สีม่วง หรือสีน้ำเงินแก่ เป็นต้น นอกจากมีสีต่างๆ เป็นสีพื้น ปลาหลายชนิดยังมีจุดหรือแถบสีอยู่ประปรายโดยทั่วไป ในปลาหลายชนิด ปลาเพศผู้และเพศเมียมีสีไม่เหมือนกัน เช่น ปลากินยุง (Poecilia) หรือปลากัด (Betta spp.) ปลาเพศผู้มีสีสวยงามมากกว่าเพศเมีย นอกจากนี้ปลาบางชนิด เช่น ปลาจำพวกกะพงทะเล เมื่อยังมีขนาดเล็กจะมีจุดหรือแถบสีชัดเจน แต่เมื่อปลาโตมากขึ้น จุดหรือแถบสีนั้นก็จะเลือนราง หรือหายไป กลายเป็นสีอื่น

สีต่างๆ ทั้งหมดที่เราเห็นอยู่บนตัวปลา เกิดจากการปะปนของเซลล์สร้างสีสองสามชนิดเท่านั้น สีนอกจากนั้น อาจเกิดจากการสะท้อนของแสงในน้ำ (apparent color) ตามปกติปลามีเซลล์สร้างสีดำ (melanophores) ซึ่งมีอนุภาคของสารเมลานิน (melanin) อยู่เป็นจำนวนมาก